Wednesday, October 30, 2024
Home HOT UPDATE คดี “แอชตัน อโศก” ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ก่อสร้าง “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” สั่งเพิกถอนใบอนุญาต

คดี “แอชตัน อโศก” ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ก่อสร้าง “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” สั่งเพิกถอนใบอนุญาต

แอชตัน อโศก
  • เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินในคดี “แอชตัน อโศก” ให้ยืนตามศาลปกครองกลาง ตึกแอชตัน อโศกทำการก่อสร้างโดย “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และ “สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง”
  • ทางอนันดาฯ ออกแถลงการณ์บริษัท ร้องหน่วยงานรัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อน เพราะเป็นผู้อนุมัติทำให้เกิดการก่อสร้างโครงการได้ และจะร่วมกับลูกบ้านขอเข้าพบผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ รฟม. เพื่อทวงถามความรับผิดชอบ

ข้อมูลจาก บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เปิดเผยผลคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จากคดีฟ้องร้องประเด็นการให้ใบอนุญาตคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก” ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากแอชตัน อโศก มีการใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นทางเข้าออกโครงการ (อ่านที่มาที่ไปโดยละเอียดได้ที่นี่)

เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ศาลปกครองกลางมีคำตัดสินออกมาว่า คดีนี้ รฟม. มีการอนุญาตให้แอชตัน อโศกใช้ที่ดินเป็นทางเข้าออกโดย “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้อนันดาฯ ไม่สามารถใช้ที่ดินของรฟม.ไปใช้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างตึกได้ และพิพากษาให้ “เพิกถอน” ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ก่อสร้างทั้งหมด 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับอาคารนี้ โดยมีผลย้อนหลัง

หลังจากนั้นคดีนี้มีการอุทธรณ์ต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด และล่าสุดในวันนี้ (27 กรกฎาคม 2566) อนันดาฯ แจ้งว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่ง “ยืนตาม” คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยมีรายละเอียดที่ส่งแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ดังนี้

“เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคําพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องผู้อํานวยการเขตวัฒนา ที่1 , ผู้อํานวยการสํานักการโยธา ที่ 2 , ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ที่ 3 , ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 4 , คณะกรรมการผู้ชํานาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ 5 (ผู้ถูก ฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด “บริษัทฯ” ซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง แต่ถูกเรียกเข้ามา ในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องสอด ในคดีหมายเลขดําที่ อส 67/2564 หมายเลข แดงที่ อส.188/2566

โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคําพิพากษา ยืนตามคําพิพากษาศาลปกครองกลาง บริษัทฯขอน้อมรับและ เคารพในคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามที่ได้วินิจฉัยไว้”

 

เรียกร้อง “หน่วยงานรัฐ” รับผิดชอบ ในฐานะผู้ให้อนุญาต

ในแถลงการณ์ดังกล่าวจากอนันดาฯ ยังมีข้อความต่อเนื่อง ทวงถามถึงความรับผิดชอบ เนื่องจากอนันดาฯ มองว่า การก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศกเกิดขึ้นได้ มาจากการให้อนุญาตของหน่วยงานรัฐเอง เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้จึงมองว่าหน่วยงานรัฐควรจะเป็นผู้เยียวยาความเดือดร้อนของลูกบ้าน

รวมถึงอนันดาฯ ยังแจ้งว่ากำลังประสานกับเจ้าของร่วมคอนโดฯ แอชตัน อโศกเพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อทวงถามความรับผิดชอบภายใน 14 วัน

โดยข้อความฉบับเต็มจากอนันดาฯ มีดังนี้

“กรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นสําคัญที่ว่า ที่ดินของ รฟม.ไม่อาจนํามาให้บริษัท ฯ หรือ เอกชนใช้ในการทําโครงการได้ จึงทําให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น บริษัท ฯ เห็นว่า ศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ และหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ เอกชน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเพื่อวางแนวหรือสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องชอบธรรม อีกทั้ง ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ รวมถึงฉบับปัจจุบันพุทธศักราช 2560 ในส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่รัฐจะอนุมัติหรืออนุญาตให้ผู้ใดทําการได้ก็จะต้องดําเนินการไปตามกฎหมายโดยรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องใช้อํานาจและทําหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับประชาชนหรือผู้ประกอบการ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังเกิดขึ้นเป็นคดีนี้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทําการเยียวยาในความเดือดร้อน เสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

ดังนั้น ผลแห่งคําพิพากษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทฯ เพราะ หากหน่วยงานราชการผู้มีอํานาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้วโครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ บริษัทฯจะเร่งรีบดําเนินการในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัท ฯ โดยเร็ว รวมทั้งบริษัทฯ จะดําเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และท่านเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายใน 14 วัน (สิบสี่) นับแต่วันนี้

บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่า การทําโครงการแอชตัน อโศก นั้น ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกําหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่างๆ รวมทั้งสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม อีกทั้ง การพิจารณาอนุมัติในการทําโครงการต่าง ๆ ยังได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ และภายใต้การกํากับ ควบคุม จากหน่วยงานของรัฐไม่ตํ่ากว่า 8 หน่วยงาน จึงเป็นที่เห็นประจักษ์และยืนยันได้ว่า บริษัทฯ ได้ดําเนินการไปด้วย ความสุจริต และชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้วทุกประการเท่าที่บริษัทฯจะทําได้ด้วยความเชื่อถือโดยสุจริตว่าการอนุมัติของหน่วยงานราชการทุกฝ่ายนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว บริษัท ฯ จึงใคร่ขอความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขป้องกันมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังเช่นคดีนี้ได้เกิดขึ้นอีก และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐได้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย”

ข้อความจากโพสต์บน Facebook ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก (ผู้ฟ้องคดี)

คดีนี้ถือเป็นคดีที่ร้ายแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย เนื่องจากโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จ โอนกรรมสิทธิ์ และเจ้าของร่วมได้ย้ายเข้าอยู่จริงมาแล้วกว่า 4 ปีก่อนที่จะมีคำตัดสินอันเป็นที่สุดของศาลดังกล่าวนี้ ต่างจากคดีอื่นๆ ที่มักจะมีการเพิกถอนใบอนุญาตหรือ EIA ในช่วงที่โครงการยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย จึงกระทบเฉพาะบริษัทเจ้าของโครงการ

ขณะที่คดีนี้คำตัดสินจะกระทบกับลูกบ้านกว่า 600 ครอบครัวที่ยังคงอาศัยอยู่ในคอนโดฯ และหลายรายผ่อนสินเชื่อบ้านกับธนาคาร ซึ่งลูกบ้านเคยถามคำถามล่วงหน้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2564 ว่า “หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามเดิม และอาจมีคำสั่งให้ทุบอาคารตามมา ผู้ซื้อจะยังต้องผ่อนสินเชื่อบ้านกับธนาคารต่อไปจนครบหรือไม่ ทั้งที่ห้องชุดกลายเป็นอากาศไปแล้ว”

 

อ่านข้อมูลย้อนหลังคดีแอชตัน อโศก