สรุปทิศทาง “ปิโตรเคมี” หลังยุค COVID-19 ปรับตัวอย่างไรท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน


ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่โลกเราได้เจอกับสถานการณ์อันเลวร้ายทั้งโรคระบาดไวรัส COVID-19 ยิ่งในปีนี้ได้เจอตัวแปรใหม่ๆ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจไปทั่วโลก ในวันนี้ขอพาไปทำความเข้าใจตลาด “ปิโตรเคมี” หนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ เป็นสารตั้งต้นของหลายธุรกิจ

กลุ่มปตท. ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์  2022 PTT Group The Petrochemical Outlook Forumภายใต้หัวข้อ  “Moving forward in the Post-COVID era” ซึ่งเป็นงานสัมมนาประจำปีของกลุ่ม PRISM Petrochemical Market Outlook ของกลุ่ม ปตท. ปีนี้ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13และเป็นปีแรกที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานสัมมนาผ่านทาง FacebookLIVE ที่เพจ PRISM เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของธุรกิจปิโตรเคมีหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยมุมมองจากนักวิเคราะห์ PRISM กลุ่ม ปตท. และ วิทยากรรับเชิญ

เนื้อหางานสัมมนา 2022 PTT Group The Petrochemical Outlook Forum มีหลากหลายหัวข้อ ประกอบไปด้วยภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทิศทางของปิโตรเคมีในอนาคต บรรจุภัณฑ์พลาสติกในยุค New Normal และการจัดการพลาสติกให้เหมาะสม


เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จับตาเงินเฟ้อ

มีการประเมินจากหลายสำนักว่าเศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้ และปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูง และนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจเริ่มเผชิญความเสี่ยงกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อยังสูง หรือ Stagflation มากขึ้น และในกรณีเลวร้ายนั้น เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป ก็มีความเสี่ยงที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อธิบายในหัวข้อนี้ว่า

“เศรษฐกิจตอนนี้ผันผวนเหมือนคลื่นในทะเลรุนแรง ผ่านไปครึ่งปีแนวโน้มตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างแรง เรื่องเงินเฟ้อคิดว่าจะอยู่ในระดับสูง จากการระบาดของไวรัสโอมิครอน แต่ผ่านไปสักพักหนึ่ง เจอภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงไปอีกสักพัก”

หลายสำนักปรับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก เมื่อต้นปียังไม่เกิดสงคราม มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 4% แต่เมื่อเกิดสงคราม หลายประเทศเจอผลกระทบทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกไม่ถึง 3% สหรัฐฯ อาจจะเติบโตไม่ถึง 2% ส่วนในประเทศจีนเจอการระบาดของ COVID-19 มีการล็อกดาวน์ ไม่อาจโตได้สูงตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนักจากภาวะสงคราม อาจจะโตได้ 3% ในปีนี้ แต่ยังมีความหวังที่จะเติบโตได้จากภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติพร้อมกลับมาไทยมากขึ้น อาจจะสูงถึง 6 ล้านคนในปีนี้ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ช่วยให้ค่าเงินบาทมาแข็งค่าช่วงปลายปี

ส่วนเงินเฟ้อในไทยสูงไม่แพ้สหรัฐฯและยุโรป แบงค์ชาติมองว่าจะลงได้ต้องรอผ่านไตรมาส 3 การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเป็นวงกว้าง


โลกปิโตรเคมีแห่งอนาคต

โลกปิโตรเคมีในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ระบบขนส่ง และห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนไป อันนำไปสู่การปรับตัวของโลกยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบอุตสาหกรรมจึงต้องมีการปรับตัวในทิศทางใหม่ พร้อมเปลี่ยนถ่ายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังมาถึงเร็วๆนี้

เดชาธร ฐิสิฐสกร Marketing Strategy and Data Science บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า

“สิ่งของต่างๆ รอบตัวล้วนมีพื้นฐานจากปิโตรเคมีทั้งสิ้น เป็นตัวป้อนวัตถุดิบแก่การผลิตบรรจุภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโดนท้าทายจาก 2 ปัจจัยหลัก เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี แต่ในโลกวันนี้มีหลายปัจจัยมากขึ้น ในปี 2022 มีทั้งเรื่องโรคระบาด ราคาน้ำมัน อากาศที่เปลี่ยนไป การขนส่ง สงคราม ส่งผลกระทบต่อปิโตรเคมีโดยตรง ในส่วนของสงครามก็ส่งผลกระทบ การเกิดใหม่ของขั้วอำนาจฝั่งตะวันออก ตะวันตก ทำให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยี การพัฒนาทางการทหาร การเกิดชนวนสงคราม ส่งผลกระทบต่อซัพพายเชน”

