ไอแพดมากกว่า 3 หมื่นเครื่องที่อยู่ในกลุ่ม Early Adopter ในเมืองไทยแล้ว และอีกหลายหมื่น หรืออาจถึงแสนเครื่องที่คาดว่าจะตามมาในกลุ่ม MainStream และยังไม่นับรวมแท็บเล็ตแบรนด์อื่น ๆ ที่กำลังพาเหรดตาม”ไอแพด”กันมาจำนวนมาก ทำให้”แท็บเล็ต”กลายเป็นโปรดักส์สุดเทรนด์ เท่ห์ คนอยากได้ จนผู้เล่นต้องงัดกลยุทธ์การตลาดมาแข่งกันอย่างร้อนแรงในปี 2554 แต่หากวัดอุณหภูมิของไอแพดแล้ว ดูเหมือนว่าตลาดนี้ยังไม่มีใครแข็งแรงเท่าไอแพด
5 สัญญาณกระตุ้นตลาดแท็บเล็ต
1.นับตั้งแต่แอปเปิลเปิดจำหน่ายไอแพดที่อเมริกาและวางขายทั่วโลกเมื่อเดือนเมษายน 2553 ณ สิ้นเดือนกันยายนขายไปได้ 4.2 ล้านเครื่อง และสิ้นปีน่าจะทำยอดได้ 11-12 ล้านเครื่อง ในปี 2554 คาดว่ายอดขายจะกระโดดขายได้ถึง 45 ล้านเครื่อง โดยเฉพาะจากการเปิดตัวไอแพดรุ่นที่ 2 ที่ลือว่าจะเข้ามาทำตลาดในเดือนเมษายน 2554 ด้วยสเป๊กที่เหมือนไอโฟน 4 หรือเป็นไอโฟน 4 ยักษ์ ขนาด 7 นิ้ว ที่มี Facetime โทรคุยเห็นหน้า และจอแบบเรติน่าสวยกว่าไอแพดรุ่นแรก ยิ่งทำให้คนอยากได้ไอแพดมากขึ้น
2.”คนอยากได้” ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งของแอปเปิลในการสร้างความต้องการให้ตลาด โดยไม่รอให้ตลาดต้องการแล้วค่อยออกสินค้า ตามคอนเซปต์ที่”สตีฟ จ๊อบส์” ยึดถือในการทำธุรกิจ และความอยากได้นี้แผ่ไปถึงตลาดที่กว้างขึ้น กลายเป็นความอยากได้สินค้าที่หน้าตาเหมือนไอแพด แต่เป็นแบรนด์อื่นก็ได้ ถ้าสเป๊กถูกใจกว่าและราคาย่อมเยาว์กว่า เหมือนอย่างที่ไอโฟนเคยสร้างปรากฎการณ์ให้กับทัชโฟน จนทำให้แบรนด์มือถืออื่น ๆ มีโอกาสมากขึ้นในตลาดสมาร์ทโฟน
3.ผู้เล่นในตลาดนี้มีมากขึ้น เพราะความต้องการมากขึ้น ตลาดแท็บเล็ตจึงถูกกระตุ้นจากทั้งแบรนด์ ดีไซน์หลายรูปแบบ และกลยุทธ์การตลาด จากค่ายผู้ผลิตทั้งโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ และผู้ผลิตสมาร์ทโฟน โดยมีระบบปฎิบัติการหลัก ๆ อย่างแอนดรอย์ด แบล็กเบอรี่ วินโดวส์ โมบายล์ 7 ให้เลือก
4.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตื่นตัวเร็ว และแรง เพราะมองเห็นช่องทางเก็บเกี่ยวรายได้จากหน้าจอนี้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเกมส์ นิตยสาร หนังสือ และคอนเทนท์บันเทิงอื่น ๆ เมื่อมีคอนเทนท์ให้คนถือแท็บเล็ตได้เล่นมากขึ้น ทำให้จากสินค้าไอที ก็กลายเป็น Gadget ที่คนขาดไม่ได้และติดหนึบอยู่ด้วยตลอดวัน
5.ความเท่ห์ของผู้ถือ มีผู้ซื้อแท็บเล็ต โดยเฉพาะไอแพดจำนวนมากที่ต้องการเป็น Trend Setter ยอมจ่ายสูงเพื่อเครื่องหิ้ว หรือในเกรย์มาร์เก็ต เพื่อใช้เป็นกลุ่มแรก ๆ และความเท่ห์นี้เริ่มกระจายลงมาในกลุ่มอื่นๆ ที่อยากเท่ห์ตาม ตราบเท่าที่แท็บเล็ตยังเป็น Gadget ที่ใหม่ล่าสุดในตลาดเวลานี้
ไอแพดจะชนะอีกรอบด้วย MainStream
