สถานการณ์ระบาดทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจ เมื่ออีเวนต์รวมบูธขายสินค้าจัดแบบออนกราวด์ไม่ได้ จึงต้องหาเทคนิกการขายใหม่ๆ โดยธุรกิจอสังหาฯ กำลังจะจัดงาน Virtual Property Expo 2021 ตั้งบูธออนไลน์ช่วยเร่งยอด ด้าน “ดร.เกษรา” ให้ความเห็นตลาดอสังหาฯ ยังหนักหน่วง แนะผู้ประกอบการรักษาสภาพคล่องประคองตัว
งานอีเวนต์ออนกราวด์ยังจัดไม่ได้ เพราะสถานการณ์การระบาดยังไม่กลับเป็นปกติ แต่ธุรกิจ “ต้องไปต่อ” ทำให้ไร้ท์แมนและวายดีเอ็มร่วมกันจัดงาน Virtual Property Expo 2021 มหกรรมการขายอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์เสมือนจริง ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 14-17 ตุลาคม 2564
“กัมพล นิสิตสุขเจริญ” กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง Virtual Solution เปิดเผยว่าการจัดงานรูปแบบเสมือนจริง จะช่วยทดแทนการจัดงานอีเวนต์ออนกราวด์ซึ่งปกติแล้วถือเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลังมาก เพราะเกิดการรวมตัวของทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย มูลค่าการขายในงานจะสูงมาก
การจัดรูปแบบเสมือนจริง จะให้ความรู้สึกเหมือนลูกค้าได้เข้ามาเดินดูบูธบริษัทต่างๆ เช่น ชมแกลลอรีภาพในบูธ มีระบบ Video Call กับเซลส์ขายโครงการ ทำให้ต่อรองราคาได้เหมือนไปที่บูธ
โดยงาน Virtual Property Expo 2021 คาดว่าจะมีโครงการเข้าร่วม 300 แห่งจากทั่วประเทศ และผู้เยี่ยมชม 580,000 คนตลอด 4 วัน
“ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์” ซีอีโอ บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง Virtual Solution เปิดเผยว่า ปัจจุบันแบรนด์อสังหาฯ ต่างๆ หันมาทำการตลาดบนดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ บริษัทมักจะเทงบลงไปที่การ “ยิงแอด” โฆษณาตรงถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนเป็นยอดขาย มากกว่าใช้กับการทำแบรนดิ้งหรือวิดีโอโฆษณา
ผลคือการประมูลหรือ ‘bidding’ ในระบบของ Google และ Facebook ราคาจะสูงขึ้นมาก และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ แต่เกิดขึ้นกับทุกสินค้าเพราะผู้บริโภคหันมาช้อปออนไลน์ นั่นทำให้ต้นทุนการตลาดต่อการเข้าเยี่ยมชมไซต์โครงการหนึ่งครั้ง (cost per visit) สูงตามไปด้วย
แม้ว่าการทุ่มยิงแอดของแบรนด์อสังหาฯ จะสูงขึ้น แต่วายดีเอ็มเก็บข้อมูลจาก Google Search ปรากฏว่าขณะนี้การค้นหาที่อยู่อาศัยลดลง -40% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ทำให้การจัดมหกรรมออนไลน์ร่วมกันน่าจะตอบโจทย์ในการกระตุ้นดีมานด์ และลดต้นทุนการทำตลาดลง
อสังหาฯ ยังหนัก แนะบริษัทรักษาสภาพคล่อง
ด้านสถานการณ์อสังหาฯ ขณะนี้ “ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” รองซีอีโอ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่ายังอยู่ในห้วงวิกฤต ไม่เพียงแต่ดีมานด์หดตัว แต่ซัพพลายก็ลดลงเช่นกัน เพราะต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้นสวนทางที่ควรจะเป็น ด้วยสถานการณ์เฉพาะของ COVID-19 ทำให้ภาครัฐสั่งปิดไซต์ก่อสร้างไป 1 เดือน และธุรกิจต้องรับค่าใช้จ่ายในการดูแลแคมป์คนงานให้ถูกสุขลักษณะต่อไป รวมถึงต้นทุนค่าเหล็กก็สูงขึ้น และต้นทุนที่ดินไม่ลดลงหรือลดเพียงเล็กน้อย
ดร.เกษรามองในมุมผู้ประกอบการอสังหาฯ ว่า ในช่วงนี้ “การรักษาสภาพคล่อง” คือเรื่องสำคัญที่สุด ต้องประคองตัวจนกว่าวิกฤตจะผ่านพ้นไปให้ได้ก่อน
“ถ้าเรามองแล้วว่าสายป่านเราไม่พอ ต้องยอมลดขนาดบริษัทลง หรือถ้าจำเป็นต้องขาดทุนก่อนเพื่อให้มีกระแสเงินสดก็ต้องทำไปก่อน เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจไม่เคยที่จะเป็นขาลงตลอดไป วันหนึ่งก็ต้องกลับเป็นขาขึ้น เราต้องมีสภาพคล่องพอที่จะผ่านไปให้ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลดในระหว่างวิกฤตคือทีมงาน” ดร.เกษรากล่าว
ส่วนอสังหาฯ จะดีขึ้นเมื่อไหร่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสุดท้ายต้องรอการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองให้ได้มากที่สุดเพื่อควบคุมโรค ดังที่เห็นในบางประเทศเป็นเหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ว่า เรามีความหวังที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติ เปิดประเทศ เปิดการท่องเที่ยวได้เช่นกัน