CRG ดึง “อาริกาโตะ” เติมพอร์ตเบเกอรี่ ได้ฤกษ์บุกแฟรนไชส์ “มิสเตอร์ โดนัท-อานตี้ แอนส์”

กลุ่มธุรกิจเบเกอรี่ของ CRG เร่งปรับทัพรับ New Normal เน้นโมเดลใหม่ ลดการพึ่งพิงพื้นที่ศูนย์การค้า บุกแฟรนไชส์เต็มตัวใน 2 แบรนด์มิสเตอร์ โดนัท และอานตี้ แอนส์ พร้อมกับดึงแบรนด์ “อาริกาโตะ” เข้ามาในเครือ เพื่อเติมพอร์ตกลุ่มร้านกาแฟให้แน่นขึ้น ตั้งเป้าปีนี้โต 18-20%

หาน่านน้ำใหม่ เน้นขยายนอกศูนย์การค้า

จากวิกฤตของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สร้างผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วที่มีการแพร่ระบาดใหม่ๆ ประเทศไทยมีการล็อกดาวน์ ปิดศูนย์การค้า ทำให้ร้านอาหารต้องกุมขมับ เนื่องการไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ เป็นธุรกิจเบอร์แรกๆ ที่ได้รับผลกระทบหนัก จนถึงตอนนี้ได้มีล้มหายตายจากกันไปบ้าง

ทำให้ร้านอาหารต่างๆ ต้องพึ่งพาระบบเดลิเวอรี่มากขึ้น ทั้งร้านทั่วๆ ไปที่อยู่นอกศูนย์การค้า และร้านในศูนย์การค้า ต่างงัดโปรโมชันเพื่อดึงดูดการซื้อของผู้บริโภค

เชนร้านอาหารใหญ่ๆ ในไทย ล้วนมีสาขาอยู่ตามศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าทั้งสิ้น เนื่องจากพฤติกรรมคนไทยชอบเดินศูนย์การค้า การที่ประเทศต้องล็อกดาวน์ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่แบรนด์ร้านอาหารต่างต้องหาน่านน้ำใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงศูนย์การค้า ซึ่งเทรนด์ในช่วงหลายปีมานี้มีทั้งการเปิดโมเดลไดรฟ์ทรูตามปั๊มน้ำมัน หรือเป็นฟู้ดทรัก โมบายทรัก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย

กลุ่ม CRG ก็เช่นกัน โดยปกติแล้วจะมีสาขาตามศูนย์การค้าเป็นหลัก ก็จำเป็นที่ต้องกระจายความเสี่ยง มีการหาโมเดลใหม่ๆ เพื่ออกนอกห้างฯ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจึงได้เห็น CRG งัดโมเดลใหม่ๆ ออกมาเพียบ

  • Hybrid Cloud เป็นการรวมร้านในเครือหลายๆ ร้านไว้ด้วยกัน เช่น เปปเปอร์ ลันซ์, คัตซึยะ และโยชิโนยา
  • Kiosk นำแบรนด์จากโมเดลร้านใหญ่ย่อเหลือร้านเล็ก เข้าถึงหลายพื้นที่
  • Stand Alone นำร้านที่มีทราฟฟิกคนใช้บริการเยอะอย่างมิสเตอร์โดนัท และอานตี้ แอนส์ ออกมาอยู่นอกศูนย์การค้า
  • Delco เป็นครัวกลางขนาดเล็ก ที่ตอบโจทย์ช่องทางเดลิเวอรี่ มีแบรนด์ที่ตอบโจทย์ช่องทางนี้เยอะๆ ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท และอานตี้ แอนส์ และทำให้เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น

ในกลุ่ม CRG ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 แบรนด์ ได้แบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. อาหารตะวันตก ได้แก่ KFC
  2. อารหารญี่ปุ่น ได้แก่ เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง (Chabuton), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ (Katsuya)
  3. อาหารไทย ได้แก่ ไทยเทอเรส (Thai Terrace), อร่อยดี (Aroi Dee), เกาลูน (Kowlune), สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) และบราวน์ คาเฟ่ (BrownCafé)
  4. กลุ่มเบเกอรี่ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), และอาริกาโตะ (Arigato) รวมกับ 1 โรงงาน คือซีอาร์จีแมนูแฟคเจอริ่ง (CRGM)

โดยที่กลุ่มเบเกอรี่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าร้านอาหารทั่วไป ที่ต้องอาศัยการนั่งทานในร้าน เพราะส่วนใหญ่เป็นขนมปัง อาหารทานเล่น สามารถเดินทางได้ หรือเดลิเวอรี่ได้สะดวก

