‘ShopBack’ มองตลาดอีคอมเมิร์ซครึ่งปีหลังยังเดือด และ ‘วิดีโอ’ จะยิ่งมีอิทธิพลในการช้อป

หากพูดถึง ‘ShopBack’ แพลตฟอร์มสะสมรางวัล และ เงินคืนบนอีคอมเมิร์ซ ซึ่งขาช้อปหลายคนอาจผ่านหูผ่านตามาบ้าง เพราะ ShopBack ให้บริการมา 4 ปีแล้ว โดย กวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ShopBack ประจำประเทศไทย ก็ได้มาคาดการณ์ถึงตลาดอีคอมเมิร์ซในครึ่งปีหลัง รวมถึงเทรนด์ที่จะได้เห็นในอนาคต

โดย กวิน มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโต เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ยังคงเป็นตัวกระตุ้นเพราะการเดินทางไปจับจ่ายยังจำกัด ซึ่งเป็นภาพชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 63 ขณะที่โปรโมชันสำคัญของเหล่าอีมาร์เก็ตเพลสยังคงเป็นแคมเปญดับเบิลเดย์ อาทิ 11.11, 12.12 ที่น่าจะทำโปรโมชันแรงมาก ๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค

ในส่วนของเทรนด์ที่จะเริ่มเห็นจากนี้และในระยะยาวคือ แบรนด์หันมาขายออนไลน์เองโดยไม่พึ่งอีมาร์เก็ตเพลส เนื่องจากแบรนด์ต้องการ ข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดทางการตลาดทั้งการทำแบรนดิ้งต่าง ๆ ดังนั้น งบการตลาดจากนี้จะลงน้ำหนักไปกับส่วนนี้ โดยกลุ่มแรกที่จะเห็นคือ กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม, แฟชั่น ดังนั้น ShopBack ก็มีแผนจะเพิ่มพันธมิตรรายใหม่แบบโดยตรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่น่าจับตามองคือ วิดีโอ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ดังนั้น คอนเทนต์วิดีโอน่าจะเป็นเทรนด์ของอนาคตและจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง ShopBack จึงร่วมมือกับครีเอเตอร์จาก TikTok กว่า 100 ราย นำคลิปวิดีโอรีวิวสินค้ามานำเสนอบนแพลตฟอร์มเพื่อให้รายละเอียดสินค้า โดยครีเอเตอร์จะได้ส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งจากการทดลองพบว่า ผู้รับชมวิดีโอกว่าครึ่งมีการคลิกต่อเพื่อเข้าไปเลือกชมสินค้าและบริการ

กวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ShopBack ประจำประเทศไทย

จากปัจจัยจากการระบาดของ COVID-19 กลยุทธ์การนำเสนอคอนเทนต์วิดีโอ รวมถึงการทำโปรโมชันที่จูงใจ เชื่อว่าจะทำให้ ผู้ใช้งานและรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ShopBack มียอดดาน์โหลดมากกว่า 18 ล้านครั้ง มีผู้ใช้งานกว่า 4.7 ล้านคน เป็นผู้หญิง 60% และชาย 40%

โดยกลุ่มอายุ 18-24 ปี มีสัดส่วน 11%, 24-34 ปี 42%, 34-44 ปี 29% และอายุ 45 ปีขึ้นไป 18 ผู้ใช้งานที่แอคทีฟราว 4.5 แสนราย/วัน มีอัตราการใช้ซ้ำ 50% มีการเข้าใช้งานผ่านแอนดรอยด์ 63% IOS 36% PC 1% และสำหรับกลุ่มสินค้าที่มียอดการสั่งซื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มความงาม, เสื้อผ้าและรองเท้าผู้หญิง, อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน, ของชำ และโมบายและแท็บเล็ต