ปี 2021 ประเทศไทยมีการใช้พลาสติกจำนวน 4.968 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 746,431 ล้านบาท โดยที่ 4 อุตสาหกรรมหลักที่กินสัดส่วน 80% ของทั้งตลาด ได้แก่แพ็คเกจจิ้ง 41% เครื่องใช้ไฟฟ้า 16% ก่อสร้าง 15% และรถยนต์ 6%

ในช่วงหลังโรคระบาด COVID-19 โลกมีการเปลี่ยนแปลงมีการใช้ฟู้ดเดลิเวอรี่ การทำงานที่บ้าน ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น การพัฒนา 5G หรือมิติสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปก็มีส่วน ปิโตรเคมีก็ต้องปรับตัวไปสู่โลกใหม่เช่นกัน

สำหรับโลกใหม่ของปิโตรเคมี มีปัจจัยหลัก 2 ส่วน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม และธุรกิจใหม่ ในส่วนของสิ่งแวดล้อม การเติบโตของประชากรโลก ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด จึงเกิด Post Consumer Recycled (PCR) Resin มีการรีไซเคิลเม็ดพลาสติกใหม่ กลายเป็นเทรนด์ของโลกที่เริ่มมีการผลิตบรรจุภัณฑ์ครื่องสำอาง เริ่มเห็นโรดแมปในกลุ่มสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ประกาศใช้พลาสติกรีไซเคิลในอุตสาหกรรมต่างๆ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2040 เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจะมีการเติบโต 9%

ปัจจัยที่ 2 ธุรกิจใหม่ ที่จะสร้าง New S-Curve เป็นในเรื่องของเทคโนโลยี AI, IoT รวมไปถึงการมาของ EV ที่จะมาดิสรัปต์ธุรกิจเดิม ในไทยมีโรดแมปเข้าสู่ EV ชัดเจน 10 ปีข้างหน้า มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งสร้างจุดชาร์จไฟฟ้า ศูนย์พัฒนาแบตเตอรี่ และฮับการผลิตรถยนต์ กลไกของราคาแบตเตอรี่ถูกลงเรื่อยๆ

หรืออย่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ก็มีการใช้พลาสติกในการผลิต ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการก็เริ่มมีการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เข้าสู่ยุคที่มนุษย์กับหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน

ใช้พลาสติกในยุค New Normal อย่างยั่งยืน

หลังเข้าสู่ยุค New Normal โลกกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอีกครั้ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ต่างก็ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล, การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้าผู้ใช้พลาสติกรู้จักวิธีจัดการให้เหมาะสม และยังสามารถมีส่วนร่วมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพียงแค่รู้จัก Reuse นำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ, ช่วยกันแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำไป Recycle และ Upcycle ต่อไป

ธีรัช ศฤงคารินทร์ Marketing Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า

“หลังจากโลกเข้าสู่ยุค New Normal โลกให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม หลายคนตั้งคำถามถึงพลาสติกบนเส้นทางความยั่งยืน ว่าจะช่วยโลกได้อย่างไรได้บ้าง อุตสาหกรรมแพ็คเกจจิ้งใช้พลาสติกเยอะมาก ถ้าต้องการลดขยะต้องผลักดันให้มีการรีไซเคิลมากขึ้น เม็ดพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิล เรียกว่า PCR (Post Consumer Recycled material/Post Consumer Resin) สำหรับประเภทที่นิยมมารีไซเคิล ได้แก่ PET, PP และ HDPE ประโยชน์ของการรีไซเคิล คือ ลดขยะ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ โดยในปีที่ผ่านมามีความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลมากกว่า 7 ล้านตัน และคาดว่าจะโตขึ้นไปเป็น 12 ล้านตัน ในปี 2026”

การใช้พลาสติกในไทย 40% เป็นรูปแบบ PE โดยที่ 41% นำไปใช้ทำแพ็คเกจจิ้ง 16% ทำชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 15% วัสดุก่อสร้าง 6% อะไหล่รถยนต์ 6% เส้นใย 2% อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ 14% อื่นๆ

เมื่อมีความต้องการรีไซเคิลมากขึ้น ก็มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนแพ็คเกจจิ้ง จากเดิมใช้แก้ว เปลี่ยนเป็นพลาสติก ที่เราเห็นในปัจจุบันเป็น Multi-Layer Film คือฟิล์มหลายเลเยอร์มาประกบกัน แต่ทำให้มีการรีไซเคิลยาก เลยปรับปรุงการออกแบบเป็น Mono Material ใช้วัสดุชนิดเดียว เพื่อทำให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น เช่น ถุงขนมที่ผลิตด้วยพลาสติก 3 เลเยอร์ ถ้าเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้วัสดุชนิดเดียวก็จะทำให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ซึ่งเริ่มมีผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้แล้วเช่น ผู้ผลิตน้ำผลไม้ในอังกฤษ ใช้ขวดพลาสติก PET รีไซเคิล 100% ส่วนเนสท์เล่ผลิตซองบรรจุกาแฟที่รีไซเคิลได้

องค์กรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน มีการตั้งเป้าหมายในเรื่องความยั่งยืน อย่างเช่น เป๊ปซี่โค ยุโรป ตั้งเป้าว่าในปี 2023 จะไม่ใช้พลาสติกจากฟอสซิลมาผลิตถุงขนมแล้ว ส่วน P&G ตั้งเป้าภายในปี 2030 จะลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ให้ได้ 50% เนสท์เล่ก็ตั้งเป้าที่จะลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงภายในปี 2025


พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย ต้องอยู่กันอย่างเป็นมิตร

นิรมล วุฒิพฤกษ์ Manager, Business Planning and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า

“พลาสติกมีประโยชน์มากมาย ช่วยชีวิตมนุษย์ได้ สามารถใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีอายุยืนนาน มีราคาเอื้อมถึง น้ำหนักเบา ลดการใช้น้ำมันในการขนส่งได้ ปัจจุบันเราเห็นพลาสติก PP อยู่รอบตัวมากมาย ตั้งแต่ของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย กล่องอาหาร กล่องข้าว ฝาขวด เก้าอี้ พลาสติกจึงไม่ใช่ผู้ร้าย สามารถรีไซเคิลได้ ต้องรู้จักวิธีจัดการที่ถูกต้อง”

ปัจจุบันกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก มี 2 วิธี

  1. Mechanical Recycling บดอัด ล้างทำความสะอาด และทำเม็ดพลาสติกขึ้นมาใหม่

2.Chemical Recycling นำพลาสติกมาผ่านกระบวนการทางเคมี มีราคาแพง แต่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า

ผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้เราได้เห็นความต้องการใช้พลาสติกมากยิ่งขึ้น ชุด PPE ก็ทำมาจากพลาสติก PP ขวดน้ำเกลือ กล่องอาหาร หรืออุปกรณ์สำหรับทำงานที่บ้านก็เช่นกัน ดีมานด์ของพลาสติก PP หลัง COVID-19 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป บรรจุภัณฑ์อาหารต้องการความสะอาด รีไซเคิลได้ ด้านสุขอนามัยก็มีความเปลี่ยนแปลง ยังต้องใช้หน้ากากอนามัย และชุด PPE รวมไปถึงสังคมสูงวัย ต้องมีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เช่น ผ้าอ้อม แผ่นรองซับ รวมถึง รถ EV ที่ต้องการน้ำหนักเบา พลาสติกหลายชนิดเข้ามาเป็นส่วนประกอบ รวมถึงแบตเตอรี่ของรถ EV ก็ล้วนประกอบมาจากพลาสติกเช่นกัน


ต้องปรับตัวอย่างยั่งยืน

ปิดท้ายที่ สิรวิชญ์ สมรัตนกุล นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า

“แนวทางการปรับตัว และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพลาสติกหลังสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงนโยบาย และแผนงานด้านความยั่งยืนของทุกภาคส่วน จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคตทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน องค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น”

จะเห็นได้ว่าปิโตรเคมีล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของชีวิตประจำวันของคนเราอย่างมาก บางทีเราอาจจะไม่รู้ตัว แต่หลายๆ สิ่งได้เกิดขึ้นจากปิโตรเคมีทั้งสิ้น ทิศทางต่อไปในอนาคตเราคงได้เห็นปิโตรเคมีแบบยั่งยืนมากขึ้น มีนวัตกรรมที่ทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย