กลุ่ม G7 หนุนชาติต่างๆ เก็บภาษีรายได้ทางออนไลน์ขั้นต่ำ 15% บ.เทคข้ามชาติกระทบแน่

(Photo by Stefan Rousseau-WPA Pool/Getty Images)
พวกบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ อย่าง กูเกิล, แอมะซอน, เฟซบุ๊ก ได้รับผลกระทบแน่นอน จากการที่กลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (G7) ตกลงเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนให้ทั่วพิภพจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุด 15% เพื่อป้องปรามการที่บริษัทนานาชาติทั้งหลายหลีกเลี่ยงภาษี ด้วยวิธีการโยกย้ายเอาผลกำไรไปไว้ในหมู่ประเทศซึ่งเก็บภาษีอัตราต่ำๆ

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G7 ณ กรุงลอนดอนคราวนี้ ยังรับรองข้อเสนอที่จะทำให้พวกบริษัทใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรวมไปถึงประดาเทคยักษ์ใหญ่ที่มีรากฐานอยู่ในสหรัฐฯ ด้วย ต้องจ่ายภาษีในประเทศต่างๆ ที่พวกเขาทำยอดขายรายรับทางออนไลน์ได้มากมาย ทว่าไม่ได้มีสำนักงานแบบตัวเป็นๆ ตั้งอยู่

พวกกลุ่มรณรงค์เรียกร้องเรื่องนี้หลายๆ กลุ่ม ยังคงมีความเห็นว่า สิ่งที่ขุนคลัง G7 ตกลงกันได้นี้ยังคงไม่เพียงพอ เป็นต้นว่า องค์การการกุศล “ออกซ์แฟม” บอกว่า อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำสุดซึ่งเห็นพ้องกันอยู่ที่ระดับ 15% นั้น “ต่ำเกินไปนักหนา” จากที่จะสามารถสร้างความแตกต่างอะไรขึ้นมาได้

สำหรับรัฐมนตรีคลังสหราชอาณาจักร ริชิ สุนัค ผู้เป็นเจ้าภาพการประชุมหนนี้ เขาแถลงว่าข้อตกลงที่โอเคกันได้คราวนี้ จะ “ปฏิรูประบบภาษีทั่วโลก เพื่อทำให้มันเหมาะสมสอดคล้องกับยุคดิจิตอลโลก และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำให้ระบบภาษีมีความยุติธรรม ให้บริษัทที่ถูกต้องสมควร ต้องจ่ายภาษีที่ถูกต้องสมควร ในสถานที่ซึ่งถูกต้องสมควร”

ด้านรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเนต เยลเลน กล่าวว่า ดีลที่ผ่านจากกลุ่ม G7 นี้ “เป็นการสร้างโมเมนตัมอย่างมหาศาล” สำหรับการทำข้อตกลงระดับทั่วโลกให้สำเร็จ ซึ่ง “จะยุติการแข่งขันกันเพื่อกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลให้ลงต่ำที่สุด และก็เป็นการรับประกันให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นผู้ใช้แรงงานในสหรัฐฯ และทั่วทั้งโลก”

Photo : Shutterstock

ชาติต่างๆ กำลังปลุกปล้ำหาทางกันมาเป็นแรมปีแล้ว สำหรับจัดการกับคำถามที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะป้องปรามพวกบริษัทต่างๆ ไม่ให้หลีกเลี่ยงการชำระภาษีแบบถูกต้องตามกฎหมายซึ่งใช้ในปัจจุบัน ด้วยการใช้แผนอุบายทางบัญชี และทางกฎหมายที่ยักย้ายรายรับผลกำไรของพวกตนไปยังกิจการสาขาซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งหลบภัยภาษี

อันมักหมายถึงพวกประเทศเล็กๆ ซึ่งจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างๆ ในอัตราต่ำ หรือกระทั่งไม่เก็บเลย ถึงแม้วิสาหกิจเหล่านี้แทบไม่ได้มีกิจการธุรกิจอะไรจริงๆ ที่นั่น การถกเถียงอภิปรายระดับนานาประเทศว่าด้วยประเด็นปัญหาภาษีเช่นนี้ บังเกิดความคึกคักและดูมีทางตกลงกันได้ขึ้นมา หลังจาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ หนุนหลังไอเดียเรื่องให้ทั่วโลกกำหนดอัตราภาษีต่ำสุดอย่างน้อยที่สุด 15% จากผลกำไรของภาคบริษัท

