“เยอรมนี” ขยายระบบเงินมัดจำบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง กระตุ้นใช้วัสดุรีไซเคิล

Photo : Shutterstock
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยนิวเคลียร์ของเยอรมนี เปิดเผยว่ารัฐบาลกลางอนุมัติการขยายระบบเงินมัดจำค่าบรรจุภัณฑ์ ครอบคลุมขวดและกระป๋องเครื่องดื่มทุกประเภทที่ทำจากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป

กระทรวงฯ ระบุว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกข้อยกเว้นสำหรับเครื่องดื่มบางประเภทที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขวด และกระป๋องพลาสติก เช่น กำหนดให้เพิ่มเงินมัดจำในผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ซึ่งทำให้ต้องจำหน่ายในราคาแพงขึ้น จากที่แต่เดิมบังคับใช้กับน้ำผลไม้อัดลมเท่านั้น

ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ร้านอาหาร ร้านเหล้า และร้านกาแฟในเยอรมนีที่ให้บริการห่ออาหาร หรือเครื่องดื่มกลับบ้านจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทว่ากฎหมายใหม่นี้ยังต้องรอการอนุมัติจากบุนเดิสทาคและบุนเดิสราท ซึ่งเป็นสภาล่างและสภาสูงของเยอรมนีตามลำดับ

“การห่ออาหารกลับบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อเสียของมันคือปริมาณขยะครัวเรือนที่เพิ่มสูง” สเวนยา ชูลเซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ระบุในแถลงการณ์

เยอรมนีไม่อนุญาตให้ผลิตขวดพลาสติกใหม่ด้วยปิโตรเลียม และเปลี่ยนมาใช้พลาสติกรีไซเคิลในปริมาณมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ขวดเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติกพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตแบบใช้แล้วทิ้ง (PET) ต้องผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25%

รัฐบาลเยอรมนีระบุว่ากฎหมายใหม่นี้ช่วยให้เยอรมนี “ลดขยะ ประหยัดวัตถุดิบ และปกป้องสิ่งแวดล้อม”

สหภาพยุโรป (EU) เริ่มบังคับใช้คำสั่งห้ามส่งออกขยะพลาสติกที่ยากต่อการรีไซเคิลทั้งแบบผสม และแบบปนเปื้อนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 ส่วนเยอรมนีเริ่มใช้กฎที่เข้มงวดยิ่งกว่าตั้งแต่ปี 2019 เพื่อควบคุมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลเยอรมนีระบุว่าปริมาณการส่งออกขยะพลาสติกจากเยอรมนีไปยังจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงมากตั้งแต่ปี 2016 โดยปีดังกล่าวเยอรมนีส่งออกขยะพลาสติกไปยังจีน 562,910 ตัน ก่อนจะลดลงเหลือราว 2,600 ตันในปี 2019