ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตของไทยจาก COVID-19 ยังคงพุ่งทะยานไม่หยุดยั้ง ทำให้ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยกับสื่อว่า ภาครัฐกำลังพิจารณาว่าถ้าหากมาตรการควบคุมในขณะนี้ไม่สามารถทำให้การระบาดลดลงได้ภายใน 2 เดือน อาจมีการนำ “อู่ฮั่นโมเดล” มาบังคับใช้
อู่ฮั่นโมเดล คืออะไร? นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 เกิดขึ้น หลายเมืองหรือประเทศบนโลกออกมาตรการ “ล็อกดาวน์” ในระดับที่แตกต่างกันไป แต่การล็อกดาวน์ที่เข้มข้นที่สุดที่เคยเกิดขึ้นคืออู่ฮั่นโมเดล และดูเหมือนว่าจะเป็นมาตรการที่คุมการระบาดได้จริง เพราะหลังจากออกมาตรการ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอู่ฮั่นเริ่มทรงตัวภายใน 1 เดือน และลดเหลือ “ศูนย์” ภายใน 2 เดือน
เกิดอะไรขึ้นที่อู่ฮั่นบ้าง หลังประกาศล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2020 เราไล่เรียงมาตรการต่างๆ ไว้แล้วที่นี่
1.การเดินทาง
– ห้ามเข้า-ออกจากเมือง แม้แต่การเดินทางเพื่อพบแพทย์หรือการรักษาก็ไม่สามารถกระทำได้ กรณีที่อนุญาตให้เข้า-ออกคือการขนส่งอาหารสด ซึ่งรถขนส่งจะต้องมีใบอนุญาต ทั้งนี้ อู่ฮั่นปิดเมืองภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ประชาชนไม่สามารถ ‘อพยพ’ ออกจากพื้นที่ได้
– ห้ามใช้รถยนต์ส่วนตัว ยกเว้นที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากรัฐ
– ปิดขนส่งมวลชนส่วนใหญ่
– พื้นที่ส่วนใหญ่ ประชาชนออกจากบ้านได้เฉพาะเมื่อต้องการซื้ออาหารหรือยา แต่ไม่ได้กำหนดความถี่ในการออกจากบ้าน ขณะที่บางพื้นที่ของเมือง อนุญาตให้สมาชิกครอบครัวออกจากบ้านได้ครั้งละ 1 คน ทุกๆ 2 วันเท่านั้น
2.กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
– ปิดร้านค้าทุกประเภทยกเว้นที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ได้แก่ ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด ร้านขายยา
– ปิดสำนักงานและโรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงานที่ผลิตสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร ยา
3.ระบบสาธารณสุขและดูแลประชาชน
– เจ้าหน้าที่มีหน่วย “เคาะประตูบ้าน” ตรวจสุขภาพเชิงรุกทุกหลังคาเรือน หากพบผู้ป่วยจะถูกแยกไปกักตัวทันที องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า อู่ฮั่นมีทีมนักระบาดวิทยาทั้งหมด 1,800 ทีม หนึ่งทีมมีบุคลากรไม่ต่ำกว่า 5 คน ทั้งหมดนี้สามารถตรวจเชิงรุกได้วันละหลายหมื่นคน (อู่ฮั่นมีประชากรทั้งหมด 11 ล้านคน)
– สร้างโรงพยาบาลสนามอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ถูกคัดแยกมาให้ทันท่วงที
– ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี เช่น Alibaba, Tencent พัฒนาแอปพลิเคชัน ภายในแอปฯ ผู้ใช้จะต้องตอบแบบสอบถามถึงอาการทางร่างกาย เช่น มีไข้ เจ็บคอ หรือไม่ และกรอกประวัติการเดินทางเพื่อเช็กความเสี่ยง จากนั้นผู้ใช้จะได้รับ QR Code ระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงระดับสีใด (แดง-เหลือง-เขียว) หากเป็นสีแดงจะต้องกักตัว 14 วัน สีเหลืองกักตัว 7 วัน โดยร้านค้าที่ยังเปิดอยู่จะตรวจสอบ QR Code นี้ก่อนลูกค้าเข้าร้าน หากเป็นกลุ่มสีแดงหรือเหลืองจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า
– ระดมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครช่วยกระจายอาหาร ยา และอุปกรณ์ตรวจเชื้อตามบ้านเรือน หากคนในบ้านเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้
– ผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 จะถูกส่งจากโรงพยาบาลตรงไปยังศูนย์จัดฌาปนกิจทันที ไม่อนุญาตให้จัดงานศพ ญาติผู้เสียชีวิตจะได้รับแจ้งให้มารับเถ้ากระดูกเพื่อประกอบพิธีได้ในภายหลัง
4.ระบบความปลอดภัย
– ใช้ประโยชน์จากระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ล้ำสมัย ทำให้จีนสามารถระบุตัวผู้ที่ฝ่าฝืนกฎห้ามออกจากบ้าน และแจ้งเตือนได้ทันที รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตราอยู่เสมอ
– มีรายงานว่า อพาร์ตเมนต์บางแห่งร่วมมือกับภาครัฐ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอาคารจะขอตรวจ QR Code ของผู้พักอาศัยก่อนเข้า-ออกอาคาร
อื่นๆ เป็นข้อกำหนดที่ประเทศไทยใช้อยู่แล้วในมาตรการล็อกดาวน์ขณะนี้ เช่น ปิดการเรียนการสอนออนไซต์ของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่ง, ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอู่ฮั่นโมเดลจะมีแต่ด้านบวก เพราะการบังคับใช้กฎหมายถ้วนหน้าอาจมีช่องโหว่ที่คาดไม่ถึง เช่น มีประชาชนอู่ฮั่นเป็นเด็กชายพิการทางสมองรายหนึ่งเสียชีวิตในบ้านพัก เนื่องจากขาดน้ำและอาหาร หลังจากพี่ชายและพ่อของเขาถูกนำไปแยกกักตัวทันทีโดยยังไม่ทันได้แจ้งขอความช่วยเหลือ หรือสัตว์เลี้ยงนับหมื่นตัวตกอยู่ในอันตราย หลังเจ้าของถูกแยกกักตัวในทันทีเช่นกัน
นอกจากนี้ การห้ามออกจากบ้านเด็ดขาดติดต่อกันหลายสัปดาห์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดปัญหาสุขภาพจิตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยในห้องพักเล็กๆ ที่แออัด รวมถึงเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างมากตามมา
หลังจาก 76 วันที่อู่ฮั่นปิดเมืองแบบ “ล็อกดาวน์อย่างสมบูรณ์” การเปิดเมืองหลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับมาเป็นปกติทันที เช่น เริ่มแรกอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาเปิดได้ และพนักงานที่จะกลับเข้าทำงานต้องมี QR Code สีเขียวเท่านั้น รวมถึงภาครัฐยังขอความร่วมมือให้ประชาชนออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้นเช่นเคย
หากประเทศไทยจะนำ “อู่ฮั่นโมเดล” มาใช้บ้าง คงต้องทำให้แน่ใจว่ารัฐจะมีเจ้าหน้าที่และงบประมาณเพียงพอ รวดเร็ว ในการสนับสนุนให้ประชาชน ‘รอดตาย’ ภายในบ้าน โดยที่หลายคนจะไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ รวมถึงต้องระดมตรวจเชิงรุกฟรีเพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้ไวที่สุด
เมื่อเรายังไม่มี “วัคซีน” เพียงพอเพื่อช่วยควบคุมการระบาดอีกทางหนึ่ง ก็ได้แต่หวังพึ่งโมเดลการควบคุมแบบดั้งเดิมระหว่างรอคอยวัคซีนที่ดีมีคุณภาพ!
Source: The Guardian, Time, CNN
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
- สรุปการเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์ จากประกาศเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 64 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 ก.ค. 64 เป็นต้นไป
- ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘อังกฤษ’ เลิกล็อกดาวน์กำลังพาทั้งโลกเสี่ยงอันตราย!