“THE MET” แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางมีคำตัดสินสั่งให้หยุดการก่อสร้างคอนโดฯ “125 สาทร” และเพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) และใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว ประเด็นสำคัญที่ถูกสั่งเพิกถอนคือ มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
นิติบุคคลอาคารชุด เดอะ เม็ท (THE MET) คอนโดมิเนียมหรูบนถนนสาทร ส่งจดหมายแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์แก่สื่อมวลชนให้ทราบว่า ขณะนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน EIA และการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ 125 สาทรเรียบร้อยแล้ว โดยข้อมูลที่ส่งให้กับผู้สื่อข่าวมีดังนี้
“คดีดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีโดยเจ้าของร่วมอาคารชุดเดอะ เม็ท (ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินผืนเดียวกัน) โดยนางสาวชิดชนก เลิศอำพรไพศาล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเดอะ เม็ท กล่าวว่า “เดอะ เม็ท ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ความเห็นชอบรายงาน EIA และการออกใบอนุญาตก่อสร้างสำหรับโครงการ 125 สาทร” โดยเดอะ เม็ท ได้กล่าวอ้างว่าเดิมนั้น เพบเบิล เบ ประเทศไทย ผู้พัฒนาโครงการเดอะ เม็ท เป็นเจ้าของที่ดินขนาด 10 ไร่ ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2547 เพบเบิล เบ ประเทศไทย ได้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็นสองแปลง ได้แก่ ที่ดิน 7 ไร่ สำหรับการก่อสร้างโครงการเดอะ เม็ท และที่ดิน 3 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่จะมีการก่อสร้างโครงการ 125 สาทร ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวเป็นของ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และหุ้นส่วนบริษัทญี่ปุ่นสองราย ได้แก่ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (Kanden Realty & Development Company Limited) และ บริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด (Toray Construction Company Limited)
เนื่องจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ใช้ในการขออนุญาตก่อสร้างโครงการเดอะ เม็ท ไปแล้ว ที่ดินทั้ง 10 ไร่ จึงอยู่ภายใต้การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ในคดีนี้ เดอะ เม็ท ได้กล่าวอ้างว่าแบบอาคารของ 125 สาทร มีขนาดใหญ่เกินกว่าขนาดอาคารที่กฎหมายกำหนด หลังจากหักพื้นที่ดินของเดอะ เม็ท ออกจากพื้นที่ 10 ไร่
คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้ซึ่งมีขึ้นภายหลังคำพิพากษาคดีคอนโดหรูหลายแห่ง รวมถึงแอชตัน อโศก แสดงให้เห็นว่าศาลได้ให้น้ำหนักมากขึ้นกับข้อกังวลและการดำเนินคดีของชุมชนแวดล้อมที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บดบังไปเสียหมด
ในคดีนี้ ศาลปกครองกลางได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายและมีคำสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบรายงาน EIA และใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการ 125 สาทร โดยมีผลย้อนหลัง ซึ่งคำพิพากษานี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้พิจารณาและหากลไกทางกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของชุมชนที่อยู่มาก่อนได้ดีกว่านี้เพื่อที่การฟ้องคดีเพื่อขอพึ่งบารมีศาลจะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีข้อยกเว้นมากกว่าที่จะเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันเป็นปกติ”
เปิดขายท่ามกลางความเสี่ยง
สำหรับโครงการ “125 สาทร” เป็นโครงการคอนโดมิเนียมหรู มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ออกแบบเป็น 2 ทาวเวอร์ สูง 36 ชั้น รวมห้องชุด 755 ยูนิต เปิดขายราคาเริ่มต้น 5.9 ล้านบาทต่อยูนิต ห้องชุดขนาดเริ่มต้น 28.5 ตารางเมตร
แผนงานของบริษัทร่วมทุนผู้พัฒนาโครงการนี้ เริ่มก่อสร้างโครงการตั้งแต่ปลายปี 2565 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นปี 2569 ทำให้ขณะนี้ที่มีข้อพิพาทในศาลปกครอง บริษัทได้เริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ดินแปลงนี้และคอนโดฯ แห่งนี้นับว่ามีความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้น เพราะแต่เดิมที่ดินแปลงใหญ่ 10 ไร่นี้มีผู้พัฒนาโครงการรายเดิมคือ Hotel Properties Limited Group กลุ่มทุนสิงคโปร์ แบ่งแปลงที่ดิน 7 ไร่มาสร้างเป็นคอนโดฯ THE MET สูง 66 ชั้น และเก็บที่ดิน 3 ไร่ หน้ากว้าง 97 เมตร ที่อยู่ด้านหน้าตึก THE MET ไว้ เพื่อจะพัฒนาเป็นโรงแรมตึกเตี้ยที่ไม่บังวิว THE MET ในภายหลัง โดยมีการแจ้งให้ผู้ซื้อห้องชุดรับทราบ
คอนโดฯ THE MET สร้างเสร็จเมื่อปี 2552 แต่หลังจากนั้นเจ้าของเดิมพับแผนที่จะสร้างโรงแรมเพิ่ม และตัดสินใจขายที่ดิน 3 ไร่นั้นออกไป ที่ดินมีการซื้อขายเปลี่ยนมือจนมาถึงมือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA
หลังจาก TTA และพันธมิตรร่วมทุนมีแผนจะพัฒนาคอนโดฯ และดำเนินการยื่นขออนุมัติ EIA ลูกบ้าน THE MET เริ่มคัดค้านตั้งแต่ชั้นรับฟังความคิดเห็นในการทำรายงาน EIA ทันที โดยจากการสำรวจความเห็นชุมชน 400 คนโดยรอบ มี 60% ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ 125 สาทร แต่รายงาน EIA ก็ยังได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนสิงหาคม 2564
ฝั่ง TTA มองว่าบริษัทได้ปรับแบบให้มีการบังแดด บังลม และวิวทิวทัศน์ให้น้อยที่สุดแล้ว ผ่านการแยกอาคารออกเป็น 2 ทาวเวอร์เพื่อให้มีช่องรับลมตรงกลาง รวมถึงยื่น EIA ผ่านเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มเปิดขายไปตามปกติ แม้ว่าขณะนั้นนิติบุคคลอาคารชุด THE MET จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางแล้วก็ตาม
ข่าวการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือเพิกถอน EIA โดยศาลปกครองกลางเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ โดยคดีที่ดังที่สุดคือ คดีแอชตัน อโศก เนื่องจากคำตัดสินออกมาในช่วงที่คอนโดฯ ก่อสร้างเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว ในขณะที่คดีส่วนใหญ่มักจะตัดสินตั้งแต่ที่โครงการยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง จึงไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนหรือผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก