ตลอดปี 2020 จีนทำเงินจากการส่งออก ‘อุปกรณ์ทางการแพทย์’ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไปกว่า 105,000 ล้านเหรียญ พุ่งขึ้นจากช่วงปกติถึง 3 เท่า สหรัฐฯ เป็นตลาดรับซื้อหลัก บริษัทนอกวงการแห่เปลี่ยนมาผลิตหน้ากากอนามัย เพราะทำกำไรดี ขายง่าย ส่งออกเร็ว
จากรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2020 มากที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าส่งออกสินค้าสูงถึง 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ยังไม่มีการเเพร่ระบาด
ในปี 2020 มูลค่าตลาดของอุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ทั่วโลก พุ่งแตะ 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ท่ามกลางมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวด สวนทางกับมูลค่าตลาดสินค้าประเภทอื่นทั่วโลกที่หดตัว 7.6% ในปีเดียวกัน
โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่าง หน้ากากอนามัย เครื่องช่วยหายใจ แอลกอฮอล์ล้างมือ เครื่องสแกนอัลตราโซนิก มีอัตราการเติบโตสูงถึง 31%
ปัจจุบันมี 3 ประเทศที่ทำการค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์สูงสุด ได้เเก่ จีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งหากรวมกันทั้ง 3 ประเทศเเล้ว สัดส่วนตลาดด้านการค้าอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จะสูงขึ้นกว่าปี 2019 ถึง 41%
จากอานิสงส์การส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ ‘จีน’ ขยับขึ้นมามีบทบาทสำคัญ เป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของโลกในปี 2020
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2020 มีบริษัทใหม่ในจีน จดทะเบียนผลิตหรือซื้อขายหน้ากากอนามัยถึง 70,802 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1,256%
“เกิดความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่าง บริษัทที่ผลิตเคยสินค้าชนิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างลูกกอล์ฟ บุหรี่ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ ต่างพากันเปลี่ยนไลน์การผลิตมาทำหน้ากากอนามัยเเทน เนื่องจากมีความต้องการสูง ทำกำไรได้ดี และส่งออกสินค้าได้เร็วภายในไม่กี่สัปดาห์”
ด้านสหรัฐฯ เเม้จะผู้ส่งออกสินค้าด้านการแพทย์อันดับต้นๆ ของโลก เเต่ก็เป็น ‘ผู้นำเข้า’ สินค้าการแพทย์เพื่อรับมือโควิด-19 มากสุดในโลกเช่นกัน ตามด้วยเยอรมนี เเละจีน โดยสหรัฐฯ สั่งซื้อสินค้าส่วนใหญ่จากจีน ตามด้วยเม็กซิโกและเยอรมนี
ในตลาดสหรัฐฯ จีนมีส่วนแบ่งตลาดราว 40.2 % มากกว่าเกือบเท่าตัวของส่วนแบ่งตลาดของเยอรมนีที่ 26.5%
อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลให้ ’คุณภาพ’ ของผลิตภัณฑ์ในบางชนิดลดลง ซึ่งที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับปัญหาการตีสินค้ากลับ เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นของประเทศปลายทาง