หากพูดกันตามจริงว่าใครที่ได้ประโยชน์จากการระบาดของ COVID-19 ก็คงหนีไม่พ้นบริษัทผลิตวัคซีน ซึ่งเจ้าวัคซีน COVID-19 นี้ก็ได้ได้สร้าง ‘มหาเศรษฐีใหม่’ อย่างน้อย ‘9 คน’ หลังจากที่หุ้นในบริษัทที่ผลิตวัคซีนดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นไปดูกันว่ามีใครกันบ้าง
นับตั้งแต่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 หุ้นของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยหุ้นในบริษัท Moderna พุ่งสูงขึ้นกว่า 700% ในขณะที่ BioNTech เพิ่มขึ้น 600% ส่วนหุ้นของ CanSino Biologics เพิ่มขึ้นประมาณ 440% ในช่วงเวลาเดียวกัน
แน่นอนว่าผู้ที่กลายเป็นมหาเศรษฐีรายใหม่ของโลกก็คงหนีไม่พ้นเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนั้น ๆ เริ่มจาก สเตฟาน แบนเซล ซีอีโอ Moderna มีสินทรัพย์รวม 4.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าบริษัทจะทำรายได้จากวัคซีนถึง 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปีนี้ ส่วน อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง BioNTech ซึ่งผลิตวัคซีน Pfizer มีทรัพย์สินสุทธิราว 4 พันล้านดอลลาร์ โดยช่วงไตรมาสแรกของปี BioNTech ทำกำไรสุทธิ 1.3 พันล้านดอลลาร์
ตามมาด้วย นูบาร์ อาเฟยัน ประธานบริษัท Moderna มีทรัพย์สินสุทธิ 1.9 พันล้านดอลลาร์ ต่อด้วย ฮวน โลเปซ เบลมอนเต ประธานอาร์โอวีไอ บริษัทผลิตและบรรจุวัคซีนให้ Moderna ทรัพย์สินสุทธิ 1.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วน โรเบิร์ต แลงเกอร์ นักวิทยาศาสตร์และนักลงทุนผู้ก่อตั้ง Moderna ทรัพย์สินสุทธิ 1.6 พันล้านดอลลาร์
ฝั่งประเทศจีนก็มี จู เถา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะนักวิทยาศาสตร์จาก CanSino Biologics ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายแรก ๆ ใน Moderna ก็กลายเป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์สินสุทธิ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วย ฉี ตงซู ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานอาวุโส CanSino Biologics มีทรัพย์สินสุทธิ 1.2 พันล้านดอลลาร์ และ เหมา ฮุ่นหัว ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานอาวุโส มีทรัพย์สินสุทธิ 1 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวมองว่า การสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วนี้ได้เน้นให้เห็นถึงความ ไม่เท่าเทียมกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาด เนื่องจาก มหาเศรษฐีใหม่ทั้ง 9 คนมีมูลค่ารวมกัน 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอที่จะ ฉีดวัคซีนให้กับผู้คน 780 ล้านคน ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ
“มหาเศรษฐีเหล่านี้ได้ผลกำไรมหาศาล เนื่องจากบริษัทยาหลายแห่งกำลังทำการ ผูกขาดวัคซีนเหล่านี้ ทั้งที่วัคซีนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนสาธารณะของประชาชน ดังนั้น วัคซีนควรเป็นสินค้าสาธารณะแก่ทั่วโลกก่อน ไม่ใช่โอกาสในการทำกำไรส่วนตัว“ แอนนา แมริออท ผู้จัดการนโยบายสุขภาพของ Oxfam กล่าว
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 87% ของปริมาณวัคซีนได้ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำได้รับเพียง 0.2% ด้าน กีตา โกปินาท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า การฉีดวัคซีน 60% ของประชากรทั่วโลกภายในกลางปี 2022 จะมีค่าใช้จ่าย 5 หมื่นล้านดอลลาร์
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ในการประชุมผู้นำสุขภาพโลก G20 มีการเรียกร้องให้ยกเลิกทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีน COVID-19 เป็นการชั่วคราว เพื่อส่งเสริมการผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน โดย ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เนื่องจากมองว่าจะช่วยขยายอุปทานทั่วโลกและลดช่องว่างการฉีดวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ขณะที่ เยอรมนี ได้โต้แย้งว่าการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญต่อนวัตกรรม และการยกเลิกสิทธิบัตรก็ไม่ช่วยอะไร เพราะกำลังการผลิตที่จำกัดรวมถึงวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม Albert Bourla ซีอีโอของ Pfizer กล่าวในระหว่างการประชุมสุดว่า บริษัทจะให้วัคซีน 2 พันล้านโดสแก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางในช่วง 18 เดือนข้างหน้า โดย Pfizer คาดว่ายอดขายวัคซีนจะมีมูลค่ารวมประมาณ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี โดยมีอัตรากำไร 30% ส่วน สเตฟาน แบนเซล ซีอีโอ Moderna กล่าวว่า Moderna ยินดีที่จะอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาแก่บริษัทอื่น ๆ ในช่วงหลังการแพร่ระบาด