กล่องโดนัท ถือเป็นอีก Touch Point หนึ่งที่จะติดตัวผู้บริโภคตั้งแต่การซื้อจนกระทั่งหอบหิ้วกลับไปถึงบ้าน ที่สำคัญยังทำหน้าที่เป็นโฆษณาเคลื่อนที่ เนื่องจากผู้บริโภคนอกจากจะซื้อกินกันเองแล้วยังนิยมซื้อเป็นของฝากในช่วงเทศกาลและโอกาสสำคัญต่างๆ ด้วย ทุกแบรนด์ระดมไอเดียสร้างสรรค์กล่องโดนัทให้สวยงาม โดนใจผู้บริโภค และยังต้องสะท้อนบุคลิกแบรนด์
Krispy Kremeใช้กล่องลวดลายแบบเดียวกันทั่วโลก พื้นสีขาวลาย Polka Dot สีเขียวและโลโก้ขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกลาง สำหรับผู้ที่เคยมีประสบการณ์กับแบรนด์นี้มาก่อน เพียงแค่เห็นส่วนใดส่วนหนึ่งของกล่องก็เกิด Awareness ได้ทันที และยังมีข้อมูลเล็กน้อยเกี่ยวกับแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้ทำความรู้จักกับแบรนด์ในระยะเวลาสั้นๆ
อนาคตหากกระแสต่อคิวซา เราคงเห็นกล่องโดนัทของ Krispy Kreme ในขนาดอื่นๆ บ้าง ไม่ใช่แค่ขนาดใหญ่สำหรับ 12 ชิ้นที่ถือกันเกลื่อนกรุงเท่านั้น รวมถึงกล่องในรูปแบบ Special Edition อื่นๆ เหมือนในต่างประเทศ เช่น กล่องดีไซน์ Happy Birth Day หรือสำหรับโปรโมตผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กล่องสีชมพูลายสตรอเบอร์รี่ เป็นต้น
ดังกิ้น โดนัทดีไซน์ล่าสุดของกล่องดังกิ้น โดนัท เชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์ใหม่ ที่มีพระเอกหนุ่ม “ลี มินโฮ” พรีเซ็นเตอร์คนล่าสุด มาดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมเทรนด์เกาหลี และยังใช้ประโยชน์จากกล่องมาทำโปรโมชั่นด้วยการทำคูปองส่วนลดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อซํ้าด้วยการฉีกคูปองตามรอยปรุและนำกลับมาใช้ใหม่
Bapple ใช้กล่องในการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้บริโภค เนื่องจากเป็นแบรนด์ใหม่และไม่ได้ทำตลาดมากนักโดนัทจากมาเลเซียค่ายนี้จึงใช้กล่องเป็นสื่อให้ข้อมูลรางวัลต่างๆ ที่ได้รับจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นรวมถึงข้อมูลของสาขาต่างๆ และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อด้วย
ส่วน มิสเตอร์ โดนัท นิยมออกแบบกล่องตามเทศกาลต่างๆ เช่น วันแม่ รวมถึงมีกล่องเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์เด่นๆ เช่น ซูชิโด และฟรุตโตะ เบอร์รี่ เป็นต้น
ด้าน แด๊ดดี้ โด เป็นแบรนด์เดียวที่ใช้โลโก้เป็น Mascot และนำมาใช้บนกล่องด้วย และแตกต่างด้วยสีโทนนํ้าตาล-เหลืองและนิยมออกแบบกล่องตามเทศกาลดังๆ อย่างคริสต์มาส