อภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. บกพร่องโดยสุจริต หรือตั้งใจผิดพลาด

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “ยกคำร้อง” คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง29ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ นอกจากเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่ฝ่ายถูกกล่าวหา “ชนะฟาวล์” ทางเทคนิค

ด้วยความผิดพลาดใน “กระบวนการขั้นตอน” ที่มิชอบตามกฎหมาย และบกพร่องในการปฏิบัติตามเงื่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด จน “คดีหมดอายุความ”

คำวินิจฉัยที่ออกมายังสร้างแรงสั่นสะเทือนตามมาเป็นต่อฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็น“เอฟเฟกต์” ที่ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้ร้องคดี

กกต.ที่ถือว่าเป็น “ต้นทาง” ที่ทำให้มีคำวินิจฉัยที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากชนัก ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในรัฐบาล

โดยเฉพาะอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ไม่อาจลบเลี่ยงสะเก็ดระเบิดที่ถาโถมใส่เต็มๆเพราะจากเนื้อหาคำวินิจกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุเหตุผลที่ต้องยกคำร้องก็ด้วยเพราะประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการ กระทำผิดขั้นตอนและกระบวนการยื่นเรื่องตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง

ทั้งเรื่องการไม่มีความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองประกอบคำร้อง ที่นำไปสู่ความผิดพลาดในเรื่อง “อายุความ” ที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด15วัน จึงไม่แปลกที่แรงสั่นสะเทือนทั้งหมดจะถาโถมมาสู่ประธาน กกต. ทั้งโดยตรงจากคำวินิจฉัยของที่ชี้ความผิดพลาดของ กกต. หรือทั้งจากฝ่ายผู้ถูกร้อง

ฝ่ายถูกกล่าวหาอย่างประชาธิปัตย์เอ่ยอ้างได้ว่าพ้นผิด ก็เพราะ “กกต.พลาด” ไม่เท่านั้น พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง ที่หลังคำวินิจฉัยออกมา ก็เหมือนลูกเข้าเท้าพอดี เพราะชูธงเรื่อง “สองมาตรฐาน” ไว้ล่วงหน้าแล้ว

แม้แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การวิเคราะห์จากนักวิชาการ นักกฎหมายบางส่วน เสียงสะท้อนที่กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ไปที่ประธาน กกต. นอกจากกังขาในเรื่องกระแสสังคมที่กังขาในเรื่องคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าเป็นการตัดตอน เลือกที่จะวินิจฉัยเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติ แต่ไม่พิจารณาเรื่องเนื้อหาสาระในประเด็นการใช้จ่ายเงิน29ล้านบาท เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่

นายอภิชาต และ กกต. ยังโดนถล่มจากคนเสื้อแดง แบบ “เฉลี่ยเป้าโจมตี” จากศาลรัฐธรรมนูญมาที่ กกต.ในครั้งนี้ ถึงขั้นที่มีการทวงถามความรับผิดชอบ

จี้ กกต.ให้ลาออก!

โดยเฉพาะนายอภิชาต ที่แม้แต่ กกต.ด้วยกันเองแม้บางส่วนจะยังมีท่าทีปกป้อง แต่หลังฉากก็มีการแสดงความไม่พอใจ ในความบกพร่องในการทำหน้าที่ ทำให้ต้องรับเรื่องร้อนไปด้วย รวมทั้งเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเอง
มีการส่งซิกเป็นรายงานข่าวในท่วงทำนอง “ตะเพิดประธาน กกต.”

โยนเผือกร้อนไม่ให้ถึงตัวกันเป็นแถว!

อย่างไรก็ดี ถ้าย้อนเส้นทางคดียุบพรรคการเมือง อีกคดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ก็ทำให้เห็นว่าเกิดความผิดพลาดบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของนายอภิชาตจริงๆ

โดยเฉพาะเมื่อคำร้องให้ยุบ ปชป.กรณีใช้เงิน29ล้านบาท ถูกยื่นจากดีเอสไอและส.ส.พรรคเพื่อไทย มาถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง คือนายอภิชาตในหมวกอีกใบ

โดยหลังจากตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนขึ้นมาพิจารณาคำร้อง นายอภิชาตได้ทำความเห็นส่วนตัวในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้ “ยกคำร้อง” ทั้งในคดี 29ล้านบาท รวมถึงคดีรับเงินบริจาค258ล้านบาทและที่จริงคดียุบพรรค ปชป.ในกรณีเงิน29ล้านบาท ก็น่าจะเป็นที่ยุติ ตามอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองตามกฎหมาย ที่ได้มีความเห็นเมื่อ17ธันวาคม2552

