ลูกบ้านกว่า 600 ครอบครัวใน “แอชตัน อโศก” ยังคงยืนอยู่ปากเหวโดยไม่มีเบาะรองรับ ล่าสุดกลุ่มลูกบ้านทำหนังสือขอให้ “อนันดาฯ” จัดประชุมรับฟังความเห็นภายใน 14 วัน เตรียมยกระดับข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการและอนันดาฯ หากไม่ได้รับการตอบกลับ ด้าน “ศรีสุวรรณ จรรยา” โจทก์ฟ้องคดี ยื่นอุทธรณ์ ยืนยันโครงการมีการรุกล้ำทางสาธารณะ แย้มสมาคมฯ มีกรณีพิพาทกับคอนโดฯ อื่นอีกหลายแห่ง
ติดตามความคืบหน้าโครงการ “แอชตัน อโศก” ที่พัฒนาโดย บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และถูกศาลตัดสินเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ล่าสุด ตัวแทนลูกบ้านโครงการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 และจัดแถลงข่าวสาธารณะอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา
ประเด็นจากหนังสือแถลงการณ์ลูกบ้านแอชตัน อโศก ระบุความคืบหน้าของคดีว่า “พวกเราชาวลูกบ้านแอชตัน อโศกเข้าใจว่า บัดนี้หน่วยงานของรัฐและบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานราชการใดหรือผู้พัฒนาโครงการได้จัดให้มีมาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้มีผลเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด” เป็นข้อความส่วนหนึ่งในแถลงการณ์
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ลูกบ้านได้ทำหนังสือลงวันที่ 24 ส.ค. 2564 ไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และบมจ.อนันดาฯ เพื่อขอให้มีการประชุมเพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยลูกบ้านกำหนดกรอบเวลาตอบกลับภายใน 14 วัน หากยังไม่มีการตอบสนอง “พวกเราชาวลูกบ้านแอชตัน อโศกกว่า 1,000 ชีวิตจากกว่า 600 ครอบครัวก็มีความจำเป็นต้องยกระดับข้อเรียกร้องของพวกเราต่อหน่วยงานราชการและ/หรือ ผู้พัฒนาโครงการในโอกาสต่อไป” (อ่านเอกสารแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ด้านท้ายบทความ)
Positioning ได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าคดีและแนวทางเยียวยาลูกบ้านไปยัง บมจ.อนันดาฯ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 โดยยังรอการตอบกลับอยู่ในขณะนี้
ต้องเป็นหนี้ผ่อน ‘อากาศ’ ต่อไปหรือไม่?
ลูกบ้านแอชตัน อโศกยังย้ำอีกครั้งถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือธนาคารต่างๆ ไม่รับรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านของผู้ซื้อห้องชุดโครงการนี้ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อเสียโอกาสลดภาระดอกเบี้ยลง 2-3% คิดเป็นค่าเสียหาย 60-90 ล้านบาทต่อปี หากยังต้องรอการพิจารณาคดีอีก 5 ปี ค่าเสียหายส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 300-450 ล้านบาท
และไม่เพียงแต่ความเสียหาย ณ วันนี้ ลูกบ้านยังมีความกังวลใจถึงอนาคต หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามเดิม และอาจมีคำสั่งให้ทุบอาคารตามมา คำถามของลูกบ้านคือ “ผู้ซื้อยังต้องผ่อนสินเชื่อบ้านกับธนาคารต่อไปจนครบหรือไม่ ทั้งที่ห้องชุดกลายเป็นอากาศไปแล้ว”
กลายเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เนื่องจากเหตุการณ์ลักษณะนี้น่าจะยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่ผ่านมาการระงับการก่อสร้างมักจะเกิดขึ้นก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ ทำให้ผู้รับผิดชอบคือบริษัทผู้พัฒนาโครงการโดยตรง แนวทางการเยียวยามักจะเป็นการคืนเงินดาวน์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย แต่กรณีนี้ลูกบ้านได้โอนกรรมสิทธิ์แล้ว และมีภาระหนี้สินเชื่อบ้านกับธนาคารแตกต่างกันไปคนละสัญญา
บริษัทไม่เคยแจ้งลูกค้าใหม่ว่ามีคดีพิพาท
ย้อนกลับไปก่อนเกิดคำตัดสินของศาลปกครองกลาง หนึ่งในตัวแทนลูกบ้านซึ่งตัดสินใจซื้อผ่อนดาวน์ตั้งแต่ก่อนโครงการสร้างเสร็จ เล่าถึงประสบการณ์ในช่วงก่อนโอนกรรมสิทธิ์ว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 ที่กำลังจะถึงเดดไลน์ส่งมอบห้องตามสัญญา แต่บริษัทยังติดปัญหายังไม่ได้รับเอกสารใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) ทำให้โอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้