การหารือของเหล่ารัฐมนตรีคลังนี้ มีขึ้นก่อนหน้าการประชุมซัมมิตประจำปีของบรรดาผู้นำชาติ G7 ซึ่งปีนี้กำหนดจัดระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย. ในเทศมณฑลคอร์นวอลล์ อังกฤษ ของสหราชอาณาจักร การรับรองจากกลุ่ม G7 น่าจะช่วยสร้างโมเมนตัมให้เกิดดีลขึ้นได้ ทั้งในการเจรจาระหว่างชาติต่างๆ มากกว่า 135 ชาติซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส และทั้งในการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 ที่กำหนดจัดขึ้นในเมืองเวนิส อิตาลี เดือนกรกฎาคมนี้

มานัล คอร์วิน หุ้นส่วนระดับหัวหน้าทางด้านภาษี ของเคพีเอ็มจี บริษัทสอบบัญชี และบริการทางวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งเธอยังเคยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ด้วย ให้ความเห็นว่า การประชุมขุนคลัง G7 ครั้งนี้ สร้างความชัดเจนขึ้นมาว่า พวกประเทศสำคัญๆ เหล่านี้มีจุดยืนอย่างไรในประเด็นปัญหาหลักๆ จำนวนมาก รวมทั้งเรื่องอัตราขั้นต่ำ 15%

“การส่งสัญญาณว่ามีความเห็นเป็นฉันทามติกันแล้วในด้านหลักๆ บางประการของสิ่งที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในทั่วโลกเวลานี้ เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เพื่อทำให้เกิดโมเมนตัมสำหรับการเข้าสู่ระยะต่อไปของเรื่องนี้ ในที่ประชุม G20”

(Photo by Sean Gallup/Getty Images)

ข้อเสนอด้านภาษีที่ผ่านการรับรองเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิ.ย. มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็นการเปิดทางให้ประเทศต่างๆ จัดเก็บภาษีจากส่วนของกำไรที่บริษัทต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีการปรากฏตัวทางกายภาพในประเทศของตน ทว่ามียอดขายมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างเช่น รายได้จากการขายโฆษณาทางดิจิตอล

ฝรั่งเศสถือเป็นผู้นำเปิดฉากการอภิปรายถกเถียงในประเด็นปัญหานี้ ด้วยการออกกฎหมายของตนเองเพื่อจัดเก็บภาษีบริการดิจิตอล จากรายรับต่างๆ ของพวกบริษัทอย่างเช่น กูเกิล, แอมะซอน, และเฟซบุ๊ก ซึ่งแดนน้ำหอมพิจารณาเห็นว่ามีขึ้นมาได้จากการทำธุรกิจในฝรั่งเศส ทว่าทางด้านสหรัฐฯ คัดค้านหนัก โดยมองว่าภาษีระดับชาติเช่นนี้เป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีลักษณะมุ่งเล่นงานเก็บภาษีจากพวกบริษัทอเมริกันเท่านั้น

ส่วนหนึ่งของข้อตกลงก็คือ ประเทศอื่นๆ จะเพิกถอนยกเลิกการจัดเก็บภาษีดิจิตอลฝ่ายเดียวของพวกตน เพื่อหันมายอมรับดีลในระดับทั่วโลก

ทางด้าน นิก เคล็กก์ รองประธานฝ่ายกิจการทั่วโลกของเฟซบุ๊ก แถลงว่า ข้อตกลงนี้เป็นก้าวเดินก้าวใหญ่ในเส้นทางมุ่งสู่การทำให้มีความแน่นอนทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อระบบภาษีทั่วโลก แต่เขายอมรับว่า มันอาจทำให้เฟซบุ๊กต้องจ่ายภาษีมากขึ้น

