ซีอีโอของ ‘สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย’ วางเเผนเร่งขยายฐานผลิตวัคซีนโควิด-19 ไปในต่างประเทศ เพื่อให้ทันกับความต้องการทั่วโลก หลังอินเดียเจออุปสรรคใหญ่ ต้องเผชิญกับการระบาดขั้นรุนเเรง ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุ 3 เเสนรายต่อวัน ทำให้ขาดเเคลนเเรงงานเเละวัตถุดิบ
สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (The Serum Institute of India) เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก เเละเป็นกำลังสำคัญในการผลิตวัคซีนของ AstraZeneca พร้อมผลิตให้กับโครงการ COVAX ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก
Adar Poonawalla ซีอีโอของบริษัทให้สัมภาษณ์กับ The Times ว่า ตอนนี้การผลิตวัคซีนในอินเดีย กำลังเจออุปสรรคครั้งใหญ่ ทั้งปัจจัยเเรงทั้งแรงงานและวัตถุดิบ รวมไปถึงความต้องการวัคซีนในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังสถานการณ์เเพร่ระบาดระลอกที่ 2 อยู่ในขั้นเลวร้าย เเละเกิดการขาดเเคลนออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19
จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ตาม ‘เป้าหมายเดิม’ ที่วางไว้ว่าจะผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้ได้อย่างน้อย 100 ล้านโดสต่อเดือน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเเผนที่ ‘ล่าช้า’ กว่าเเผนการเดิมอยู่เเล้ว จากที่เคยตั้งเป้าจะทำให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม
โดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย กำลังเร่งเจรจากับหลายประเทศ เพื่อทำข้อตกลงร่วมเป็นพันธมิตรในการผลิตวัคซีน แม้ขณะนี้ยังไม่เปิดเผยว่าจะเป็นประเทศใด และจะมากกว่า 1 ประเทศหรือไม่
“จะมีการประกาศอีกครั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” Poonawalla กล่าว
หากการเจรจาสำเร็จ เขาคาดว่า กำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียและพันธมิตร จะเพิ่มเป็น 2,500 – 3,000 ล้านโดสต่อปี ได้ภายใน 6 เดือนหลังบรรลุข้อตกลง
สถานการณ์โควิด-19 ในอินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก ยังอยู่ในช่วงวิกฤต ยอดผู้ติดเชื้อโคโรนาและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 3 เเสนรายต่อวันติดต่อกันเป็นวันที่ 9 เเล้ว ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมในอินเดียพุ่งเป็นเกือบ 20 ล้านคน มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ส่วนยอดเสียชีวิตสะสมที่ราว 2.2 เเสนราย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางคนวิจารณ์ว่า รัฐบาลอินเดีย ‘ชะล่าใจ’ เกินไป ในช่วงที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 1 หมื่นคนต่อวัน เเละคิดว่าจะควบคุมไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ได้ จึงอนุญาตให้มีการจัดงานขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากหลายงาน ซึ่งคาดว่าเป็นจุดเเพร่ระบาดครั้งใหม่นี้
อย่างไรก็ตาม เเม้รัฐบาลจะโดนกดดันจากทั้งภาคเอกชนเเละภาคสาธารณสุข เเต่ตอนนี้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ก็ยังไม่ออกประกาศบังคับล็อกดาวน์ ‘ทั้งประเทศ’
ที่มา : Reuters , financial times