ศบค. ประเมินสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย กรณี ‘เเย่ที่สุด’ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ อาจทะลุ 3.1 หมื่นรายต่อวัน ส่วนกรณี ‘ดีที่สุด’ ยังแตะหมื่นรายต่อวัน หลายฝ่ายมอง ‘ล็อกดาวน์’ กระทบหนัก มาตรการเยียวยา ‘ยังไม่เพียงพอ’
19 ก.ค. 64 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เเถลงตอนหนึ่งโดยกล่าวถึง ผลการศึกษาเเละประเมิน ‘ความเป็นไปได้’ ของการติดเชื้อโควิด-19 ในไทย โดยมีการคาดการณ์ 2 รูปเเบบ ดังต่อไปนี้
1) งานวิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ โดยใช้ข้อมูลถึง ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 มีการคาดการณ์โรคระบาดถึงช่วงสิ้นเดือนต.ค. ว่า
สถานการณ์แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น หากไม่มีการทำอะไร หรือหรือไม่มีมาตรการไม่ได้ช่วยกันและปล่อยให้การติดเชื้อไปเรื่อยๆ คาดว่า การติดเชื้อสูงสุดจะอยู่ที่ 31,997 รายต่อวัน
เเละเเม้ว่าจะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เเละทุกคนช่วยกัน กรณีดีที่สุด ก็ยังจะอยู่ที่ 9,018-12,605 รายต่อวัน ส่วนค่ากลางจะอยู่ที่ 9,695 – 24,204 รายต่อวัน
2) การคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นำไปอ้างอิง ซึ่งประเมินโดยอิงจากเเนวโน้มการฉีดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นถึงช่วงปลายปีนี้ ระบุว่า
ถ้าหากฉีดวัคซีนได้ดี เเละวัคซีนมาได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด ในไตรมาสที่ 4 ‘Best case’ กรณีที่ดีที่สุด จำนวนยอดผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง ตั้งเเต่ช่วงเดือนส.ค.เเละก.ย. จากที่ ณ ตอนนี้ กำลังไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ เเละจะสูงกว่า 15,000 รายต่อวัน
แต่ถ้าในกรณีที่เเย่ที่สุด เเละมีการฉีดวัคซีนน้อย คาดว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะสูงถึงถึง 22,000 รายในเดือนส.ค.และก.ย.
โดยโฆษก ศบค. กล่าวว่า “วันนี้เราไปแตะหมื่นอยู่หลายวันแล้ว สิ่งที่เราอยากจะเห็นคือลดลงไปกว่านี้ได้ไหม คนใดคนหนึ่งทำไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน เป็นอย่างนี้ทุกประเทศ ความสามัคคีเท่านั้นที่จะช่วยกันได้ เราจะผ่านความทุกข์ยากนี้ไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ ณ วันที่ 19 ก.ค. 64 ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทย ที่ยังรักษาตัวอยู่ มีจำนวน 122,097 ราย เป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 71,635 ราย รพ.สนาม 50,462 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 3,595 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย
ส่วนผู้รับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 18 ก.ค. 64 มีเข็มที่ 1 จำนวน 69,667 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 5,167 ราย และระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 18 ก.ค. 64 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 14,298,596 โดส “คิดเป็นราว 21.6% ของสัดส่วนประชากร”
ด้านความเห็นจาก ‘หอการค้าไทย’ ระบุว่า หากมาตรการล็อกดาวน์ 14 วันเอาไม่อยู่ อาจจะต้องขยายล็อกดาวน์เพิ่มเติม จะทำให้ ‘เศรษฐกิจเสียหาย’ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยปรับการประเมินผลกระทบเศรษฐกิจสูญเสีย ‘ต่อวัน’ เพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท จากการล็อกดาวน์เพิ่ม 13 จังหวัดซึ่งมองว่ามาตรการเยียวยาในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอ
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ของไทย เหลือเพียง 1.0% จากเดิมที่ 1.8% หลังการระบาดรุนเเรงกว่าที่คาด ซึ่งมาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ที่เกิดขึ้น กระทบธุรกิจเเละจ้างงานต่อเนื่อง พร้อมฉุด ‘กำลังซื้อ–ความเชื่อมั่นผู้บริโภค’ ให้ลดลง โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะมีเเค่ 2.5-6.5 แสนคน ส่วนเงินบาทนั้นจะอ่อนค่ายาว
“แม้มีมาตรการเยียวยา แต่ชดเชยผลกระทบเศรษฐกิจไม่ได้ ฉีดวัคซีนอาจต่ำกว่าเป้าหมาย”
- KBANK หั่นเป้าจีดีพีปีนี้ เหลือเเค่ 1% ‘ล็อกดาวน์’ สะเทือนธุรกิจ-จ้างงาน ฉุดกำลังซื้อ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค
- ไทยเสี่ยงภาวะ ‘Debt Overhang’ ครัวเรือนสูญเสียรายได้ ดิ้นหา ‘เงินกู้-เงินด่วน’ มาใช้จ่ายประจำวัน