เศรษฐกิจไทยอ่วมหนัก ฟื้นตัวช้าลงอีก เจอโควิดระลอก 3 ลากยาว คาดใช้เวลาคุมการเเพร่ระบาดถึง 4 เดือน SCB EIC ปรับลดจีดีพีปีนี้โต 1.9% ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 4 เเสนคน การบริโภคหาย 3.1 แสนล้านบาท ห่วงอัตราว่างงานพุ่ง SMEs เเบกภาระไม่ไหว หนี้ครัวเรือนจ่อ 91% คนหากู้เพิ่ม กระตุ้นรัฐเร่ง ‘ฉีดวัคซีน’ หาทางออก
ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ว่า มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.9% ปรับลดจากประมาณการเดิมที่ 2% จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่
“คาดว่ายอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งมากกว่า 100 รายต่อวันไปอีกหลายเดือน ในกรณีฐาน (base) อาจจะใช้ต้องเวลากว่า 4 เดือน (เมษายน–กรกฎาคม) ในการควบคุม ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงกว่า 3.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.9% ของจีดีพี ทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึกขึ้น”
ภาคท่องเที่ยวอาการ ‘สาหัส’
EIC ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 ลง จาก 1.5 ล้านคน เหลือเพียง ‘4 แสนคน’ เนื่องจากแนวนโยบายการเปิดประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เข้มงวดมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ หลายประเทศยังระวังการให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศ เพราะกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่
เหล่านี้ซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ประกอบกับอัตราการระบาดในประเทศที่มีต่อเนื่อง ก็ทำให้คนเดินทางน้อยลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ก็ลดลงมาก
“หลังจากการระบาดระลอกใหม่ คาดว่าจะมีอัตราการเข้าพักโรงแรมเเค่ 21% ประชาชนการเดินทางในประเทศทั้งปี 80.4 ล้านทริป ส่งผลให้เกิดความเสียหายราว 1 แสนล้านบาท”
จับตาว่างงานพุ่ง รายได้ลดลงเรื่อยๆ
อัตราว่างงานท้ังประเทศ ‘เพิ่มขึ้นอีกครั้ง’ ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยล่าสุดจำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงกว่าช่วงล็อกดาวน์ปี 2020 แล้ว ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณอ่อนเเอลงของตลาดแรงงาน ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับอัตราการว่างงาน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัว 1.96% เป็นตัวเลขก่อนการระบาดระลอกใหม่ช่วงเดือนเมษายน ดังนั้น จึงคาดว่าในไตรมาส 2 ผลกระทบการว่างงานจะรุนแรงขึ้น
“ประเด็นที่น่าจับตามองคือ พบว่าผู้ที่มีงานทำ มีอัตราการทำงานต่อชั่วโมงลดลง มีคนที่ยังทำงานเเต่ไม่ได้รายได้มากขึ้น และการทำโอทีก็มีสัญญาณลดลงเรื่อย ๆ โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยไตรมาส 1 ลดลงกว่า 1.8%”
ด้านการจ้างงานภาพรวม เเม้ในไตรมาสเเรกของปี จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.4% จากเเรงหนุนภาคเกษตรและการก่อสร้าง ซึ่งเป็นภาคที่มีรายได้แรงงานต่ำกว่า ขณะที่สาขาธุรกิจอื่นๆ มีการจ้างงานลดลง
ส่วนรายได้รวมจากการทางานของลูกจ้างเอกชน ในไตรมาส 1/2564 หดตัวลงถึง -8.8% โดยเป็นการหดตัวในทุกสาขาธุรกิจสาคัญนอกภาคเกษตร ทั้งในส่วนที่เป็นค่าจ้างและรายได้จากการทาโอทีและโบนัส
สำหรับประกาศจ้างงานออนไลน์ใน Jobsdb ลดลงในทุกสาขาธุรกิจจากการระบาดระลอก 3 โดยลดลงมากในธุรกิจประเภท face-to-face อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวกลับมาบ้างในเดือน พ.ค. แต่ภาพรวมยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด-19
“จำนวนประกาศหางานลดลงในทุกประเภทหลังระลอก 3 ต่างจากในระลอก 2 ที่งานในบางภาคบริการที่ไม่รวมท่องเที่ยวยังคงเติบโต”
หนี้ครัวเรือนจ่อ 91% เศรษฐกิจไม่ดี คนหากู้เพิ่ม
สำหรับสถานการณ์ ‘หนี้ครัวเรือน’ คาดว่าไตรมาส 1 ของปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเเตะถึง 91% จากไตรมาส 4 ของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 89.3%
โดยยังคงขยายตัวจากมาตรการพักชำระหนี้ จากนั้นจะทยอยลดลง แต่จะยังอยู่ในระดับสูง เสี่ยงต่อภาวะ ‘Debt Overhang’ เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
ข้อมูล Google Trends ระบุว่า ผู้บริโภคค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ เงินกู้ สินเชื่อ การกู้เงิน ฯลฯ มากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา “ความต้องการสินเชื่อของประชาชนยังมีอยู่มากในช่วงเศรษฐกิจซบเซา เพราะรายได้ฟื้นตัวช้าบางส่วนอาจจะหันไปกู้หนี้นอกระบบ”