หากพูดถึงว่าแบรนด์ใดจะเป็นผู้ชนะในตลาดแท็บเล็ตไม่เพียงแค่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแอปเปิลอย่าง “ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข” ประธานบริษัท คอปเปอร์ไวร์ด จำกัด เท่านั้น ในแวดวงสินค้าไอทีต่างบอกว่าแน่นอนต้องเป็นไอแพด เพราะเป็นผู้สร้างตลาดนี้ จากที่ไม่เคยมีสินค้านี้อยู่ในตลาดมาก่อน ส่วนแบรนด์อื่น ๆ คือผู้ที่ตามมา และดูเหมือนจะล่าช้ากว่าไอแพดมาก
เมืองไทยเปิดตัวไอแพดช้ากว่าตลาดโลกประมาณ 6 เดือน แต่จนขณะนี้แบรนด์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นซัมซุง โตชิบา และเดลล์ ที่ประกาศทำตลาดในเมืองไทยมาก่อนหน้านี้ 2 เดือน ก็ยังเงียบอยู่
สำหรับไอแพดแล้วเมื่อถึงเวลาขายอย่างเป็นทางการในเมืองไทยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 แม้กลุ่ม Early Adopter มีเครื่องใช้กันหมดแล้ว ทั้งซื้อจากต่างประเทศ และซื้อจากเกรย์มาร์เก็ต แต่ความต้องการของลูกค้าทั่วไปในกลุ่ม MainStream ก็มีอยู่ แม้แถวไม่ยาว เพราะร้าน iStudio 44 สาขาเปิดจำหน่ายพร้อมกัน แต่ความต้องการก็มีมาตลอดวัน ด้วยจำนวนที่”ปรเมศร์” บอกว่าในวันแรกของการจำหน่ายมั่นใจว่ายอดขายได้เป็นหลักพันเครื่องแน่นอน
ยอดขายที่ยังคงมีอยู่สำหรับไอแพด เพราะ Positioning ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คือเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ระหว่างเน็ตบุ๊กและสมาร์ทโฟน ช่วยให้ลูกค้าสะดวกในการพกพา และเชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ต และการบริโภคข้อมูลข่าวสารอย่างการอ่านนิตยสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงดูหนังฟังเพลง เล่นเกม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาถูกกว่าเกรย์มาร์เก็ต ด้วยราคาเครื่องสเป๊กต่ำสุด(16 GB WiFi ที่ราคา 15,900 บาท) จึงทำให้ลูกค้าเดินเข้ามาได้ง่ายขึ้น
“ราคานี้หมื่นกว่า ไม่ถึง 2 หมื่นสำหรับสินค้า ITGadget แล้ว ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย” นั่นคือเหตุผลที่”ปรเมศร์” มั่นใจว่าไอแพดจะทำยอดขายให้คอปเปอร์ไวร์ดสูง รองจากไอพอด และอาจสูงกว่าไอโฟน
ตลาดใหม่ที่”ปรเมศร์” จะต้องบุกต่อไปคือกลุ่มลูกค้าองค์กร และกลุ่มสถาบันการศึกษา ที่เคยใช้เน็ตบุ๊กหรือโน้ตบุ๊ก เพราะไอแพดสามารถตอบโจทย์ทั้งไลฟ์สไตล์ส่วนตัวและทำงานได้ กลุ่มนี้หากถือไอแพดกันมากขึ้น นั่นหมายถึงความแน่นอนในการเป็นผู้ชนะในตลาดนี้
คอนเทนท์สิ่งพิมพ์ บันเทิงพร้อมหนุน
หากประเมินกองทัพหนุนแล้ว ต้องบอกว่ไอแพดมีกองกำลังสนับสนุนมากที่สุด จากคอนเทนท์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาด รวมไปถึงนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ต่างเทกำลังไปบนจอไอแพด เพราะต่างมั่นใจว่าไอแพดคือตลาดใหญ่ที่สุดในแท็บเล็ต ขณะที่แท็บเล็ตแบรนด์อื่น ๆ บนโอเอสแอนดรอยด์ยังต้องรอเวลาว่าจะทำตลาดได้ลูกค้ามากเพียงใด เพราะจนบัดนี้แบรนด์อื่นๆ หวังยอดขายกันแค่เดือนหนึ่งในหลักไม่กี่ร้อยเครื่องเท่านั้น
