ความหวังการรักษา! Pfizer วิจัย “ยาต้าน COVID-19” แบบทาน เริ่มทดลองในมนุษย์แล้ว

(Photo : Shutterstock)
บริษัทยา Pfizer ในสหรัฐฯ และเบลเยียมกำลังทดลองยาต้านไวรัส SARS-CoV-2 “แบบรับประทาน” หากทำสำเร็จจะทำให้การรักษาทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน แพทย์จ่ายยาให้ได้ทันทีเมื่อแสดงอาการติดเชื้อ

ขณะนี้การวิจัยยาดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนทดลองกับมนุษย์แล้ว โดยรับอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง 60 คน อายุระหว่าง 18-60 ปี เพื่อทดลองยารักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 หากการทดลองสำเร็จ เป็นไปได้ว่ายารักษาโรค COVID-19 จะออกจำหน่ายได้ภายในปีนี้

ยาที่กำลังทดลองอยู่ใช้รหัสว่า PF 07321332 หลักการทำงานของยาตัวนี้คือ เป็นยากลุ่มที่ยับยั้งการสร้างโปรตีนของไวรัส (Protease Inhibitor) ตัวยาจะเข้าโจมตี “หนาม” ของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และหยุดไม่ให้มันเติบโตกระจายตัวในจมูก คอ และปอดของเรา โดยยากลุ่มนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วกับการเป็นยาต้านเชื้อ HIV นั่นเอง ทำให้นักวิจัยหวังว่าจะเป็นทางออกของโรคระบาด

Pfizer ซุ่มพัฒนายาชนิดนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยตัวยาชุดแรกขนาดเพียง 7 มิลลิกรัม ผลิตขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน จากนั้นเพิ่มเป็น 100 กรัมช่วงเดือนตุลาคม หลังจากนั้นเพียง 2 สัปดาห์ พวกเขาก็ผลิตขึ้นถึง 1 กิโลกรัม โดยมีนักวิจัยร่วมงานถึง 210 คน

“เราออกแบบให้ยา PF 07321332 มีศักยภาพในการรักษาด้วยวิธีรับประทาน เพื่อให้แพทย์สามารถจ่ายยาได้ตั้งแต่เมื่อคนไข้เริ่มแสดงอาการติดเชื้อ โดยไม่ต้องให้คนไข้มารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือจ่ายยาเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะวิกฤตแล้ว” มิคาเอล ดอลสเตน ประธานเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และประธานฝ่ายวิจัยสากล การพัฒนา และการแพทย์
Pfizer กล่าวในคำแถลงการณ์เกี่ยวกับยาตัวนี้เมื่อเดือนก่อน

ไฟเซอร์
(Photo by Noam Galai/Getty Images)

สำนักข่าว The Telegraph อ้างอิงถึงเอกสารเกี่ยวกับยาดังกล่าว ในระยะวิจัยทดลองในสัตว์ พบว่าไม่เกิดความเสี่ยงที่ต้องกังวลหรือสำคัญขึ้นระหว่างวิจัย และยานี้ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นในปริมาณยาใดๆ ที่ได้กำหนดในงานวิจัย

สำหรับเฟสทดลองกับมนุษย์จะใช้เวลาอีกหลายเดือน โดยแบ่งเป็น 3 เฟสย่อย รวมใช้เวลานานถึง 145 วัน และเพิ่มอีก 28 วันเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปริมาณยาที่จะให้

เฟส 1 จะเป็นการตรวจสอบปริมาณยาที่มนุษย์รับได้ และทดสอบทั้งการทานยาเดี่ยวๆ กับทานคู่กับยา Ritonavir (ยาต้าน HIV) รวมถึงตรวจสอบความรู้สึกของมนุษย์หลังทานยา เฟส 2 จะทำเช่นเดิมแต่มีจำนวนโดสมากขึ้น ส่วนเฟส 3 จะเริ่มให้ทานยาแบบอัดเม็ดและแบบน้ำ เพื่อดูว่ารูปแบบการทานจะมีผลหรือไม่

ปัญหาที่น่ากังวลหากยาตัวนี้วิจัยสำเร็จคือเรื่อง “ราคา” ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้เคยมีการวิจัยและจำหน่ายยา Tamiflu สำหรับต้านโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 แต่ผลิตออกมาด้วยราคาสูงถึง 25 ปอนด์ (ประมาณ 1,094 บาท) ต่อชุด ทำให้ไม่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

Source