CRG งัดสารพัดโมเดลใหม่ ลดการพึ่งพิงห้างฯ กระจายความเสี่ยงยุค COVID-19

CRG จัดทัพในการขยายโมเดลร้านค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในยุค COVID-19 ขยายช่องทางการขายอื่นๆ นอกเหนือหน้าร้าน โมเดลร้านที่อยู่นอกห้าง เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพิงศูนย์การค้ามากขึ้น
แตกโมเดลใหม่ ไม่ได้อยู่แต่ในห้างฯ

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงปี 2020 ทำให้กระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยิ่งในระลอกแรกมีการล็อกดาวน์ปิดศูนย์การค้า ทำให้ร้านอาหาร และบริการต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ต้องพึ่งพาบริการเดลิเวอรี่กันมากขึ้น

การมาของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มได้บทเรียน และปรับตัวกันเร็วขึ้น ถึงแม้ว่ารอบนี้จะไม่มีการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ ไม่มีการปิดศูนย์การค้า สามารถรับประทานอาหารในร้านได้ แต่ต้องบอกว่าบรรยากาศ หรืออารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยไม่เหมือนเดิม หลายคนยังวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และความปลอดภัยอยู่

ร้านอาหารหลายๆ แห่งจึงมีการปรับตัวเยอะมากขึ้น สรรหาโมเดลใหม่ๆ บริการใหม่ๆ เพื่อ “กระจายความเสี่ยง” มากขึ้น อย่าง CRG หรือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ได้ปรับแผนใหม่ ได้ออกโมเดลใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์การค้ามากขึ้น และทำให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าในหลายๆ พื้นที่มากขึ้นด้วย

ยกตัวอย่างโมเดลใหม่ๆ ได้แก่

Hybrid Cloud เป็นการรวมร้านในเครือหลายๆ ร้านไว้ด้วยกัน เช่น เปปเปอร์ ลันซ์, คัตซึยะ และโยชิโนยา

crg

Kiosk นำแบรนด์จากโมเดลร้านใหญ่ ย่อเหลือร้านเล็ก เข้าถึงหลายพื้นที่

Stand Alone นำร้านที่มีทราฟฟิกคนใช้บริการเยอะอย่างมิสเตอร์โดนัท และอานตี้ แอนส์ ออกมาอยู่นอกศูนย์การค้า

Delco เป็นครัวกลางขนาดเล็ก ที่ตอบโจทย์ช่องทางเดลิเวอรี่ มีแบรนด์ที่ตอบโจทย์ช่องทางนี้เยอะๆ ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท และอานตี้ แอนส์ และทำให้เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น

ณัฐ วงศ์พานิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เปิดเผยว่า

“การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้เราต้องปรับแผนให้มีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจโดยแผนดำเนินงานจะมุ่งเน้นในด้านหลักๆ ประกอบด้วย การบริหารจัดการต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เหมาะสม

ด้วยพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และอาจจะไม่กลับมาเป็นเหมือนก่อน จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเปิดร้านใหม่ปรับพอร์ตร้านค้าให้ออกไปอยู่นอกศูนย์การค้ามากขึ้น รวมถึงเปิดร้านในโมเดลที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจในรูปแบบใหม่ซึ่งก็คือ เดลิเวอรี่และออมนิชาแนล อาทิ Delco, Hybrid Cloud, Mini Store, Kiosk และร้านที่เป็น Stand Alone เนื่องจากมีโครงสร้างค่าใช้จ่ายต่ำ มีความยืดหยุ่นสูง”

นอกจากเรื่องช่องทางการขายต่างๆ CRG ยังพัฒนาสินค้า เมนูต่างๆ แบบ Ready to eat และ Ready to heat เพื่อสะดวกต่อการรับประทานอาหารที่บ้าน เช่น น้ำมะนาวของอานตี้ แอนส์ก็มาในถุงใหญ่ เพื่อดื่มได้ทั้งครอบครัว และได้พัฒนาเทคโนโลยี Robot Service หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจในการรับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น

ปัจจุบันกลุ่ม CRG มีร้านอาหารในเครือรวมกัน 15 แบรนด์ ประกอบไปด้วย มิสเตอร์โดนัท (Mister Donut), เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง (Chabuton), โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), ไทยเทอเรส (Thai Terrace), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ (Katsuya), อร่อยดี (Aroi Dee),  เกาลูน (Kowlune), สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) และบราวน์ คาเฟ่ (BrownCafé)

มีจำนวนร้านรวม 1,175 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ม.ค. 2564)