นิตยสาร Mars ทำแอพฯขึ้นไอแพด 2 เล่มที่ผ่านมา มีคนโหลดแอพฯแล้วในหลักหมื่น ค่ายเดอะเนชั่น มีแอพฯรายการทำอาหารมีคนโหลดบนไอแพดแล้ว 4 หมื่น นสพ.เดอะเนชั่นมีคนโหลดในหลักพัน นอกจากนี้ค่ายนิตยสารอย่างอมรินท์ ค่ายจีเอ็ม แม้จะยังไม่เป็นแม็กกาซีนดิจิตอลเต็มตัว เป็นแค่ Pdf file แต่ก็กระโดดเข้ามาเป็นแอพฯหนึ่งบนชั้นแม็กกาซีนไอแพดแล้ว
ผู้ตามอีกเพียบช่วยนับถอยหลังเน็ตบุ๊ก
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 คู่แข่งไอแพดเริ่มเปิดตัวแท็บเล็ตในตลาดโลกรวมประมาณ 20 แบรนด์ แต่สำหรับเมืองไทยแล้วแบรนด์ไทยอย่างเวลคอมเปิดตัวก่อน เป็นแท็บเล็ตบนระบบปฎิบัติการแอนดรอย์ด แต่มาเร็วเงียบเร็ว จากนั้นจึงมีแบรนด์อื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะแบรนด์ในย่านเอเชีย
ซัมซุงเปิดตัวแกแลกซี่ แท็บ ขนาดหน้าจอ 7 นิ้ว ที่โปรโมทลดจุดอ่อนของไอแพดทั้งขนาดพกพาสะดวกกว่าไอแพดที่ใหญ่กว่าที่ 9.7 นิ้ว มีกล้องและโทรศัพท์ได้ แต่การติดขัดจากการนำเข้า ทำให้แกแลกซี่ แท็บ ยังคงเป็นแค่ใบจอง มีคนถือเล่นให้เห็นดูเท่ห์ไม่มากนัก ทำให้การโปรโมทก่อนหน้านี้กลายเป็นการกระตุ้นตลาดแท็บเล็ตโดยรวมมากกว่า
นอกจากซัมซุงแล้ว ค่ายอื่น ๆ ที่เริ่มโปรโมท ก็ชูเรื่องไซส์จอเป็นหลักก่อนที่จะพูดถึงสเป๊กเพราะส่วนใหญ่ต่างทำงานบนแอนดรอยด์เช่นเดียวกับซัมซุง อย่างโตชิบามาด้วยไซส์ 10.1 นิ้ว จอกว้าง เพื่อเน้นอรรถรสชัดเจนสำหรับเจ้าของว่าเหมาะสำหรับความบันเทิง โดยเฉพาะการดูหนัง และเดลล์กับขนาด 5 นิ้ว ที่หวังให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อด้วยความรู้สึกว่าอยากได้สมาร์ทโฟนบวกกับแท็บเลต ส่วนค่ายเอเซอร์มาด้วย 2 ขนาด คือ 7 นิ้ว และ 10.1 นิ้ว มีให้เลือกทั้งแอนดรอยด์ และวินโตวส์โมบายล์ 7 และที่รอกันมากคือเพลย์บุ๊กของค่าย RIM โดยเฉพาะสาวกบีบีที่จะได้ใช้จอสัมผัสเสียที หลังจากกด QWERTY แช้ตกันมานาน
นี่คือการขยับของสินค้า Gadget ที่ทุกค่ายต่างเห็นตรงกันว่าตลาดมีความต้องการ โดยไม่ได้มีไว้เป็นเครื่องแรก หรือเครื่องเดียวของลูกค้า แต่จะเป็นเครื่องที่สองที่ผู้บริโภคมีไว้ใช้งานง่าย ๆ โดยมีหลากหลายเซกเมนต์ ซึ่งสุดท้ายสินค้าที่จะได้รับผลกระทบและรอวันนับถอยหลังปิดฉากคือเน็ตบุ๊ก ที่วันหนึ่งเคยเป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรง ส่วนแท็บเล็ตจะเหมือนเน็ตบุ๊กหรือไม่นั้น จากเทรนด์วันนี้กับความเชื่อมั่นที่หลายคนยังมีต่อแอปเปิล และการเดินตามอย่างมาเต็มที่ของแท็บเล็ตแบรนด์อื่น ๆ อย่างที่เห็น ในปีหน้าจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นของตลาดแท็บเล็ต ที่ยังจะมีเรื่องสนุกและสีสันการตลาดรอให้ติดตามอีกมากอย่างแน่นอน
แบรนด์แท็บเล็ตที่ผู้ถูกสำรวจต้องการซื้อ | |
แอปเปิล (ไอแพด) | 52% |
เดลล์ | 11% |
RIM แบล็กเบอร์รี่ | 10% |
ซัมซุง | 9% |
ไมโครซอฟท์ | 8% |
เอชพี | 6% |
แอลจี | 4% |
ที่มา : ผลสำรวจจากอังกฤษ 3,000 คน โดย Onepoll |