แต่ละคลิกที่กดรีโมตจ่อไปยังกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม กำลังจะมีความหมายมากขึ้น เมื่อผู้ทำธุรกิจติดตั้งจานดาวเทียม กำลังเพิ่มบทบาทการเป็นผู้จัดเรตติ้งให้ช่องที่มาออกอากาศผ่านเครือข่ายของตัวเอง หากสำเร็จ ไม่เพียงแต่ผู้ขายจานจะสำคัญมากขึ้น เจ้าของช่องไม่ต้องง้อบริษัทจัดเรตติ้งอย่าง AGB Neilsen แต่นี่คือการเริ่มต้นที่จะทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลเข้าสู่ช่องทีวีดาวเทียมมากขึ้น
ขณะนี้ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจานดาวเทียมคือจานดำซีแบนด์ “PSI” และเคยูแบนด์ มีจานส้ม “IPM” กับจานเหลือง “DTV” ได้ขยับเพื่อสร้าง Positioning ทางธุรกิจใหม่ของตัวเองในตลาด จากเคยแค่ขายจาน รวมช่องรายการส่งสัญญาณให้ผู้ชม กลายมาเป็นผู้วัดเรตติ้ง ด้วยการลงทุนกันไม่ต่ำกว่ารายละ 10 ล้านบาท สำหรับระบบส่งสัญญาณเพื่อประมวลผลผ่านสัญญาณ GPRS เพื่อให้ได้ผลเรียลไทม์และ Rating Box หรือกล่องรับสัญญาณที่ติดบ้านผู้ชมค่ายละประมาณ 400-500 กล่อง เป็นโปรเจกต์นำร่องก่อนสิ้นปี 2553 และในปีหน้า Rating Box ค่ายละประมาณ 1,000-2,000 กล่อง ก็จะไปติดที่บ้านผู้ชมทั่วประเทศ
เบื้องหลังของการลงทุนครั้งนี้ “มานพ โตการค้า” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็ม จำกัด บอกว่า ในช่วงแรกคือบริการเสริมให้ช่องรายการได้รู้เรตติ้ง เพื่อปรับปรุงคอนเทนต์ ส่วนระยะยาวสามารถขายข้อมูลเพื่อการตัดสินใจซื้อโฆษณาได้
นอกจากนี้ “วรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์” กรรมการบริหารการตลาด บริษัท พีเอสไอโฮลดิ้ง จำกัด บอกว่า ระบบนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงโฆษณาว่ามีฐานผู้ชมจริง รู้ผลได้แบบเรียลไทม์ ทุกช่วงเวลา เป็นบทบาทที่ต้องการสนับสนุนช่องให้มีรายได้โฆษณาเพิ่มขึ้น เป็นการให้บริการเสริมในช่วงแรก ส่วนการขายข้อมูลนั้นไม่ใช่เป้าหมายที่วางไว้ในเวลานี้
อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของเรตติ้ง ยังเป็นสิ่งที่แบรนด์และเอเจนซี่ หรือแม้แต่เจ้าของช่องรายการก็ตั้งคำถาม
“อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า ถ้าได้ฟรีถือว่าโอเค เพราะสามารถใช้ดูแนวโน้มได้ว่าผู้ชมต้องการอะไร แต่หากมีค่าใช้จ่ายก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะการขายโฆษณาโดยเฉพาะกับแบรนด์ต่างชาติยังต้องการเรตติ้งจาก AGB Neilsen ดังนั้นปัจจุบันค่ายเนชั่นและทีวีดาวเทียมบางช่องจึงจ้างสำรวจเอง เฉลี่ยราคาช่องละ 2 หมื่นบาท โดยไม่ได้ทำในนามสมาคมเคเบิลทีวีเหมือนที่เคยมีการรวมกลุ่มกันก่อนหน้านี้ เพราะบางช่องไม่พร้อมจะเสียต้นทุนตรงนี้
และเสียงจากพีแอนด์จี โดย “เมธี จารุมณีโรจน์” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารการตลาดและองค์กร ก็ยิ่งคอนเฟิร์มว่า การตัดสินใจซื้อสื่อจำเป็นต้องมีข้อมูล AGB Neilsen อ้างอิง
ทั้ง 3 ค่ายจานดาวเทียมจึงมีแผนปิดจุดอ่อนตรงนี้ โดยพีเอสไอดึงเจ้าของช่องคอนเทนต์มาร่วมเป็นกรรมการสรุปผลการสำรวจ ดีทีวีเตรียมดึงสถาบันวิจัยระดับประเทศมาร่วม ส่วนไอพีเอ็มตกลงกับ AGB Neilsen เมื่อต้องขายข้อมูลให้ลูกค้าก็จะมีผลการวัดเรตติ้งผ่าน Rating Box รวมไปกับที่ AGB Neilsen สำรวจ
ทีวีดาวเทียมเกือบ 10 ล้านจานในวันนี้ คือฐานลูกค้าที่ผู้ขายจานต่อยอดได้ไม่ยาก หากจานดาวเทียมปูพรมได้ลูกค้าทั่วประเทศ และระบบเรตติ้งนี้ “ขายได้จริง” เราคงจะได้เห็นผู้ทรงอิทธิพลใหม่ในโลกทีวีในไม่ช้า
Profile
ในปี 2554 จะมีผู้ชมติดตั้งจานดาวเทียมประมาณ 50% หรือประมาณ 10 ล้านครัวเรือน จากทั้งประเทศมี 20.35 ล้านครัวเรือน โดย 3 ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดปีนี้ คือ พีเอสไอติดตั้งแล้ว 6.5 ล้านจาน ไอพีเอ็ม 1.2 ล้านจาน และดีทีวี 1 ล้านจาน โดยแต่ละรายมีจำนวนช่องให้ลูกค้าเลือกไม่ต่ำกว่า 50 ช่องรายการ