ปัจจัยลบ-เหตุเร้าถาโถม ใกล้อวสาน รบ.ประชาธิปัตย์ ถึงเวลา “มาร์ค” ยุบสภา?

ความตั้งใจเดิมที่จะลากยาวรัฐบาลไปให้ได้มากที่สุด แต่วันนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็อาจต้องร่นเวลาในการอยู่ในอำนาจ โดยยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนก่อนครบเทอมสภาฯ ปลายปี

เพราะได้เอ่ยปาก กำหนดดีเดย์เดือนเมษายนนี้จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุผล 3 ข้อที่เคยพูดเอาไว้หลายครั้ง ทั้งเรื่องกฎกติกาการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมืองจนสู่ภาวะปกติ

3 เงื่อนไขข้างต้น “อภิสิทธิ์” อาจอ้างได้ว่า “หมดห่วง” ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขไปได้พอสมควร

กระนั้นก็ดี อีกทางหนึ่งการส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางการเมืองข้างต้น ก็มีการมองกันว่า “อภิสิทธิ์” น่าจะรีบฉากตัวจากการเดินเข้า “มุมอับ”

เมื่อ “กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” กรรโชกและผันผวน!

เพราะเมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว ถึงแม้จะสามารถกระชับอำนาจเข้ามาอยู่ในมือได้ระดับหนึ่ง หลังผ่านสารพัดวิกฤตมาได้ แต่ขณะเดียวกัน หลังผ่านพ้นปีใหม่ได้ไม่นาน

ปัญหาต่างๆ ตามเงื่อนไข 3 ข้อได้กระแทกเข้าใส่รัฐบาลในเวลาใกล้เคียงและเกือบพร้อมเพรียง สุ่มเสี่ยงที่นายกฯ จะ “รับมือ” และอาจทำให้รัฐบาล “พัง” จนยากที่กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

จนแผนเบิ้ลเก้าอี้นายกฯ รอบสองอาจสะดุด!

เริ่มจากเงื่อนไขในสภาฯ เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้การแก้ไขรูปแบบการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปได้ โดยกลับมาใช้เขตเลือกตั้งเล็กตามข้อเรียกร้องของพรรคร่วมรัฐบาล

และปรับรื้อเรื่องรูปแบบเลือกตั้ง เป็นไปตาม “สูตรปชป.” โดยจะเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต 375 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 เพิ่มความได้เปรียบในการเลือกตั้งให้พรรคประชาธิปัตย์

แต่กว่าจะลงตัวมาในสูตรที่ต้องการ ก็ขยายรอยร้าว ปชป.-พรรคร่วมรัฐบาลให้กว้างขึ้น

เพราะทั้งใช้การขู่ยุบสภา “คว่ำจานข้าว” หรือทำท่าจะโหวต “ล้มโต๊ะ” การแก้รัฐธรรมนูญ กลับมายืนสูตรเดิม ส.ส.เขตใหญ่ 400 ส.ส.ระบบสัดส่วน 80 ที่พรรคเล็กพรรคน้อยเสียเปรียบ

“หักดิบเพื่อน”

เอฟเฟกต์ที่ตามมาคือเสถียรภาพรัฐบาลผสมที่จะง่อนแง่นเต็มที การเล่นเกม วางหมาก เจาะยาง ขัดแข้งขัดขาเพื่อสางแค้น “เอาคืน” จะยิ่งมากขึ้น และไม่เป็นผลดีทั้งเวลาและการเอาใจใส่ในการบริหารประเทศ

รวมทั้งอาจต้อง “ไร้พวกเพื่อน” ในการช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล

เห็นได้จาก หลังงัดข้อกับพรรคร่วมรัฐบาล วันนี้เริ่มแสดงท่าทีเดินเกมสอดรับกับพรรคฝ่ายค้าน-เพื่อไทย ด้วยเพราะบรรดาคีย์แมนพรรคต่างๆ เข็ดเขี้ยว “เด็กดื้อ”

แม้จะต้องยืดอายุรัฐบาลไปตามเป้าหมายอย่างน้อยก็ภายหลัง 8 มีนาคม ที่จะมีการระดมทุนพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ นายกฯ จะไม่มีอำนาจยุบสภา ผู้นำโดน “ยึดดาบ”

แต่หากผ่านพ้นจากศึกซักฟอก ภาพลักษณ์รัฐบาลคงบอบช้ำบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ช้ำไปกว่าที่เป็น และร้าวลึกกับเพื่อนมากไปกว่าที่เห็น ประมุข ปชป.คงเลือกตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า

มากกว่าจะเดินเป็น “ซากศพ” ในสนามเลือกตั้ง!