ถ้านายอภิชาตไม่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต.อีก และหลังจากนั้นที่ประชุม กกต. ก็มีมติโยนเรื่องให้นายอภิชาตไปทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอกลับมาเป็นทางการอีกครั้ง แต่ที่ยุ่งเข้าไปใหญ่ นายอภิชาตกลับออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองอีกครั้ง โดยไม่น่าจะมีความเป็น

จนได้ผลสรุปเสนอต่อที่ประชุม กกต.วันที่12เม.ย. 2553และวันดังกล่าวคือวันที่มีการลงมติของ กกต.ทั้ง5คน ในช่วงที่คนเสื้อแดงที่กำลังก่อม็อบในช่วงเวลานั้น และบุกไปปิดล้อมสำนักงาน กกต.เพื่อกดดันในเรื่องคดียุบพรรค
และแปลกที่ผลการลงมติของ กกต.ออกมาเป็นเอกฉันท์ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งที่นายอภิชาตเคยมีความเห็นยกคำร้อง

กระนั้นก็ดี ที่นายอภิชาต “กลับลำ” จากความเห็นที่มาเดิม ยกคำร้องคดียุบพรรค มาเป็นลงมติให้ “ยุบพรรค” ในการประชุมช่วงเดือน เม.ย. 2553 เป็นการลงมติในฐานะประธานกกต.แต่ไม่ได้ใช้ดุลพินิจในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ก่อนเสนอเรื่องต่อศาล จึงถือเป็นการผิดขั้นตอนกระบวนการเช่นเดียวกับการมีมติที่ประชุม กกต.ในวันที่ 17ธ.ค.2553ที่ศาลรัฐธรรมนูญถือว่า เป็นวันต้องเริ่มนับเวลา ก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน15วัน ทั้งมูลเหตุจากความผิดพลาดเรื่องกระบวนการขั้นตอน และการเลยเงื่อนเวลายื่นคำร้องที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว จึงนำไปสู่คำวินิจฉัยยกคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่พิจารณาประเด็นคำร้องที่เหลือ

จากรายละเอียดทั้งหมด นายอภิชาตจึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้กับความผิดพลาดและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง คดียุบพรรค ปชป. ที่เหลือเชื่อและมีการพูดถึงกันว่า นายอภิชาตที่เป็นถึงอดีตผู้พิพากษาระดับสูง มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องหลักนิติศาสตร์หลักกฎหมาย จะเกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาดเช่นที่เกิดขึ้น

จะ “บกพร่องโดยสุจริตใจ” หรือ “เผอเรอเพราะตั้งใจ” ก็ยากแก่การพิสูจน์

รวมทั้งที่บอกได้ยาก แต่ก็มองได้เช่นกันว่า การปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกับคดีสำคัญที่เกี่ยวโยงกับพรรคการเมืองที่เก่าแก่เป็นประวัติศาสตร์ ต้องทำหน้าที่ท่ามกลางกระแสกดดัน จากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง เกิดความแตกแยก ความวุ่นวายในบ้านเมืองและคดียุบพรรคคืออีกประเด็นที่ถูกจับตาจากสังคม เป็นอีกเงื่อนปมข้อเรียกร้องของการชุมนุมของมวลชนเสื้อแดง และเป็นอีกปมชี้เป็นชี้ตายสถานการณ์โดยรวม จะเป็นสาเหตุให้การทำหน้าที่ของนายอภิชาตไม่รอบคอบ ไร้หลักยึด จนเหมือนเร่งรีบร้อนรน เลิ่กลั่ก รวมทั้งออกอาการยึกยัก พลิกกลับไปกลับมา

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกระแสกดดันจากม็อบเสื้อแดง!

สิ่งสำคัญคือ เมื่ออาสาเข้ามาทำหน้าที่ ปฏิบัติภารกิจสำคัญ ในองค์กรอิสระหน่วยงานสำคัญของบ้านเมือง หากไร้หลักยึด ไหลไปตามกระแส โอนเอนไปตามแรงกดดันภายนอก

หวั่นไหว หวาดกลัว จนไร้มาตรฐาน!

เมื่อมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่มีความผิดพลาดในกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จนส่งผลกระทบต่อองค์กรโดยรวมเช่นนี้ แม้นายอภิชาตจะยกเหตุผลหาข้ออ้างอื่นใดมาอธิบายความก็คงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!