แพทย์ชาวญี่ปุ่นพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อ COVID-19 มีอาการทางสุขภาพตกค้างหลายอย่าง เช่น อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ผมร่วง ไม่ค่อยรับรู้กลิ่นและรสชาติ
คณะแพทย์ในญี่ปุ่นเตือนว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เมื่อติดเชื้อ COVID-19 จะไม่มีอาการหรืออาการเบา แต่เมื่อหายจากโรคแล้วกลับมีปัญหาสุขภาพตามมาในระยะยาว
หญิงวัย 30 ปี คนหนึ่งที่ทำงานในศูนย์พยาบาลดูแล และติดเชื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วบอกว่า การรับรูกลิ่นและรสชาติของเธอไม่กลับคืนมาแม้จะหายป่วยนานกว่า 2 เดือนแล้ว เธอได้ไปพบแพทย์รวมทั้งใช้ยาสมุนไพร แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ทุกวันนี้เธอมีปัญหาในการกินอาหาร เพราะไม่สามารถรับรู้รสชาติได้เหมือนเดิม
ศูนย์สุขภาพและการแพทย์สากลแห่งญี่ปุ่น ได้สำรวจผู้ป่วยที่ติดเชื้อเมื่อปีที่แล้ว และหายดีแล้ว 63 คน พบว่าหลายรายมีอาการอ่อนเพลีย หายใจติดขัด รับรู้กลิ่นและรสชาติด้อยลง บางรายมีอาการผมร่วงอย่างมาก อาการเหล่านี้คงอยู่นานถึง 4 เดือนหลังจากป่วย แต่บางรายก็ยังมีอาการอยู่ แม้ว่าจะหายป่วยนานแล้วก็ตาม และขณะนี้ยังบรรดาแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษาอาการดังกล่าว
สถานพยาบาลฮิราฮาตะในญี่ปุ่นได้สำรวจอดีตผู้ติดเชื้อราว 700 คน พบว่า 95% บอกว่ามีอาการอ่อนเพลีย 80% มีอาการซึมเศร้า และความสามารถในการครุ่นคิดด้อยลง การสำรวจยังพบว่า 30% ของผู้ที่มีอาการตกค้างหลังจากติดเชื้อโควิดมีอายุราว 40 ปี และเกือบ 50% เป็นวัยรุ่นที่อายุไม่เกิน 30 ปี โดยผู้หญิงมีอาการตกค้างเช่นนี้มากกว่าผู้ชายถึง 1.4 เท่าตัว
แพทย์คาดว่า อาการ “มรสุมภูมิวิปริต” หรือ Cytokine Storm ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองอย่างรุนแรง จนไปทำลายอวัยวะที่ดี อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการมีอาการตกค้างหลังติดเชื้อ
มีตัวอย่างของผู้ป่วยรายหนึ่งที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หลังจากโหมออกกำลังกายเพื่อหวังฟื้นฟูร่างกายหลังพ้นการติดเชื้อโควิด อดีตผู้ติดเชื้อรายนี้ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่เพิ่งผ่านพ้นการติดเชื้องดออกกำลังกายชั่วระยะเวลาหนึ่ง
คณะแพทย์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเตือนให้สาธาณชนรับรู้ว่า ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 แม้หายดีแล้วก็ยังอาจเผชิญปัญหาสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะวัยรุ่น ยังคงไม่แยแสกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพราะคิดว่า “ติดได้ก็หายได้”