ขณะที่เงื่อนไขเรื่องเศรษฐกิจ ถึงแม้รัฐบาลจะยัง “เอาอยู่มือ” ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆกระเตื้องขึ้นนับตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลในช่วงวิกฤต

แต่หลังจากเริ่มต้นปีเป็นต้นมา จะเห็นภาวการณ์ต่างๆ ผันผวนไปหมดทุกเรื่อง ทั้งราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ตลาดหุ้นแปรปรวน ปัจจัยลบเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น

ที่สำคัญ เรื่องผลกระทบต่อ “ปากท้อง” ชาวบ้าน ย่อมสั่นสะเทือนต่อคะแนนนิยมรัฐบาล

มิหนำซ้ำเรื่องทุจริคคอรัปชั่น ที่เป็นภาพลักษณ์ด้านลบของรัฐบาลก็ยังไม่ได้รับการสะสางแก้ไข และยิ่งช่วงท้ายเทอมรัฐบาล ย่อมเป็นเวลา “นาทีทอง” ของการ “กักตุนเสบียง”

ปมฉาวเรื่องโฉ่กรณีการ “โกง” ในโปรเจกต์โครงการต่างๆ ย่อมทยอยออกมา รัฐบาล “อภิสิทธิ์” จะยิ่งมอมแมม เปรอะเปื้อนไปยิ่งกว่านี้!

แต่ที่เป็นปัจจัยเร้าที่ทำให้ “อภิสิทธิ์” อาจต้องตัดสินใจสละเรือโดยเร็ว ว่าด้วยเรื่องเงื่อนไขของปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนในสังคม

แม้เรื่องการใช้ความรุนแรงจะดีขึ้น เสียงระเบิดลดน้อยลงไป รัฐมนตรี ส.ส.รัฐบาลพอจะก้าวเท้าเข้าสู่พื้นที่ฐานเสียงของคนเสื้อแดงได้ในระดับหนึ่ง อย่างที่นายกฯ ประเมินก็จริง

แต่กับเรื่อง ปม “สีเสื้อ” ที่ลดความรุนแรงในการห้ำหั่นกัน แต่อีกด้านหนึ่ง ทุกสีเสื้อหันเป้ามาที่ “อภิสิทธิ์” และรัฐบาลโดยพร้อมเพรียง!

ทั้งเจ้าประจำอย่าง “ม็อบเสื้อแดง” ที่ผูกขาดความอาฆาตนายกฯ แน่นอนอยู่แล้ว หลังจากลดดีกรีความร้อนแรงลงไปหลังการเผาบ้านเผาเมืองเมื่อเหตุการณ์พฤษภานรกฯปี 2553

“คนเสื้อแดงฟื้นแล้ว”

จากการนัดชุมนุมในระยะหลัง จำนวนคนได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นจนถึงขั้นครึ่งแสน และคาดว่าจะพีกสุดอีกครั้ง “รีเทิร์นแดงเดือด” ช่วงระลึกเหตุการณ์เมษาฯ-พฤษภาฯ 53 ของกลุ่ม นปช.

ถ้าปล่อยถึงตอนนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีแผนการเคลื่อนไหว เกมการโค่นล้มอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า “อภิสิทธิ์” จะโชคดี และผ่านพ้นไปได้เช่นปี 2553 ทั้งที่มีคนตายคนเจ็บเป็นเบือ

ไม่เท่านั้น สถานการณ์ จะยิ่งสุกงอมเข้าไปใหญ่ จากความเป็นไปในเวลานี้ ในส่วนของกลุ่มคนพันธมิตรฯ และเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ร่วมวงก่อม็อบต่อต้านรัฐบาลในการดำเนินนโยบายกรณีพิพาทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

จำนวนคนตั้งต้นอาจจะไม่มาก แต่กระแสแนวร่วมเริ่มจุดติด ไม่เฉพาะการผลิตซ้ำเรื่องวาทะกรรม ขายชาติ-เสียแผ่นดิน ที่คนทั่วไปเริ่มรับรู้

โดยเฉพาะจากกรณีคนไทยถูกจับกุมขังคุกเขมร โดยรัฐบาลเหมือนจะไม่ “เต็มแรง” ในการช่วยเหลือ หนำซ้ำยังปวกเปียกอ่อนนิ่มกับเกมการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งกองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรี แสดงความอ่อนแอให้เห็น

เป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนเข้าร่วมม็อบเพิ่มขึ้น!

แถมเรื่อง “เหลือง” บวก “แดง” กวักมือเรียก “สีเขียว” กองทัพ ให้ออกมา “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปล
งอำนาจบริหารประเทศของรัฐบาล

ถึงจะเป็นได้ยาก ในเรื่องอุดมการณ์การเคลื่อนไหวของคนสีเสื้อ ที่เหมือนน้ำกับน้ำมันยากจะเข้ากัน แต่เมื่อมี “ศัตรูร่วม” ก็ใช่จะเกิดขึ้นไม่ได้

เช่นเดียวกับกระแสปฏิวัติรัฐประหาร ที่เบื้องลึกเบื้องหลังเป็นเกมสลับซับซ้อน และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจุดประสงค์ เพื่อสกัดกั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและสุ่มเสี่ยงขั้วอำนาจเดิมจะคัมแบ็ก

โดยต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลที่อ่อนแอ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อ “จัดระเบียบประเทศ” อีกครั้ง อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หรือแม้แต่การยั่วให้กระทำการยึดอำนาจโดย “อำนาจนอกระบบ” เพื่อให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย

วัตถุประสงค์ต่าง แต่มีเป้าหมายร่วมคือ “โค่นรัฐบาลประชาธิปัตย์”

เกมนอกระบบ ที่ “อภิสิทธิ์” ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม และดีที่สุดคือการดึงการเมืองให้กลับมาเดินอยู่ในระบบด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชน

ยุบสภาเลือกตั้งเร็ว!!