จากกรณี “แอชตัน อโศก” ถูกศาลปกครองกลางเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเรื่องนี้หนีไม่พ้น “ลูกบ้าน” ที่ซื้อห้องชุดในโครงการไปแล้ว ล่าสุดตัวแทนลูกบ้านเปิดใจต่อสาธารณะ ขอความเห็นใจและเยียวยาเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีแม้คดียังไม่สิ้นสุด พร้อมแจ้งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายร่วมติดตามคดีความ
เปรียบเหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจผู้ซื้อห้องชุดในโครงการ “แอชตัน อโศก” เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการนี้ย้อนหลัง เนื่องจากการอนุญาตของสำนักการโยธาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัยหวั่นใจว่าอาจมีคำสั่งให้ทุบทำลายอาคารได้ในอนาคต (อ่านเพิ่มเติม : ทำความเข้าใจคดี “แอชตัน อโศก” หลังอนันดาฯ เตรียม “อุทธรณ์” กู้ชื่อเสียง-มั่นใจทำถูกต้อง)
วันนี้ (10 ส.ค. 64) หลังกลุ่มลูกบ้านแอชตัน อโศกรวบรวมข้อมูลและปรึกษากันภายใน จึงมีการส่งตัวแทนลูกบ้าน 2-3 รายโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ-สกุลออกชี้แจงต่อสื่อและสาธารณะถึงสถานการณ์และความเดือดร้อนที่ได้รับ พร้อมแจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้กลุ่มลูกบ้านได้ใช้ค่าส่วนกลางว่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อเป็นตัวแทนลูกบ้านในการติดตามคดีความแล้ว
เพิ่งทราบเรื่องหลังอยู่มา 2 ปี
ตัวแทนลูกบ้านชี้แจงก่อนว่า ขณะนี้แอชตัน อโศกมีผู้อยู่อาศัยกว่า 600 ครอบครัว รวมกว่า 1,000 คนในโครงการ และเพิ่งทราบเรื่องข้อพิพาทพร้อมๆ กับสาธารณะ เมื่อสื่อมวลชนรายงานข่าวคำตัดสินของศาลปกครองกลางดังกล่าว ซึ่งทำให้ลูกบ้านงุนงง สับสน เนื่องจากโอนกรรมสิทธิ์และย้ายเข้าอยู่มากว่า 2 ปีแล้ว
ในฐานะผู้ซื้อ มองว่าก่อนซื้อโครงการมีการตรวจสอบให้แน่ใจแล้วว่าโครงการไม่มีปัญหา เนื่องจากโครงการผ่านการรับรอง EIA เรียบร้อย อีกทั้งกว่า 50% ของลูกบ้านซื้อด้วยการกู้สินเชื่อธนาคารซึ่งไม่มีปัญหาเช่นกัน และทั้งหมดสามารถโอนกรรมสิทธิ์ กรมที่ดินออกโฉนดให้ตามปกติ จึงสับสนว่าสถานการณ์ ‘มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร’
ลูกบ้านได้รวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆ พบว่า บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชี้แจงว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตและมีการหารือหน่วยงานราชการก่อนก่อสร้างหลายหน่วยงาน รวมถึงมีโครงการอีก 13 แห่งที่ก่อสร้างในลักษณะเดียวกัน
ลูกบ้านมีความเคารพต่อศาลและกฎหมายบ้านเมือง แต่เห็นว่าข้อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตนี้อาจเกิดจากการตีความทางกฎหมายหรือไม่
“ต่อจากนี้อาจมีคำถามว่า เราจะเชื่อถือใบอนุญาตทางราชการได้อย่างไร” ตัวแทนลูกบ้านกล่าว
รีไฟแนนซ์ไม่ได้-ขายต่อชะงัก
ตัวแทนลูกบ้านยังร้องเรียนด้วยว่า แม้คดีความจะยังไม่สิ้นสุด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านนั้นเกิดขึ้นแล้วทันที ดังนี้
1.การรีไฟแนนซ์ ลูกบ้านบางรายเริ่มใกล้ถึงรอบรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน หลังยื่นเอกสารแล้วถูกธนาคารปฏิเสธการรีไฟแนนซ์ เพราะสถาบันการเงินมองว่าหลักประกันไม่มีความน่าเชื่อถือจากคำสั่งของศาลปกครองกลาง
2.โครงการเสมือนถูกแช่แข็งในการทำนิติกรรม ผู้จะซื้อต่อห้องชุดมือสองหลายรายยกเลิกการซื้อขายทันที เพราะข่าวที่ออกมาทำให้เกิดความกังวลใจ
ประเด็นเหล่านี้ทำให้ลูกบ้านเกิดความเดือดร้อนเพราะไม่ทราบว่าการลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยหรือผ่อนสินเชื่อบ้านกับธนาคารจะสูญเปล่าหรือไม่ในอนาคต หลายรายประสบปัญหาทางการเงินจากวิกฤตเศรษฐกิจและต้องการขายห้องชุดเพื่อหมุนกระแสเงินสด แต่ไม่สามารถทำได้ กลายเป็นภาระที่ซ้ำเติมลูกบ้านมากยิ่งขึ้น
“เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางกฎหมายเลย” ตัวแทนลูกบ้านระบุ
ใครจะเยียวยาลูกบ้าน?
จากความเดือดร้อนที่ได้รับ ลูกบ้านแอชตัน อโศกวิงวอนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
1.ในระยะสั้น ลูกบ้านต้องการความช่วยเหลือด้านการรีไฟแนนซ์ ขอให้ทางสถาบันการเงินและผู้พัฒนาโครงการให้ความช่วยเหลือในประเด็นนี้โดยเร่งด่วน
2.หากเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง และอาจจะทำให้มีคำสั่งทุบอาคาร ลูกบ้านต้องการให้มีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ซื้อว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนผู้พัฒนาโครงการ โดยลูกบ้านมีข้อกังวลว่า หากให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัดเป็นผู้รับผิดชอบ ณ เวลานั้นบริษัทนี้ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอาจจ่ายปันผลเข้าบริษัทแม่และปิดบริษัทไปแล้วได้
ทั้งนี้ ลูกบ้านร้องขอให้ “คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค” และ “คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน” ในสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเสนอแนวทางเยียวยาให้กับลูกบ้านแอชตัน อโศกด้วย