อร่อยเพราะกระแส

พลังของเค-ป๊อปในหมู่วัยรุ่นไทย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภาพยนตร์ แฟชั่น และความงามเท่านั้น แม้แต่อุตสาหกรรมอาหาร อย่าง นมกล้วยที่กำลังนิยมในเวลานี้ก็มาจากพลังดังกล่าว บวกกับพลังการบอกต่อปากต่อปากผ่าน Social Network ทำให้นมกล้วยของโฟร์โมสต์เป็นสินค้ามาแรงที่ต้องจับตา

นมกล้วย พาสเจอร์ไรซ์ เป็น Functional Milk ที่โฟร์โมสต์ (เคยวางขายเมื่อหลายปีที่แล้ว ตอนหลังยุติไป) ได้นำกลับมาวางขายเฉพาะใน 7-Eleven เท่านั้น อยู่ในรูปของกล่องกระดาษขนาด 200 มล. ราคา 11 บาท ปรากฏว่าประสบความสำเร็จด้วยดี โดยมีทั้งกลุ่มที่ชื่นชอบนมกล้วยอยู่แล้ว และคนที่ต้องการทดลองรสชาติใหม่

ความนิยมของนมกล้วยมาจากการวางขายถูกที่ถูกเวลา ส่วนหนึ่งมาจาก ความนิยมกระแสเกาหลี ซึ่งนมกล้วยกำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นในเกาหลี โดยนมกล้วยแบรนด์แรกของเกาหลีคือ Binggrae ที่ได้ดาราดัง “ลีมินโฮ” เป็นพรีเซ็นเตอร์ ขณะที่สาวๆ วง Girl’s Generation ก็เป็นสาวกนมกล้วยตัวยงก็เป็นพรีเซ็นเตอร์อีกกลุ่มหนึ่งด้วย วัยรุ่นไทยที่นิยมบอยแบรนด์ และเกิร์ลแก๊งของเกาหลีหันมาดื่มนมกล้วยกันเป็นแถว

พลังของ Social Network เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ เพราะหลังจากวางจำหน่ายไม่นานก็เกิดการ Share รูปภาพนมกล้วยโฟร์โมสต์ใน Facebook อย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิด Product Awareness เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความนิยมนี้อาจทำให้โฟรโมสต์อาจต้องขยายกำลังการผลิต และเพิ่มผลิตภัณฑ์จากนมกล้วย เพราะเวลานี้สินค้าขาดตลาด ขณะที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ติดใจในรสชาติได้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บบอร์ดของโฟรโมสต์ เพื่อให้ผลิตนมกล้วยในรูปแบบยูเอชที และต้องการให้จำหน่ายเป็นแพ็ก อีกทั้งเรียกร้องขนาดกล่องลิตรด้วย

นอกจากนี้ กระแสความนิยมนมกล้วยส่งผลโดยตรงต่อตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์ ที่แต่เดิมมีสัดส่วนเป็นรองนมยูเอชทีคักคักขึ้นมาทันที โดยนมพาสเจอร์ไรซ์นี้เดิมทีเป็นตลาดที่ซีพีเมจิมุ่งมั่นมาตลอด และต่อมาบุกตลาดหนักขึ้นด้วยการออกรสชาติใหม่ๆ ทำให้โฟร์โมสต์ที่เคยครองตลาดนมยูเอชที ต้องเร่งแก้สถานการณ์ หันมารุกตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์มากขึ้น

ส่วนทางด้านร้านไก่ทอดเคเอฟซี ของค่ายไมเนอร์ก็เกาะติดกับเอเชี่ยนเทรนด์ได้สำเร็จ เมื่อนำ “ทาร์ตไข่” ของดังจากมาเก๊าและฮ่องกงมาจำหน่าย

จะว่าไปแล้ว นอกเหนือจาก กาสิโน ก็มีทาร์ตไข่นี่แหละที่จัดเป็น ICONIC ของมาเก๊า และยังได้รับความนิยมในฮ่องกงไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ด้วย โดยมีตั้งแต่ร้านเก่าแก่ข้างทาง ไปจนกระทั่งในโรงแรมหรู ใครไปเที่ยวมาเก๊าย่อมรู้จักทาร์ตไข่เหมือนต่างชาติมาเที่ยวบ้านเราแล้วต้องรู้จักผัดไทยและเคยลิ้มลอง ในไทยมีทาร์ตไข่ขายมานาน เช่นที่ คริสตัล เจด รวมถึงร้าน Ka-nom ของปริญญา ควรตระกูล ในราคาชิ้นละ 40 บาท

ทาร์ตไข่ เคเอฟซี มีจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2551 ที่ฮ่องกง ต่อด้วยสิงคโปร์ ก่อนจะมาดังในไทยเมื่อธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ด้วยราคาจำหน่าย 25 บาทต่อชิ้น ทำให้ทาร์ตไข่เข้าถึงกลุ่มแมสมากขึ้น ใกล้เคียงกับที่จำหน่ายในเคเอฟซี ฮ่องกง ที่ราคาชิ้นละ 5.5 เหรียญ

เคเอฟซีโฆษณาทาร์ตไข่ผ่าน TVC และสื่ออินสโตร์เป็นหลัก และนำมาจัดทำเป็นโปรโมชั่น สั่งเคเอฟซีออนไลน์ครบ 350 ฟรีทาร์ตไข่ 2 ชิ้น เมื่อบวกกับพลังบอกต่อใน Social Media สร้างกระแสทาร์ตไข่ เคเอฟซี เป็นที่นิยม บวกกับการโปรโมตหนักผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ และการวางขายเกือบ 500 สาขาของเคเอฟซีทั่วประเทศ

ทั้งนมกล้วยและทาร์ตไข่ จัดเป็นสินค้าที่มาพร้อมกับกระแสความนิยมอาเชี่ยนเทรนด์ ที่ได้มาจากอิทธิพลของสื่อที่เปิดกว้างมากขึ้นแล้ว คนรุ่นใหม่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของโลว์คอร์สแอร์ไลน์ โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียที่เดินทางง่าย สะดวก ราคาถูกอย่างเกาหลี มาเก๊า และฮ่องกง ทั้งยังมีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 20 เที่ยวต่อวัน

นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว วัฒนธรรมอาหารการกินก็เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ที่ถูกนำมาบอกต่อสู่กลุ่มเพื่อนฝูง ทั้งแบบปากต่อปากและผ่าน Social Network “นมกล้วย” จากเกาหลี และ “ทาร์ตไข่” จากมาเก๊าก็เช่นเดียวกัน ที่ก่อนหน้าเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยพอควรแต่ก็หาซื้อยาก มิหนำซ้ำยังมีราคาสูง แต่ปัจจุบันนี้โฟร์โมสต์ นมกล้วย กลายเป็นผลิตภัณฑ์นมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดแห่งปี เช่นเดียวกับทาร์ตไข่ เคเอฟซี ที่สร้างกระแสตอบรับปิดท้ายปี 2553 ได้เป็นอย่างดี