มีภูมิจริงหรือไม่? “อังกฤษ” เริ่มทดลองการ “ติดเชื้อซ้ำ” ของอดีตผู้ป่วย COVID-19

(Photo : Shutterstock)
อีกหนึ่งคำถามสำคัญของโรค COVID-19 คือ คนที่เคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกจริงหรือไม่ ทำให้นักวิจัยอังกฤษทำการทดลองนำเชื้อเข้าสู่มนุษย์ (Human Challenge Study) นำคนที่หายป่วยแต่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาลองรับเชื้อไวรัสโคโรนาอีกครั้ง

โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2021 เพื่อหาคำตอบว่า “คนเราสามารถติดเชื้อโรค COVID-19 ซ้ำอีกได้หรือไม่”

โดยงานวิจัยครั้งนี้เป็นการทดลองแบบนำเชื้อเข้าสู่มนุษย์ (Human Challenge Study) มีอาสาสมัครวัยหนุ่มสาวอายุ 18-30 ปี จำนวน 64 คน ซึ่งเคยติดเชื้อโรค COVID-19 มาก่อน แต่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน

คนกลุ่มนี้จะถูกนำมารับเชื้อไวรัสโคโรนาอีกครั้งหนึ่ง และกักตัวไว้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Oxford อย่างน้อย 17 วัน เพื่อให้นักวิจัยศึกษาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

 

มีภูมิคุ้มกันแต่อาจจะไม่ 100%

ก่อนหน้านี้ วงการแพทย์มองว่าผู้ที่เคยผ่านการติดเชื้อมาแล้วจะไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำอีก เพราะร่างกายจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่ระยะหลังเริ่มมีตัวอย่างของคนที่เคยเป็นโรค COVID-19 แล้วกลับมาเป็นอีกได้

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาแบบเฝ้าสังเกตการณ์ ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้วิจัยเฝ้าสังเกตค่ายทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งมีคนหนุ่มสาวฝึกทหารอยู่ 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชายวัย 18-20 ปี

Photo : Shutterstock

จากการเฝ้าสังเกต 6 สัปดาห์ พบว่า พลทหารที่เคยเป็นโรค COVID-19 มีการกลับมาเป็นซ้ำในอัตรา 10% แต่เทียบกับพลทหารที่ไม่เคยเป็นโรค COVID-19 มีอัตราการติดเชื้อ 50% เท่ากับว่า ผู้ที่เคยเป็นโรค COVID-19 แล้วยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำ แต่จะน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อเลย

อีกหนึ่งงานวิจัยจากเดนมาร์ก เฝ้าสังเกตสถิติกลุ่มคน 4 ล้านคนในประเทศ พบว่า การผ่านการติดเชื้อจะทำให้ร่างกายคนวัยไม่เกิน 65 ปีมีภูมิคุ้มกันได้ราว 80% ในระยะเวลา 6 เดือนหลังการติดเชื้อ แต่สำหรับคนวัยมากกว่า 65 ปี อัตราการคุ้มกันจะลดลงเหลือ 47%

สำหรับการวิจัยแบบอังกฤษจะเป็นการวิจัยระบบปิดที่ควบคุมตัวแปรได้ วิธีการนำเชื้อเข้าสู่มนุษย์เพื่อทดสอบแบบนี้เป็นวิธีที่ทำกันมานาน เคยใช้เพื่อผลิตวัคซีนที่มีมานาน เช่น วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ และใช้เพื่อศึกษาโรคหลายชนิด เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้หวัด ไทฟอยด์ อหิวาต์ เป็นต้น

Source: Forbes, Business Insider