มิติใหม่ของการขายสินค้าที่กำลังฮือฮาในโลกโซเซียลในยามวิกฤตโควิด ณ ตอนนี้ คงหนีไม่พ้น ‘กล่องสุ่ม’ ที่มีสารพัดรูปเเบบทั้งสินค้าอุปโภค–บริโภค เครื่องสำอางไปจนถึงแกดเจ็ตไอที เเต่ที่ฮิตสุดๆ ถึงขั้นต้องเเย่งชิงกันเลยก็คือ ‘กล่องสุ่มอาหารทะเล’
การประกาศขายสินค้าโดยที่ลูกค้าไม่รู้ว่าจะได้รับอะไรบ้าง และสุ่มให้ลูกค้าผู้โชคดีเท่านั้น เป็นกลยุทธ์ ‘ความไม่เเน่นอน’ ที่ดึงดูดความสนใจ ‘ให้ลอง’ ได้ดีทีเดียว
เทรนด์การตลาดที่มาเเรงนี้ ทำให้ศึกขาย ‘อาหารทะเล’ ต้องเเข่งขันกันดุเดือดมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเหล่าพ่อค้าเเม่ค้าที่เคยมีหน้าร้านในตลาดสด ไปจนถึงบรรดาฟาร์มประมง ที่วันนี้ต้องปรับตัวมาขายออนไลน์เกือบ 100%
กล่องสุ่มอาหารทะเล ส่วนใหญ่จะมีราคาเริ่มต้นที่กล่องละ 500 บาทขึ้นไป ผสมรวมทั้งปลา กุ้ง กั้ง ปลาหมึกเเละหอยชนิดต่างๆ
‘เเจ็ค – ปิยะ จงพิริยะไพบูลย์’ เจ้าของร้าน ทะเลมือถือ–ปลาทะเลออนไลน์ ที่มีคนติดตามในเฟซบุ๊กกว่า 1.8 หมื่นราย ภายในเวลาไม่ถึงเดือน ให้สัมภาษณ์กับ Positioning โดยเล่าย้อนไปถึงที่มาของ ‘ไอเดียกล่องสุ่ม’ นี้ว่า…
ก่อนหน้านี้ ครอบครัวทำธุรกิจขายอาหารทะเลมานานกว่า 10 ปี เเต่เปิดขายเฉพาะที่หน้าร้านเเบบ ‘ออฟไลน์’ ที่ตลาดบางกะปิ ไม่เคยขายทางออนไลน์มาก่อน เเต่เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เเละสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีช่วงที่ตลาดต้องปิดให้บริการชั่วคราว จากนั้นเเม้จะกลับมาเปิดทำการ ผู้คนก็ออกมาซื้อของที่ตลาดสดลดลงมาก
เมื่อต้องหยุดขายไปเป็นเดือนๆ ทำให้ต้องดิ้นรนหาช่องทางรายได้ใหม่เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด เขาปิ๊งไอเดียการตลาดด้วย ‘กล่องสุ่ม’ จากการดูยูทูบ ทั้งของต่างประเทศเเละในไทย เเต่ตอนนั้นยังจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าไอที เสื้อผ้าเเละความงาม
จึงคิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์กับ ‘อาหารทะเล’ เพราะคนไทยชื่นชอบเเนวซีฟู้ดอยู่เเล้ว ยิ่งมีของหลายอย่างรวมกันในราคาไม่สูง ยิ่งน่าจะโดนใจผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเป็นการอุดช่องโหว่การเข้าถึงอาหารทะเลของคนต่างจังหวัดด้วย
เทรนด์ฮิต ‘ชั่วข้ามคืน’
ในวันเเรก หลังจากเปิดเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามหลักสิบคน เขาคาดว่าจะขายได้เพียง 4 กล่องต่อวันเท่านั้น เเต่ทว่ากระเเสตอบรับดีเกินคาด ทางร้านสามารถขายได้ถึง 20 กล่อง
