ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นนำไม่แพ้ชาติใด แต่เมื่อเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 แดนอาทิตย์อุทัยกลับไม่มีวัคซีนที่ผลิตในประเทศ ต้องพึ่งพาวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้การหยุดยั้งโรคระบาดล่าช้าอย่างยิ่ง
ญี่ปุ่นเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 นานกว่า 2 ปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ สำนักงานอาหารและยาของญี่ปุ่นได้อนุมัติใช้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะวัคซีนต่างประเทศไม่มีผลการทดลองในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นอาจไม่ต้องตกที่นั่งลำบากเช่นนี้หากมีวัคซีนของตัวเอง แต่ถ้าจะเริ่ม ณ วันนี้ดูเหมือนจะสายเกินไปเสียแล้ว ผู้เกี่ยวข้องในวงการเภสัชกรรมของญี่ปุ่นให้ความเห็นเรื่องที่ญี่ปุ่นไม่ได้พัฒนาวัคซีนโควิดของตัวเอง
เหตุผลแรก ญี่ปุ่นไม่เคยเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่มาก่อน
ในช่วงที่โรคซาร์สระบาดในจีนเมื่อปี 2546 บริษัทยาของญี่ปุ่นได้ลงมือวิจัยวัคซีนอย่างรวดเร็ว แต่ปรากฏว่าโรคซาร์สได้ถูกควบคุมได้ในเวลาไม่นานนัก ยังไม่ทันที่จะแพร่ระบาดมาถึงญี่ปุ่น ช่วงที่บริษัทยาของญี่ปุ่นเริ่มทำการทดลองวัคซีนโรคซาร์สขั้นสุดท้ายโรคระบาดนี้ก็ได้สิ้นสุดลง บริษัทยาของญี่ปุ่นต่างเข็ดหลาบกับการ “เสียแรงเปล่า” ในครั้งนั้น
ในครั้งนี้ บริษัทยาของญี่ปุ่นจึงชะล่าใจว่าไวรัส COVID-19 จะระบาดไม่นานเหมือนโรคซาร์ส แต่คาดไม่ถึงว่าไวรัสนี้ถึงแม้ไม่ “แรง” เหมือนโรคซาร์ส แต่ระบาดอย่างกว้างขวางและยาวนานกว่า 2 ปีแล้ว ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลง ซ้ำยังมีเชื้อกลายพันธุ์มากมาย บริษัทยาของญี่ปุ่นจะเริ่มวิจัยวัคซีนก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว
เหตุผลที่ 2 เงินทุนในการวิจัยไม่เพียงพอ
บริษัทยาชั้นนำของสหรัฐอย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา สามารถพัฒนาวัคซีนได้ในเวลาไม่นาน และยังใช้เทคโนโลยีใหม่ คือ mRNA ที่ใช้การดัดแปลงพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเพื่อสร้างภูมิต้านทานในร่างกาย วิธีการนี้สามารถผลิตวัคซีนได้อย่างรวดเร็วกว่าแบบเดิมที่ต้องใช้เวลานาน 10-15 ปี
เบื้องหลังความก้าวหน้าของบริษัทยาสหรัฐมาจากเงินทุนมหาศาลในการวิจัย ไฟเซอร์มีความเป็นมายาวนานกว่า 170 ปี ไม่เพียงสั่งสมองค์ความรู้ไว้มากมาย แต่ยังมีเงินทุนของกลุ่มธุรกิจชาวยิวหนุนหลัง นายอัลเบิร์ต บัวร์ลา CEO ของไฟเซอร์ เกิดในประเทศกรีซ แต่พ่อแม่เป็นชาวยิวที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันในเยอรมนี นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ อิสราเอล เป็นชาติแรกที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยมีข้อตกลงที่จะมอบข้อมูลทั้งหมดของผู้ที่ได้รับวัคซีนให้กับไฟเซอร์
โมเดอร์นา ถึงแม้เป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อ 10 ปีก่อน และยังไม่เคยมียาหรือวัคซีนวางตลาดเลย แต่โมเดอร์นาเป็นผู้นำในเทคโนโลยี mRNA บริษัทได้ระดมทุนครั้งสำคัญครั้งแรกในปี 2555 ได้รับเงินลงทุน 40 ล้านเหรียญในครั้งนั้น
ในช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ หรือ NIAID ได้ร่วมมือกับโมเดอร์นาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี mRNA และสนับสนุนงบประมาณมากถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมประกาศว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสั่งซื้อวัคซีนจากโมเดอร์นาอย่างน้อย 100 ล้านโดส ปัจจุบันมูลค่าหุ้นของโมเดิร์นนาพุ่งขึ้นไปเป็นกว่า 38,600 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณพิเศษเพื่อเป็นเงินทุนในการวิจัยวัคซีนฉุกเฉิน เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว 137,700 ล้านเยน หรือราว 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น เงินทุนนี้จัดสรรให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่น 6 แห่งเพื่อวิจัยวัคซีน COVID-19 จะเห็นได้ว่างบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่นที่สนับสนุนวัคซีนเทียบไม่ได้กับของรัฐบาลสหรัฐฯ เลย
เหตุผลที่ 3 ตลาดในประเทศจำกัด ซื้อคุ้มกว่าทำเอง
ญี่ปุ่นมีประชากรราว 127 ล้านคน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีใหม่ต้นทุนสูง หากจะให้ทำกำไรได้จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกวัคซีน แต่การจะผ่านอนุญาตจากสำนักงานอาหาร และยาของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ FDA ของสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีการทดลองทางคลินิกในสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทยาของญี่ปุ่นยากที่จะทำเช่นนั้นได้
หากแต่การที่ญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตวัคซีนได้เองในประเทศ ทำให้สูญเสียโอกาสในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ
ขณะนี้บริษัทยาใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่งยังคงเดินหน้าวิจัยวัคซีนอยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงทดลองระยะที่ 2-3 คาดว่าจะผลิตออกสู่ตลาดได้ก็ต้องรอจนถึงปลายปีนี้ นอกจากนี้แอสตราเซเนกาก็ได้ร่วมมือกับบริษัทไดอิจิ ซันเกียว เพื่อผลิตวัคซีน COVID-19 ในญี่ปุ่น คาดว่ามีกำลังการผลิตปีละ 60 ล้านโดส
แต่กว่าวัคซีนของญี่ปุ่นจะออกสู่ตลาดในปลายปีนี้ คาดว่าในขณะนั้นวัคซีนที่รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมทั้งวัคซีนที่ร่วมมือผลิตในประเทศเองจะมีจำนวนมากถึง 3 เท่าของประชากร ทำให้บริษัทยาของญี่ปุ่นแทบจะไม่เหลือโอกาสทางการตลาดในด้านของวัคซีนอีก
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า บริษัทยาของญี่ปุ่นตระหนักดีว่าไม่อาจแข่งขันกับวัคซีนของสหรัฐฯ อังกฤษ และจีนได้ บริษัทต่างๆ จึงเบนเข็มจากการวิจัยวัคซีน ไปเป็นการผลิตยารักษา COVID-19 เพื่อหวังกู้ชื่อแดนอาทิตย์อุทัยจากวิกฤตโรคระบาดนี้