ในช่วงปี 2561 นั้น บริษัทได้ให้ข้อเสนอ 3 ทางแก่ผู้ซื้อคือ ขอขยายเวลาส่งมอบตามสัญญาออกไปก่อน หรือ รับคืนเงินดาวน์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย หรือ แลกห้องชุดกับโครงการอื่นในเครืออนันดาฯ ซึ่งตัวแทนลูกบ้านรายนี้ได้เลือกทางเลือกแรก คือยอมที่จะรอต่อไป จนในที่สุดหลังขยายสัญญา 3 เดือนก็ได้โอนกรรมสิทธิ์ จากนั้นก็เข้าอยู่เป็นปกติตลอดมาจนมารับทราบพร้อมลูกบ้านทุกคนเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 ว่าโครงการถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ขณะที่ตัวแทนลูกบ้านอีกรายหนึ่ง เป็นลูกค้าใหม่ที่เข้าชมและตัดสินใจซื้อโครงการหลังก่อสร้างเสร็จ ลูกค้ารายนี้เพิ่งโอนและย้ายเข้าอยู่เมื่อเดือนเมษายน 2564 เพียง 3 เดือนหลังจากนั้นก็เกิดเหตุคำตัดสินของศาล โดยเขายืนยันว่าทุกขั้นตอนการขายและทำสัญญาไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าโครงการมีคดีพิพาทในชั้นศาลอยู่
“ศรีสุวรรณ” ยื่นอุทธรณ์ – มีอีกหลายคดีกับคอนโดฯ อื่นๆ
ฝั่งโจทก์ของคดีนี้คือ “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” และผู้ฟ้องร่วม 16 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลปกครองกลางเช่นกัน
ตามข้อมูลจากสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ “ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า แม้จะเป็นผู้ชนะคดี แต่มีบางข้อตัดสินของศาลที่ต้องการอุทธรณ์กลับ เช่น ข้อฟ้องร้องว่าโครงการแอชตัน อโศกรุกล้ำถนนสาธารณะ ซึ่งศาลตัดสินว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีทางสาธารณะ จึงให้ข้อฟ้องร้องนี้ตกไป ฝั่งโจทก์ยังยืนยันว่าเจ้าของที่ดินเดิมเคยตัดที่ดินบางส่วนเป็นทางสาธารณะและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานแล้ว รวมถึงข้อฟ้องร้องอื่นๆ ที่ศาลไม่วินิจฉัย
ศรีสุวรรณยังเปิดเผยด้วยว่า ต้องการจะให้คดีนี้เป็นบรรทัดฐาน เพราะสมาคมฯ มีกรณีพิพาทกับคอนโดมิเนียมอีกหลายแห่ง ทั้งที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องในศาลปกครองกลาง และที่กำลังจะนำเรื่องขึ้นฟ้อง
ที่ผ่านมาสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่โครงการต่างๆ เคยฟ้องร้องคดีในลักษณะใกล้เคียงกันมาแล้วหลายครั้ง ก่อนหน้านี้เคยชนะคดีโครงการ “มหาดเล็กหลวง 2 เรสซิเดนเซส” ของ บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) (ชื่อบริษัทขณะนั้น) ของตระกูลเตชะอุบล โดยโครงการคอนโดฯ ลีสโฮลด์แห่งนี้ถูกเพิกถอนทั้ง EIA และใบอนุญาตก่อสร้าง เมื่อปี 2560 และ 2562 ตามลำดับ
ต่อจากนั้นเมื่อเดือนกันยายน 2562 สมาคมฯ พร้อมกับชาวบ้านใน ซ.สุขุมวิท 101 และ ซ.สุขุมวิท 103 ยื่นฟ้องผู้บริหาร กทม. หลายหน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง กรณีปล่อยปละให้โครงการ “เอลลิโอ เดล เนสท์” ซอยอุดมสุข ที่พัฒนาโดย บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ก่อสร้างโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน โดยร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนรายงาน EIA ทั้งนี้ โครงการนี้ก่อสร้างเสร็จและเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วเมื่อปี 2563
ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 สมาคมฯ ร่วมกับชาวบ้านซ.สุขุมวิท 61 และเอกมัยซอย 1 เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กรณีอนุมัติรายงาน EIA ให้กับโครงการคอนโดฯ IMPRESSION EKKAMAI พัฒนาโดย บริษัท เอเอชเจ เอกมัย จำกัด ทั้งที่ยังไม่มีการปรับแก้แบบโครงการตามข้อกังวลของชาวบ้าน เช่น โครงการเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษแต่ตั้งอยู่บนถนนเอกมัยที่มีความกว้างไม่ถึง 18 เมตร
บริษัท เอเอชเจ เอกมัย จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กับทุนญี่ปุ่น เจอาร์ คิวชู และ ฮูซิเออร์ส โฮลดิ้งส์ โครงการนี้เริ่มเปิดขายตั้งแต่ปี 2562
มหากาพย์แอชตัน อโศกจึงอาจจะไม่ใช่โครงการสุดท้ายที่เกิดปัญหาต่อลูกบ้านติดตามมา ดังที่เห็นว่าเฉพาะสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนก็มีคดีหรือข้อร้องเรียนค้างอยู่อีกหลายโครงการ
(เอกสารแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของลูกบ้านแอชตัน อโศกฉบับเต็ม)