App Economy

ในปี 2554 จำนวน 1 ใน 5 ของโทรศัพท์มือถือที่ขายในโลก คือ สมาร์ทโฟน ส่วนในประเทศไทยมีการประเมินกันว่า 30% ของมือถือที่จะขายจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือประมาณ 3 ล้านเครื่องจาก 10 ล้านเครื่อง เฉลี่ย 1 ใน 3 เครื่องเป็นสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้แท็บเล็ตที่มีผู้เล่นหลักอย่างไอแพด และคู่แข่งอื่นที่ใช้แอนดรอยด์ และวินโดวส์ โมบายล์ 7 ก็จะทำตลาดเต็มที่ด้วยยอดขายอีกไม่ต่ำกว่าหลักแสนเครื่อง

นี่คือโอกาสของคอนเทนต์ต่างๆ ที่จะขายผ่าน “แอพพลิเคชั่น” ผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ที่ขยับตัวลงมาถึงลูกค้าทั่วไปมากขึ้นจนอุตสาหกรรมแอพฯกลายเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ในโลกไอที เป็น App Economy ที่เป็นจริงหลังจากรอเวลามาหลายปี และแอพฯจะมีเนื้อหาที่หลากหลายและทำเงินได้มากขึ้นเพราะคนใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต หากไม่มีแอพฯก็เท่ากับเครื่องที่ซื้อมานั้นไร้ประโยชน์ เหมือนบ้านที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

ที่ผ่านมาแอพฯที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุด คือแอพฯ ฟรี คือเฟซบุ๊ก และกูเกิลเอิร์ธ ส่วนแอพฯที่มีการจ่ายตังค์กันมากที่สุดคือแอพฯเกี่ยวกับเกม ที่เฉลี่ยกว่าครึ่งของคนใช้สมาร์ทโฟนจะดาวน์โหลดเกม เฉลี่ยคนละ 9 เกม แม้ 4 ใน 5 เป็นเกมฟรี แต่เฉลี่ยก็จ่ายคนละ 7 เหรียญสหรัฐ แต่ต่อไปนี้แอพฯที่มาแรงคือแอพฯสุขภาพและแอพฯเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ นอกเหนือจากแอพฯที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

แอพฯเกี่ยวกับสุขภาพ Health-related Apps อย่าง Sleep On It ที่ Trendwatching นำมาเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงแทรนด์ของแอพฯในปี 2554 เป็นแอพฯช่วยให้ผู้ใช้ตรวจสอบรูปแบบการนอนของตัวเองได้ ซึ่งจะมีเครื่องมือที่บอกว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่รบกวนการนอนหลับ และนอนหลับนานแค่ไหนถึงจะพักผ่อนเพียงพอในแต่ละคืน และจะทำการวิเคราะห์ว่า การนอนหลับส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและคุณภาพของชีวิตอย่างไร

Research2Guidance ทำการสำรวจแล้วพบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2010 มี Health-related Apps ที่พร้อมให้ดาวน์โหลดใน App Stores สำคัญๆ อยู่ประมาณ 17,000 Apps โดยที่ 57% ของ Apps เหล่านี้สร้างสรรค์มาเพื่อการใช้งานของผู้บริโภคทั่วไป ไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพทางการแพทย์ แต่กลับน่าประหลาดใจ ที่คอนซูเมอร์ส่วนใหญ่ที่ใช้ Health-related Apps นี้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ประมาณ 15% ของกลุ่มผู้บริโภคอายุ 18 – 29 ปีมี Apps นี้ในสมาร์ทโฟน ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 30 – 49 ปี ใช้ Apps เกี่ยวกับสุขภาพนี้เพียง 8% เท่านั้น

สำหรับเมืองไทย ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่ายต่างมีทีมในการพัฒนาแอพฯอย่างจริงจังและเป็นธุรกิจที่หวังทำเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่ายทรู คอร์ปอเรชั่นค่ายดีแทค และเอไอเอส แอพฯที่พยายามถูกผลักดันให้ถึงมือผู้บริโภคยังเป็นแอพฯเกี่ยวกับบันเทิง เช่น รายการบันเทิงต่างๆ และที่กำลังจะมาคือแอพฯเกี่ยวกับวิดีโอต่างๆ อย่างเช่นแอพฯ ของค่ายเนชั่นเกี่ยวกับการทำอาหาร แอพฯอำนวยความสะดวกในการทำงาน อย่างเช่น การซื้อขายหุ้น และแอพฯในชีวิตประจำวันอย่างการหาจุด Wi-Fi และที่กำลังคึกคักคือแอพฯเกี่ยวกับการอ่านหนังสือทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์

นอกจากนี้โอกาสยังเป็นของแบรนด์หรือธุรกิจที่อยากใช้แอพฯช่วยสร้างแบรนด์ และเพื่อ Engage กับลูกค้า แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือแอพฯนั้นต้องช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้ลูกค้าด้วย เมื่อ App Economy เติบโต จึงเป็นโอกาสของนักพัฒนาหรือ Developer ที่จะเข้าไปสู่ตลาดนี้เพราะไม่เพียงตลาดเมืองไทยเท่านั้น

แต่ยังมีโอกาสในตลาดโลก จากสถิติที่ผ่านมายังชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจนี้เติบโตแรง โดยเพียง 6 เดือนแรกของปี 2553 ที่ผ่านมาตลาดนี้ก็มีมูลค่าถึง 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทั้งปีของปี 2552 มีมูล ค่าเพยี ง 1,700 ล้านเหรียญสหรฐั โดยเฉลี่ยแอพฯที่เสียเงินราคาอยู่ที่ 3.60 เหรียญสหรัฐ รายได้โดยเฉลี่ยคนพัฒนาแอพฯจะได้ส่วนแบ่ง 70% ส่วนเจ้าของตลาดอย่างเช่น แอพสโตร์เก็บไป 30%