หลังขายกล่องสุ่มอาหารทะเลผ่านออนไลน์ ได้แค่เพียง 1 สัปดาห์ ทางร้านก็มียอดขายเพิ่มขึ้น ‘หลายเท่าตัว’ จากเดิมที่เคยขายในตลาด โดยมีออเดอร์สูงสุดต่อวันถึง 500 กล่องต่อวัน ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘เช้าวันนี้มาวัดดวงกับกล่องสุ่มอาหารทะเลไหมล่ะ’
“จริงๆ ความต้องการของลูกค้า ณ ตอนนี้ มีมากถึง 800 กล่องต่อวันทั้งในกรุงเทพฯ เเละต่างจังหวัด เเต่ด้วยระบบของเราที่ยังไม่เสถียร มีกำลังคนน้อย เเละเพิ่งเปิดมาได้ไม่กี่วัน ทำให้เราต้องจำกัดออเดอร์ไว้ที่ไม่เกิน 500 กล่องต่อวัน เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพเท่าๆ กัน ไม่เน้นว่าต้องขายเอาปริมาณอย่างเดียว ต่อไปถ้าขยายระบบร้านได้ ก็ตั้งเป้าที่จะให้บริการได้ถึง 1,000 กล่องต่อวัน”
เขามองว่า ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจนี้มีความนิยมขึ้นมาอย่างมาก เนื่องจากในช่วงล็อกดาวน์คนอยู่เเต่บ้าน ไม่สามารถไปกินที่ร้านได้ จึงทำอาหารกินกันเองมากขึ้น เเละภายในกล่องสุ่มก็มีสินค้าที่หลากหลาย ทำให้รู้สึกคุ้มค่าเเละคุ้มราคา กินได้หลายคน บางครอบครัวสั่งหนึ่งกล่อง เเต่สามารถเเบ่งทำอาหารได้อีกหลายมื้อ
การที่ทางร้านปรับตัวเเละจับกระเเสธุรกิจได้ทันเวลา ก็ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยกลวิธีการรับออเดอร์นั้น ทางร้านจะมีการเเจ้งผ่านเพจเฟซบุ๊ก เป็นรอบๆ ในเเต่ละวัน เช่น ประกาศขายกล่องสุ่มอาหารทะเล กล่องละ 500 บาท เเต่จำกัดเพียง 50 กล่อง
พร้อมระบุเงื่อนไขการตัดยอด ค่าขนส่งเเละ ‘รหัสจอง’ (เช่น MO16) ที่ลูกค้าต้องพิมพ์ตอบใต้โพสต์เพื่อลุ้นเป็นผู้โชคดีจากการสุ่มซื้อจากนั้นจะใช้ระบบของเฟซบุ๊กสุ่มหาลูกค้าเเบบอัตโนมัติเพื่อจะได้รับสินค้าในรอบนั้นๆ ไป
นับเป็นการเปิดให้ลูกค้าได้ ‘ร่วมสนุก’ เหมือนเล่นเกมชิงโชค (เเต่ต้องจ่ายเงินซื้อ) ที่สามารถกระตุ้นการขายเเละได้ผลลัพธ์ที่ดีเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย
เเข่งกันที่ ‘คุณภาพ’ โปรโมตออนไลน์กระตุ้นยอดขาย
ปิยะ บอกว่า จุดเด่นของร้านทะเลมือถือ–ปลาทะเลออนไลน์ ที่มัดใจลูกค้าได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การเลือกวัตดุดิบที่มี ‘คุณภาพเเละคุ้มค่า’ ทำให้ลูกค้าชื่นชอบ ‘ติดใจ’ เเละแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย ซึ่งการรีวิวเป็นส่วนสำคัญมาก
รองลงมา คือกลยุทธ์การโปรโมต โดยจะเน้นไปที่การจัดโปรโมชันลดเเลกเเจกเเถม ‘ไลฟ์สดแจกฟรี’ เป็นเกมสนุกๆ ให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม เป็นทั้งการเพิ่มยอดขายเเละ Engagement ของเพจได้อีกทางหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น การเเจก ‘กล่องสุ่มพิเศษ’ (ในกล่องจะมีสินค้าไม่เหมือนกล่องที่ขายทั่วไป เช่น กุ้งมังกร ฟรีค่ากล่องค่าขนส่ง) ให้ลูกค้าที่ทำการสั่งซื้อไปเเล้ว มีสิทธิ์ลุ้นชิงของรางวัลทุกคน