สุชีพ ธรรมาชีพเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เปิดเผยว่า

“ธุรกิจเบเกอรี่ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ QSR แต่ได้รับผลกระทบไม่เท่าร้านอาหาร ในปีที่ผ่านมาจึงมีการปรับแผน มีตัวมาต่อจิ๊กซอว์ใหม่คือ ช่องทางใหม่ๆ อาจจะไม่เจอความยากลำบากเท่าร้านอาหาร แต่ยังมีความยากลำบากอยู่ที่ว่า ลูกค้ายังกังวล เพราะโลเคชั่นอยู่ในห้างฯ จึงต้องขยายสาขาออกมานอกห้างมากขึ้นด้วยโมเดลใหม่ๆ”

ทำให้การขยายสาขาใหม่ๆ ต้องไปด้วยโจทย์หลักที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าให้ได้ทุกที่ และบริการให้ง่ายที่สุด ตอบเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินทาง หรือออกนอกบ้านน้อยลงจึงเพิ่มหลากหลายโมเดล เข้าถึงแหล่งชุมชนต่างๆ และเอื้ออำนวยต่อธุรกิจในรูปแบบใหม่ซึ่งก็คือ เดลิเวอรี่ และออมนิชาแนล

ในปีนี้ CRG มีแผนขยายโมเดล Delco อีก 50-70 สาขา เน้นตามปั๊มน้ำมัน และไทวัสดุ รวมถึง Mobile TukTuk เน้นขยายช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตลาดใหญ่ๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ในแต่ละพื้นที่ในระยะทาง 10-20 กิโลเมตร

สุชีพเสริมว่า “การที่เน้นขยายสาขานอกศูนย์การค้ามากขึ้น แต่ร้านต้องมองเห็นได้เด่นชัด เข้าถึงง่าย ไรเดอร์ของเดลิเวอรี่ต้องจอดได้ง่าย ที่สำคัญคือโมเดลแบบนี้ยืดหยุ่นกว่า เปิดปิดได้มากกว่าเวลาทำการของศูนย์การค้า เปิดได้เช้ากว่าตั้งแต่ 6-7 โมงเช้า ตอบรับคนต้องการอาหารเช้าได้ ในอนาคตอาจจะเปิดในจุดที่เปิดถึงดึกได้ด้วย”

เบเกอรี่ยังเติบโต

สุชีพประเมินว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาแต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากความคึกคักของตลาดเบเกอรี่จากการฮอตฮิต ของขนมครัวซองต์ทำให้อุตสาหกรรมเบเกอรี่มีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยยะสำคัญ โดยในปี 2563 มูลค่าตลาดเบเกอรี่รวมสูงเฉียด 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ขนมปัง  53% ขนมเค้ก 22% และ ขนมอบ (เช่น พาย ครัวซองต์ คุกกี้) 25% คาดว่าครัวซองต์ทำให้สัดส่วนขนมอบเพิ่มมูลค่ามากขึ้น

ส่วนตลาดกาแฟ แม้จะได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ตลาดรวมกาแฟในไทยคงที่ ไม่ได้เติบโต และไม่ได้ลดลงหากให้แยกประเภทตลาดกาแฟที่มีมูลค่ารวม 60,000 ล้านบาท นี้แบ่งเป็นตลาดกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท ที่ได้อานิสงส์จาก COVID-19 เติบโตราว 10% และตลาดกาแฟนอกบ้าน 27,000 ล้านบาท เติบโตลดลง 30-40%

ดึง “อาริกาโตะ” เสริมทัพร้านกาแฟ

หลายคนคงคุ้นชื่อแบรนด์ร้านกาแฟ “อาริกาโตะ (Arigato)” แจ้งเกิดจากการเป็นเคาท์เตอร์กาแฟสดในแฟมิลี่มาร์ท เป็นร้านสะดวกซื้อในเครือของกลุ่มเซ็นทรัล ในตอนแรกแบรนด์นี้ได้อยู่ในเครือของเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กรุ๊ป จะขยายสาขาล้อไปกับแฟมิลีมาร์ท และท็อปส์ รวมถึงพยายามที่จะขยายออกนอกแฟมิลี่มาร์ทด้วย

อาริกาโตะวางจุดยืนเป็นแบรนด์กาแฟนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ราคาไม่แพง เมนูร้อนราคาเริ่มต้นแก้วละ 25 บาท ถ้าเป็นเมนูกาแฟเย็นอยู่ที่แก้วละ 35 บาท นอกจากนี้ยังมีเมนูเครื่องดื่มตามเทศกาลต่างๆ ถือว่าเป็นแบรนด์กาแฟสดในร้านสะดวกซื้อที่ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี มีเมนู “มัทฉะลาเต้” เป็นตัวชูโรง

