สรุปมาตรการเยียวยา ลูกจ้างเเละเจ้าของกิจการ “ร้านอาหาร-ก่อสร้าง” ช่วยจ่ายค่าแรง 50% นาน 1 เดือน รับเพิ่มหัวละ 2,000 บาท

เปิดเงื่อนไขมาตรการเยียวยาลูกจ้างเเละเจ้าของกิจการ ในธุรกิจ ‘ร้านอาหาร-ก่อสร้าง’ ทั้งในเเละนอกระบบประกันสังคม งบประมาณ 7,500 ล้านบาท

วันนี้ (28 มิ.ย. 64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบศ. เป็นการด่วน โดยมีมติออก ‘มาตรการพิเศษ’ เยียวยาลูกจ้างและเจ้าของกิจการในธุรกิจก่อสร้างและร้านอาหาร ที่ได้รับกระทบจากประกาศฉบับที่ 25 หลังมีคำสั่งปิดแคมป์คนงานเเละงดให้รับประทานอาหารในร้าน เป็นเวลา 1 เดือน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร เบื้องต้นดังต่อไปนี้

#ในระบบประกันสังคม

– กรณีลูกจ้าง ประกันสังคมและกระทรวงแรงงาน จะจ่ายชดเชยกรณีเหตุสุดวิสัยให้ 50% ของฐานเงินเดือน เเต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน นอกจากนี้จะยังได้รับ ‘เงินเพิ่มเติม” จำนวน 2,000 บาทต่อราย

– กรณีนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวของลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน (เช่น ถ้ามีลูกจ้าง 10 คน เจ้าของร้านจะได้รับ 30,000 บาท)

#นอกระบบประกันสังคม

ข้อมูลเบื้องต้นจะเป็นฐานข้อมูลที่อยู่ในระบบ “ถุงเงิน” เเละให้ร้านดำเนินการลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม

– กรณีลูกจ้าง จะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อหัว แต่จะไม่ได้เงินชดเชย 50% เนื่องจากจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน

– กรณีนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวของลูกจ้าง

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนผ่าน “ถุงเงิน” (หมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ได้ภายใน 1 เดือน โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะลงไปตรวจสอบ

การชดเชยดังกล่าว จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท เเบ่งเป็นงบของประกันสังคม 3,500 ล้านบาท และงบของรัฐบาลอีก 4,000 ล้านบาท (ในพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน) อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) ต้องรอคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบในหลักการการเยียวยาครั้งนี้ก่อน