ด้านระดับหนี้สาธารณะของไทย มีโอกาสเกินเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ในปี 2564 หากรวมเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท
EIC ประเมินว่า การกู้เพิ่ม มีความจำเป็นเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และหนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ภายใต้เงื่อนไขการปรับ fiscal consolidation ในระยะข้างหน้า
“ภาครัฐควรสื่อสารกับสาธารณะถึงความจำเป็น บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และควรมีแผนจัดการลดระดับหนี้สาธารณะที่ชัดเจนในระยะปานกลาง”
ส่งออกยังช่วยพยุง
เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมี ‘ปัจจัยสนับสนุน’ จากภาคการส่งออก ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศที่พพัฒนาแล้วที่ได้รับวัคซีนเร็ว
สำหรับการส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้ดี เช่น สินค้าเกษตร และน้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าในปีนี้การส่งออกจะขยายตัว 15% จากเดิมที่คาดไว้ 8.6%
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ วงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่เพิ่งออกมาใหม่ ทำให้คาดว่าภายในปีนี้รัฐจะใช้เม็ดเงินบางส่วนลงในระบบเศรษฐกิจราว 1 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
EIC มองว่า การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุน เครื่องมือเครื่องจักรที่จะฟื้นตัวตามภาคการส่งออก แต่การลงทุนภาคก่อสร้างยังมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง
คาดคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี
ด้านมุมมองภาวะการเงินไทยโดยรวม ยังคงผ่อนคลายสอดคล้องกับทิศทางภาวะการเงินโลก ปัจจัยหลักๆ มาจากการฟื้นตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ และเงินบาทที่อ่อนค่า
EIC คาดเงินบาท ณ สิ้นปี 2021 มีแนวโน้มอ่อนค่า อยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า เนื่องจากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น (ยุโรป) จะทยอยเร่งตัวขึ้นในไตรมาสต่อไป ขณะที่การฟื้นตัวของสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอลง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายในประเทศไทยจะเป็นแรงกดดัน ด้านอ่อนค่าต่อเงินบาท ทั้งจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลครั้งแรกในรอบ 8 ปี
EIC คาดว่า ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปี 2564 ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ
อาจมีการยืดระยะเวลาของมาตรการเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดค่าธรรมเนียมของกองทุนฟื้นฟู FIDF และการผ่อนคลายการจัดชั้นคุณภาพสินเชื่อให้กับสถาบันการเงิน พร้อมติตดามประสิทธิผลของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ในการเพิ่มสภาพคล่องแก่ SMEs
สินเชื่อภาคธุรกิจชะลอลงในไตรมาสเเรก โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ที่ชะลอลงจากฐานสูงปีที่แล้ว ขณะที่สินเชื่อที่วงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาทติดลบน้อยลง ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 5.3% โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคล
ด้านอัตราเงินเฟ้อจะมีระดับสูงในช่วงไตรมาส 2 แต่จะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี เมื่อฐานราคาน้ำมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงนัก
“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเกิด Permanent Output loss ขนาดใหญ่ เนื่องจากภาคท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวช้าและผลของแผลเป็นเศรษฐกิจ ดังนั้นการเร่งฉีดวัคซีนและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น และมี output loss น้อยลง”
จากผลกระทบจากการระบาดในประเทศที่นานกว่าคาด เเละแนวโน้มการฟื้นตัวช้า EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้อีกครั้งในช่วงต้นปี 2566
- ลดลงอีก! ราคาอสังหาฯ ร่วงหนักสุดในรอบเกือบ 4 ปี คนดูบ้านตัดสินใจซื้อนานเกิน 1 ปี
- ผู้ผลิตวัคซีน อาจโกยรายได้ปีนี้ เกือบ 6 ล้านล้านบาท ‘ซิโนฟาร์ม-ซิโนแวค’ สัดส่วน 25%