ล่าสุด CRG ได้ซื้ออาริกาโตะเข้ามาอยู่ในเครือเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจาก CRG ยังขาดแบรนด์ร้านกาแฟแบบเต็มตัว ถึงแม้จะมีร้าน Brown แต่ก็เป็นชานมไข่มุก อีกทั้งยังเป็นโมเดลร่วมทุน ยังไม่ถือเป็นเจ้าของแบรนด์เต็มตัว

“เรื่องแบรนด์อาริกาโตะ มีการพูดคุยกันตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เพิ่งสรุปไฟนอลเมื่อต้นปี เรามองว่าในพอร์ต CRG ยังไม่มีแบรนด์กาแฟเป็นเรื่องเป็นราว ตลาดกาแฟมีมูลค่าหลายหมื่นล้าน มีการเปิดสโตร์ดีพอสมควร ราคาจับต้องได้ แบรนด์นี้จะเป็นหัวหอกในพอร์ต ในการตอบโจทย์ลูกค้า กาแฟดีๆ ราคาเข้าถึงง่าย Positioning ใกล้เคียงกับมิสเตอร์ โดนัทด้วย”

แผนของ CRG ก็คือการขยายสาขาอาริกาโตะพ่วงไปกับแบรนด์ในเครือของ CRG เป็นกลุ่มเบเกอรี่ แต่ส่วนใหญ่จะไปพ่วงกับมิสเตอร์โดนัท เพราะมีโพซิชั่นใกล้เคียงกัน ตอนนี้ขยายไปเกือบ 60 สาขาแล้ว เป้าหมายในปีนี้คือขยายอีกมากกว่า 100 สาขา

ได้ฤกษ์บุกแฟรนไชส์

อีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของปีนี้ก็คือ การขยายโมเดล “แฟรนไชส์” เต็มตัว ประเดิมด้วย 2 แบรนด์มิสเตอร์ โดนัท และอานตี้ แอนส์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเพิ่มยอดขาย และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปลงทุนได้

ตั้งเป้าว่าแฟรนไชส์ของทั้ง 2 แบรนด์จะเริ่มได้ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ตอนนี้ยังไม่มีการเคาะราคาออกมาอย่างชัดเจน แต่สุชีพบอกว่าแบรนด์มิสเตอร์ โดนัทราคาแฟรนไชส์น่าจะไม่เกินล้านบาท ส่วนอานตี้ แอนส์อาจจะสูงกว่านิดหน่อย คาดว่าปีนี้จะมีแฟรนไชส์ของทั้งสองแบรนด์ไม่ต่ำกว่า 20 สาขา

ถ้าถามว่าทำไมปีนี้ถึงเหมากับการบุกโมเดลแฟรนไชส์ สุชีพบอกว่า “ในปีที่ผ่านมาเจอวิกฤต COVID-19 มาถึงปีนี้บางคนก็ยังอาชีพ มีเงินใช้ แต่บางคนไม่มีอาชีพ และมองหาอะไรที่เป็นเจ้าของเอง จึงได้คุยกับเจ้าของแบรนด์เมืองนอก มองโอกาสโมเดลใหม่ๆ จึงมองในการขายแฟรนไชส์ รวมถึงการขยายโลเคชั่นไปยังที่เจ้าของพื้นที่เข้าถึงได้ดีกว่า”

ในระยะสั้นนี้ CRG วางเป้าหมายว่าจะมีแฟรนไชส์ในสัดส่วน 20% แต่ระยะยาวมองไปถึงสัดส่วน 40% เลยทีเดียว

ต้องโตอีก 20%

ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้ยอดขายของกลุ่มในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่ประมาณการรายได้ไว้อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท มีการปรับแผนอย่างต่อเนื่อง มีการออกสินค้าที่ตอบรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่อยู่บ้านมากขึ้น ทำกินเองที่บ้าน สินค้าพร้อมทาน รวมถึงเทรนด์ของ Plant-based ด้วย

ในปีนี้ได้ตั้งเป้ารายได้รวมของกลุ่มเบเกอรี่ 2,900 ล้านบาท เติบโต 18-20% มีการขยายสาขารวม 720 สาขา ส่วน CRG ทั้งเครือตั้งเป้ารายได้ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโต 18-20% เช่นกัน

ส่วนบริการเดลิเวอรี่คาดว่าจะมีรายได้ 500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25%