SCGP คาดเป้าทะลุ 1 แสนล้าน ได้ปัจจัยหนุน “ฟู้ดเดลิเวอรี่-อีคอมเมิร์ซ” ช่วงไวรัสระบาด

  • เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/64 รายได้โต 12% กำไรสุทธิโต 23%
  • ยังวางเป้ารายได้ 1 แสนล้านบาทในปีนี้ แม้เผชิญ COVID-19 ระลอกสาม เหตุเพราะฐานรายได้กระจายเสี่ยงในหลายประเทศ มีกลยุทธ์ M&P ควบรวมกิจการเสริมแกร่ง

“วิชาญ จิตร์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1/64 ของบริษัท ดังนี้

– รายได้จากการขาย 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% YoY
– EBITDA อยู่ที่ 5,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% YoY
– กำไรสำหรับงวด 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% YoY

โดยการเติบโตของรายได้และกำไรมาจากเศรษฐกิจอาเซียนบางประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และกลยุทธ์การควบรวมกิจการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ บริษัท Go-Pak UK Limited ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร และบริษัท Bien Hoa Packaging Joint Stock Company หรือ SOVI ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษในประเทศเวียดนาม

ผลประกอบการไตรมาสแรกของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง มีส่วนที่น่าสนใจคือ “สัดส่วนแหล่งรายได้แยกตามประเทศ” เพราะรายได้จากประเทศไทยอยู่ที่ 49% เป็นครั้งแรกที่ลดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน (อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ) สัดส่วน 40% ตามด้วยประเทศอื่นๆ อีก 11%

วิชาญกล่าวว่า สัดส่วนรายได้ที่ลดลงของไทยและมีรายได้จากประเทศกลุ่มอาเซียนมาแทนที่ เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการจะบุกตลาดอาเซียนให้มากขึ้น

 

ยังมองเป้า 1 แสนล้าน จากการ M&P และไลน์ผลิตใหม่

ก่อนหน้านี้ SCGP เคยวางเป้าจะทำรายได้แตะ 1 แสนล้านบาทในปี 2564 ต่อประเด็นนี้ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดระลอกสามในไทย “กุลเชษฏฐ์ ธาราจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP ตอบประเด็นนี้ว่า เป้ารายได้ของปีนี้บริษัทน่าจะยังควบคุมได้เพราะมีปัจจัยภายในที่เอื้อต่อการทำรายได้

ปัจจัยภายในดังกล่าวได้แก่ กลยุทธ์การควบรวมกิจการและเป็นพันธมิตร (Merger & Partnership) โดยปีนี้มีข้อตกลงการการเข้าถือหุ้น 70% ในบริษัท Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในประเทศเวียดนาม ซึ่งคิดว่าน่าจะเสร็จสิ้นช่วงกลางปีนี้ และจะเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม รวมถึงยังมีดีลอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างเจรจาต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีสายการผลิตใหม่ที่เพิ่มเข้ามา 4 ไลน์ ทั้งที่เริ่มเดินเครื่องแล้ว และที่จะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ เข้ามาเสริมรายได้ของบริษัท ได้แก่

1) ไลน์ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป วิซี่ แพคเกจิ้ง ประเทศไทย กำลังผลิต 347 ล้านชิ้นต่อปี เริ่มเดินเครื่องแล้ว มีนาคม 2564
2) ไลน์ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ บริษัท Fajar อินโดนีเซีย กำลังผลิต 4 แสนตันต่อปี เริ่มเดินเครื่องแล้ว เมษายน 2564
3) ไลน์ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ บริษัท UPPC-Paper ฟิลิปปินส์ กำลังผลิต 2.2 แสนตันต่อปี จะเริ่มเดินเครื่องไตรมาส 4/2564
4) ไลน์ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบอ่อน พรีแพ็ค ประเทศไทย กำลังผลิต 53 ล้านตร.ม.ต่อปี จะเริ่มเดินเครื่องไตรมาส 4/2564

 

บริษัทกระจายเสี่ยงหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม SCGP มีปัจจัยภายนอกที่ต้องระวัง เช่น การระบาดซ้ำทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงด้านแหล่งรายได้ไปหลายประเทศอยู่แล้ว ทำให้ลดผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดได้

“วิชาญ จิตร์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP

วิชาญกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ประเทศไทยอาจกำลังเผชิญการระบาดระลอกสาม แต่ในเวียดนาม (สัดส่วน 13% ในรายได้รวม) ยังไม่มีการระบาดซ้ำ ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แม้มีการระบาดอย่างต่อเนื่องแต่รัฐยังควบคุมได้ ขณะที่ยุโรปปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ

ขณะเดียวกัน บริษัทมองว่าเศรษฐกิจปี 2564 ยังเป็นไปในทิศทางบวกมากกว่าปี 2563 จะมีผลดีต่อกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม/สินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนรายได้แพ็กเกจจิ้งจากสินค้าเหล่านี้อยู่ 30% ส่วน 70% หลักเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่ม FMCG อาหาร เครื่องดื่ม

เมื่อปี 2563 บริษัท SCGP ทำรายได้ไป 9.33 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 6,457 ล้านบาท ยังเติบโตได้ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 เกือบเต็มปี เพราะปีก่อนมีอานิสงส์จากการสั่งเดลิเวอรี่ อีคอมเมิร์ซ และการกักตุนสินค้าของผู้บริโภค