อย่างไรก็ตาม เเม้ยอดขายจะพุ่งพรวดตามกระเเส เเต่ช่วงนี้ก็ต้องเจอปัญหาการล่าช้าของธุรกิจขนส่งในไทย ที่สะดุดเพราะมีพนักงานติดโควิดหลายเจ้า กระทบต่อเนื่องมาถึงร้านค้าออนไลน์ที่ต้องพึ่งพาเครือข่ายโลจิสติกส์นี้
โดยเมื่อมีบางรายการที่ส่งถึงช้ากว่ากำหนด ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ทางร้านไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะมีการเเจ้งอย่างตรงไปตรงมา เเละเเก้เกมด้วยการ ‘ชดเชยให้ลูกค้า’ อย่างการเเถมให้ในปริมาณที่มากขึ้น พร้อมกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดส่งกับขนส่งหลายๆ เจ้า ดูว่าโซนไหนบริษัทอะไรให้บริการได้เร็วที่สุด
คว้าโอกาสก่อนหมดกระเเส พัฒนาต่อ ไม่หยุดนิ่ง
ท่ามกลางการเเข่งขันในตลาด ตอนนี้มีทั้งเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ กระโจนลงสนาม ‘กล่องสุ่มอาหารทะเล’ ในราคาหลักร้อย ลักษณะเดียวกันนี้จำนวนมาก อย่าง แพเจริญทรัพย์ กล่องสุ่มอาหารทะเล by Kalawin , มาตรัง ปูไข่ดองน้ำปลาหอมเจ้าแรก , ทะเลไทย อาหารทะเลสด , Seafood ป่ะล่ะ , กั้งกระดานสด M&T , กล่องสุ่มอาหารทะเล by napat ฯลฯ
เจ้าของร้านทะเลมือถือ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาตามกระเเสตลาด เทรนด์นี้อาจจะอยู่ไม่นาน ต้องรีบคว้าโอกาสนี้ไว้ ซึ่งทางร้านจะเตรียมรับมือเเละพัฒนาอยู่เสมอ ควบคุมคุณภาพให้ดีเเละไม่หยุดนิ่ง ขยายช่องทางการรับรู้ของเเบรนด์ ขยายทีมงาน-สถานที่ พยายามสรรหาของใหม่ๆ มาให้ผู้บริโภค เเตกไลน์สินค้าไปจับกลุ่มพรีเมียมมากขึ้น
“ในทุกสถานการณ์ที่เลวร้าย จะมีโอกาสอยู่เสมอ ต้องจับจังหวะความต้องการของตลาด ค้นหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอเเละทำออกมาให้ดีที่สุด ไม่ต้องกลัวล้มเหลว”
จากตอนเเรกที่ไม่คาดคิดว่าจะสร้างรายได้มากมาย กลายเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ใหม่ในวงการตลาดเมืองไทย เมื่อความต้องการของผู้บริโภคมาบรรจบเข้ากับการปรับตัวของธุรกิจในยุคโควิด ต่อไป ‘กล่องสุ่มอาหารทะเล’ จะฮอตฮิตอีกนานเเค่ไหน เเละจะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใดบ้าง ต้องติดตาม…
- วิน-วิน! ไอเดียการตลาด “กล่องสุ่ม” ลูกค้าได้คุ้ม ร้านค้าได้จัดการสต็อก
- เสียงสะท้อน ‘ร้านอาหารในห้าง’ อยู่รอดอย่างไรเมื่อขาย ‘เดลิเวอรี่’ ไม่ได้ แถมรัฐไม่ชัดเจน