“เราต้องการให้กระบวนการปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศประสบความสำเร็จ และยอมรับว่าเรื่องนี้อาจหมายถึงว่า เฟซบุ๊กต้องจ่ายภาษีมากขึ้น และต้องจ่ายในหลายๆ สถานที่ต่างๆ กัน” เคล็กก์โพสต์ข้อความเช่นนี้ทางทวิตเตอร์

Photo : Shutterstock

คำแถลงของขุนคลัง G7 ที่ออกมาหลังการประชุม มีน้ำเสียงที่เป็นการสะท้อนข้อเสนอประการหนึ่งของสหรัฐฯ ที่เปิดทางให้ประเทศต่างๆ สามารถจัดเก็บภาษีจากส่วนหนึ่งของรายรับของ “พวกวิสาหกิจนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและทำกำไรได้มากที่สุด” ไม่ว่าจะเป็นกิจการดิจิตอลหรือไม่ก็ตาม ถ้าหากบริษัทเหล่านี้กำลังทำธุรกิจอยู่ภายในเขตแดนของประเทศเหล่านี้ สหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้ประเทศดังกล่าวเหล่านี้มีสิทธิที่จะจัดเก็บภาษีได้ในอัตรา 20% หรือกว่านั้นจากผลกำไรซึ่งเกิดขึ้นในท้องถิ่น ที่ล้ำเกินจากอัตราผลกำไรระดับ 10%

สำหรับส่วนหลักอีกส่วนหนึ่งของข้อเสนอนี้ ได้แก่ การที่ประเทศต่างๆ จะจัดเก็บภาษีผลกำไรในต่างประเทศซึ่งพวกบริษัทในบ้านเกิดของตนเองทำได้ ในอัตราขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุด 15% นี่จะเป็นการป้องปรามไม่ให้ใช้วิธีปฏิบัติ ซึ่งวางแผนอุบายทางการบัญชีเพื่อโยกย้ายผลกำไรไปยังพวกประเทศจัดเก็บภาษีต่ำสุดๆ ไม่กี่แห่ง เนื่องจากรายได้ซึ่งไม่ถูกจัดเก็บภาษีในต่างแดน ก็จะถูกนำมารวมเป็นรายได้ในประเทศที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และถูกเก็บในอัตราอย่างต่ำที่สุด 15% อยู่ดี

ในสหรัฐฯ นั้น ไบเดนกำลังเสนอให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 21% จากรายได้ในต่างประเทศของบริษัทต่างๆ อันเป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.5% – 13.125% ซึ่งตราเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่แม้กระทั่งว่าอัตราของสหรัฐฯ ลงท้ายแล้วสู่งกว่าอัตราขั้นต่ำสุดของโลก ความแตกต่างของเม็ดเงินภาษีที่เกิดขึ้นก็ยังจะเล็กน้อยมาก จนกระทั่งน่าจะสามารถกำจัดช่องโหว่ส่วนใหญ่สำหรับการหลบหลีกภาษีไปได้ ทั้งนี้ข้อเสนอของไบเดนยังต้องผ่านการอนุมัติออกเป็นกฎหมายจากรัฐสภาสหรัฐฯ

คอร์วิน แห่ง เคพีเอ็มจี บอกว่า ในคำแถลงสุดท้ายยังไม่ได้กล่าวถึงจุดสำคัญต่างๆ อีกหลายจุด เป็นต้นว่า คำนิยามของบริษัทนานาชาติ “ใหญ่ที่สุดและมีกำไรมากที่สุด” ซึ่งระบุเอาไว้ในข้อตกลงขุนคลัง G7 จะครอบคลุมไปถึงขนาดไหนแน่ๆ และมีวิธีการอย่างไรในการคุ้มครองไม่ให้บริษัทต่างๆ ถูกเก็บภาษีซ้ำซ้อน ถ้าหากประเทศต่างๆ มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องที่ว่าใครควรมีสิทธิเก็บภาษีจากพวกเขา จุดที่ละเอียดซับซ้อนเหล่านี้กำลังถูกส่งไปเป็นสิ่งที่การเจรจาของ G20 ตลอดจนการหารือในกรุงปารีสซึ่งจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) จะต้องถกเถียงกันต่อไป

Source