การทำธุรกิจในยุคสมัยนี้ การสยายปีกสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ถือว่าเป็นโอกาสทองในการสร้างการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงเมื่ออีกอุตสาหกรรมมีการเติบโตน้อยลงด้วย ช่วยสร้างความสมดุลให้พอร์ตได้อย่างดี
เมื่อไม่นานมานี้ จึงได้เห็นการเคลื่อนไหวสำคัญของวงการอสังหาริมทรัพย์ “สิงห์ เอสเตท” ผู้พัฒนา และลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ได้ใช้งบลงทุนกว่าพันล้าน ได้สิทธิ์ซื้อหุ้น 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้า และความร้อนร่วม (Co-generation power plant) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง
มูฟเมนต์นี้ถือเป็นการขยายธุรกิจสู่กลุ่มที่ 4 กลุ่มพลังงาน นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเต็มตัว และคาดการณ์ว่าจะทำให้มีรายได้ปีละ 20,000 ล้านภายใน 3 ปี เป็นการหาน่านน้ำใหม่
สิงห์ เอสเตทไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ ล่าสุดได้ลงนามในข้อตกลงเข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ใน จ.อ่างทอง
ธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 510 ล้านบาท เป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีในราคาพาร์ ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งการโอนหุ้นระหว่างกันคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564
จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท เปิดเผยว่า
“การซื้อนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่งที่เราเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเราที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้เรามีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business”
ทางด้าน ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า
“การผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของเรา ทั้งในด้านการเงิน และการดำเนินงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วนิคมอุตสาหกรรมคือหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด การดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งของเรา
และการที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของเรา ก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย นอกจากนั้น กิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม”
การที่มีนิคมอุตสาหกรรมในมือนั้น นอกจากความลงตัวในเชิงกลยุทธ์แล้ว ต้องบอกว่าธุรกิจนิคมฯ ยังมีอนาคตที่สดใสมากเลยทีเดียว นิคมตั้งอยู่ในจ.อ่างทองซึ่งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย
ถ้าดูจากสถิติโดยรวมของอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปี 2563 ในขณะที่ภาคกลางของประเทศไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89% จึงเป็นโอกาสทองอย่างมากในการลงทุนครั้งนี้
ฐิติมากล่าวเพิ่มเติมว่า “นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหาร และวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา”
รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายระยะยาว โดยข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่า อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหาร เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในอัตราที่เติบโตรวดเร็วที่สุด โดยภาคกลางของประเทศไทยมีสัดส่วนของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณครึ่งหนึ่งของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดในปี 2563 อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการคลี่คลายของวิกฤต COVID-19
ทั้งนี้สิงห์ เอสเตท ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแผนการซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท
โดยที่โรงไฟฟ้าแห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วขนาด 123 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 และ 3 เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์
เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท เปิดเผยว่าบริษัทมีเป้าหมายดันรายได้ต่อปีให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า กลายเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี