Top 3 Big Trends ที่น่าจับตาในปี 2011

ในแต่ละปีจะมีเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ บ่อยครั้งผลกระทบทางเทคโนโลยี ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายแง่มุม ทั้งพฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน พฤติกรรมการทำงาน เป็นต้น

สิ่งที่ผมเฝ้าสังเกตอยู่เสมอ คือ ปฏิกิริยาที่เรามีในการตอบสนองต่อเทคโนโลยีนั้นๆ รวมไปถึงการรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ในระดับของปัจเจกเหล่านี้ มีผลต่อนักการตลาด ทั้งในแง่ของการเลือกใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับสินค้าที่ต้องการขาย และกับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมายในการใช้งานสินค้าของตน รวมไปถึงบางเทคโนโลยี เป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ ให้กับองค์กร

ความเข้าใจและเท่าทันในเทคโนโลยีจึงเหมือนกับการสร้างโอกาส และในขณะเดียวกันก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจที่เราเกี่ยวข้อง มาลองดูกันครับ ว่า มีเทรนด์อะไร ที่จะส่งผลกับสังคม พฤติกรรม และเศรษฐกิจได้บ้าง

Device & Platform Trends : สงคราม Tablet Ecosystem

ปี 2010 เรียกได้ว่า เป็นปีที่ถือกำเนิด Tablet อย่างแท้จริง

การมาของ “iPad” จาก Apple ในเดือนเมษายน 2010 กลายเป็นเสมือนอัศวินม้าขาวที่ช่วยจุดประกายให้อุปกรณ์พกพาลักษณะ Tablet ให้กลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการพยายามสร้าง Tablet ออกมาในตลาด Consumer เมื่อหลายปีก่อน โดยการบุกเบิกของ Microsoft ความล้มเหลวของมหาอำนาจด้านซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการ กลายเป็นสิ่งที่เข็ดขยาดและน่าหวาดกลัว สำหรับผู้ผลิต ที่คิดจะสร้างอุปกรณ์ Tablet ขึ้นมาอีกครั้ง

แต่ Apple ทำได้ครับ และไม่ใช่ว่าอยู่ๆ Apple ก็คิดขึ้นมาได้ทันช่วงเวลานั้น แต่อุปกรณ์ Tablet เป็นสิ่งที่ Apple ซุ่มวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี 1993 โดย Tablet ที่ Apple สร้างขึ้นมาในตอนนั้น มีชื่อว่า “Newton”

แต่ด้วยความไม่พร้อมของเทคโนโลยี ที่ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้ได้ ทำให้โครงการนั้นล้มเลิกไปในอีก 2 ปีถัดมา

วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ Apple คิดค้นขึ้นมาในแต่ละยุค ไม่ว่าจะเป็น ยุค iPod ซึ่งเป็นการสรรค์สร้าง เครื่องเล่นเพลงดิจิตัลขนาดเล็ก ใช้หน่วยความจำแบบแฟลชและฮาร์ดดิสค์ขนาดเล็กในการเก็บเพลง การออกแบบ User Interface การออกแบบวิธีการควบคุมเครื่องเล่น ล้วนเป็นฐานรากที่สำคัญในการนำต่อยอดและประยุกต์ใช้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้

จิ๊กซอว์ของ Apple เริ่มสมบูรณ์ เมื่อบริษัทสามารถคิดค้นวิธีการควบคุมแบบ “Multi-touch” บนหน้าจอแบบสัมผัส (Touch Screen) ได้

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการมีเทคโนโลยีที่ล้ำเลิศอยู่ในมือ Apple มี 2 ทางเลือก คือ การสร้างโทรศัพท์มือถือที่ใช้นิ้วควบคุมการทำงาน และการรื้อฟื้นโครงการ Tablet ที่เคยทำในอดีต

ในตอนนั้น Steve Jobs ซึ่งเป็น CEO ของ Apple ตัดสินใจที่จะทุ่มองคาพยพทั้งหมดที่มีให้กับการสร้างโทรศัพท์กลายเป็นที่มาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ที่ Nokia ครองบัลลังก์มาอย่างยาวนานนับสิบปี

เมื่อประสบความสำเร็จจากการรุกอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือแล้ว Apple จึงกลับมาเดินหน้าต่อกับ Tablet ของตัวเองกลายเป็นที่มาของ iPad ที่สร้างยอดขายกว่า 7 ล้านเครื่อง และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 95% ในปี 2010 ที่ผ่านมา แน่นอนว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ iPad ไม่ได้มีแค่ตัวเครื่องเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสอดประสานกัน ของเทคโนโลยีและประสบกาณ์ต่างๆ ที่ Apple สะสมมาตั้งแต่การสร้าง iPod มาจนถึงยุค iPhone

สร้างเป็น “Ecosystem” ขึ้นมาโดยมีส่วนประกอบคือ ฮาร์ดแวร์ แพลตฟอร์ม (iOS) เครือข่ายนักพัฒนา (Apple Developer) และช่องทางจำหน่ายดิจิตัล (iTunes, App Store) หมากแต่ละตัวที่ประกอบกันเป็น “Ecosystem” ของ Apple ล้วนแต่เป็นตัวที่แข็งและเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมทั้งสิ้น

ทำให้ ณ วันนี้ ผู้นำตลาด Tablet และ Smart Phone ยังคงต้องเป็น iPad และ iPhone อย่างไม่มีข้อสงสัยแต่ใช่ว่า “ผู้ท้าชิง” ในอุตสาหกรรมจะนิ่งเฉย ให้ Apple เป็นผู้ชนะในเกมเพียงคนเดียว

คาดว่า ในปี 2011 ตลาด Tablet จะ “ระอุ” อย่างแน่นอน เพราะมียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Microsoft, Research in Motion (RIM) กระโจนเข้ามาในสมรภูมิ

ogle ดูจะเป็นคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อที่สุด เพราะ “Ecosystem” ของ Google ก็เรียกได้ว่า พอฟัดพอเหวี่ยง ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ที่พร้อมระดมสรรพกำลังจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น Samsung, HTC, Motorola , LG, Sony Ericsson และ Dell เป็นต้น

ตัวแพลตฟอร์ม Android ที่สะสมประสบการณ์ทั้งในตลาด Smart Phone ที่ตีคู่มากับ iOS ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานพอๆ กัน และในด้าน Tablet แพลตฟอร์ม Android ก็ได้ส่ง Samsung Galaxy Tab เข้ามาลองแหย่หนวดราชสีห์ดูบ้างแล้ว

แม้ว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 5% แต่ก็นับได้ว่าเพิ่งก้าวเข้าสู่สมรภูมิเพียงไม่กี่เดือน อีกทั้งตัวระบบปฏิบัติการ ยังไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อใช้งานเป็น Tablet อย่างสมบูรณ์

ด้านเครือข่ายนักพัฒนาของ Google และ Android เอง ก็ถือว่าเริ่มสร้างกองกำลังโปรแกรมเมอร์ทั่วโลก ให้มาเข้าร่วมทัพได้ไม่น้อย

จะเริ่มสังเกตได้จากแอพฯดังๆ บน iOS เริ่มทยอยมาลงใน Android พอสมควร แม้ว่าจำนวนแอพฯ บน App Store จะมีมากกว่า 300,000 แอพฯ แต่แอพฯ บน Android Market ก็มีทะลุ 100,000 แอพฯ ไล่ตามมา

แต่ถึงปริมาณแอพฯ จะเริ่มไล่ตามมา แต่แอพฯ คุณภาพที่มาจากค่ายนักพัฒนารายใหญ่ๆ ก็ยังตามหลังแอพฯ บน iOS อยู่ เช่น ค่ายเกมชื่อดังอย่าง Gameloft ที่มีเกมบน Android เพียง 12 เกม แต่มีเกมบน iOS ถึง 136 เกม หรือค่ายเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Capcom Mobile ผู้สร้างเกมดังอย่าง “Street Fighter” ก็มีเกมบน iOS ถึง 27 เกม แต่มีเกมบน Android เพียง 4 เกมเท่านั้น

แต่ด้วยอัตราการเติบโตของฐานผู้ใช้ Android ก็ทะยานขึ้นในอัตราเร่งที่สูง จนแซงหน้า iOS ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ขนาดตลาดของผู้ใช้ Android มีความน่าดึงดูดเพิ่มขึ้นมหาศาล

แต่สิ่งที่ Google ยังเป็นรอง Apple อย่างเห็นได้ชัด คือ ช่องทางจำหน่ายดิจิตัล

“Android Market” ยังไม่สามารถเทียบเคียง “App Store” ของ Apple ได้ ทั้งในเรื่องของการชำระเงินซื้อสินค้า ระบบการจัดอันดับแอพฯ ระบบแนะนำแอพฯ ทั้งแบบอัจฉริยะคาดเดาจากความนิยมชมชอบเดิมของผู้ใช้ (Genius) และระบบที่ใช้คนแนะนำ (Staff Recommended)

Android เริ่มตีตื้นขึ้นมาได้ในหลายๆ ส่วน แม้จะยังไม่มีส่วนใดเลยที่จะสู้ iOS ได้ แต่ด้วยจำนวน Device ที่หลากหลายจากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ สร้างตัวเลือกที่แตกต่างให้กับผู้ใช้ รวมไปถึงฐานจำนวนผู้ใช้ Android และด้วยความเป็นมหาอำนาจในโลกอินเทอร์เน็ตของ Google ทำให้โอกาสในการแข่งขันกับ “Ecosystem” ของ Apple มีความสูสีมากยิ่งขึ้น

อีกค่ายที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจ Tablet คือ Research in Motion (RIM) ผู้ผลิต Smart Phone ยอดฮิตอย่าง BlackBerry

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2010 ที่ผ่านมา ค่าย RIM ประกาศ เตรียมลงสนามสู้ศึก Tablet โดยใช้ ชื่อว่า “BlackBerry PlayBook”

แม้การลงสนามครั้งนี้ RIM จะถูกมองว่ามาช้า แต่ก็มีการเตรียมพร้อมที่ดี โดยจุดเด่นที่จะใช้ในการรุกตลาดคือ ความสามารถของตัวฮาร์ดแวร์ที่เหนือกว่า ร่วมกับระบบปฏิบัติการ “BlackBerry Tablet OS” ที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับ Tablet โดยเฉพาะ

จุดเด่นของ “BlackBerry Tablet OS” คือ สามารถรัน Flash ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นระบบที่สามารถใช้งาน Multi-tasking ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในโลก Tablet ปัจจุบัน และมีความสามารถด้าน Multimedia แบบ HD โดยสมบูรณ์

แม้ว่าตัวฮาร์ดแวร์และแพลตฟอร์มจะดูน่าสนใจ แต่สิ่งที่สำคัญคือแอพฯ เครือข่ายนักพัฒนา และช่องทางจำหน่ายดิจิตัลที่ยังคงตามหลัง Apple และ Google อยู่หลายช่วงตัว ทำให้ปีนี้ “BlackBerry Playbook” คงยังไม่สามารถแข่งขันได้สมน้ำสมเนื้อ

และมีโอกาสสูงเหลือเกิน ที่จะแพ้อย่างย่อยยับ เพราะความได้เปรียบด้านฮาร์ดแวร์และแพลตฟอร์มมีวางแผนไว้ อาจจะไม่สามารถคงความได้เปรียบไว้ได้ เนื่องจากทั้ง Apple ที่มีข่าวว่าจะออก “iPad 2” ในช่วงเดือนเมษายน และอาจจะมากับ iOS รุ่นใหม่ รวมไปถึง Google ที่กำลังจะออกระบบฏิบัติการ Android รุ่นใหม่ นามว่า “Honeycomb” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานกับ Tablet โดยเฉพาะ คาดว่าจะมีผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายใหญ่หลายรายนำ “Honeycomb” ไปใช้

เชื่อว่าถึงสิ้นปี เจ้าตลาดและอันดับสองน่าจะยังเป็น “Apple” และ “Google” เหมือนเช่นเคย แต่จะมีการต่อสู้ระหว่างปีของ Android Tablet จากผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Samsung HTC เข้ามาแข่งขันและอาจจะแย่งส่วนแบ่งตลาดมาจาก iPad (และ iPad 2) มาได้ รวมกันประมาณ 30%

สงคราม Tablet ในปี 2011 น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง และคาดหมายว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ Tablet มีอิทธิพลสูงมากกว่า Netbook และ Desktop PC

เมื่อผู้บริโภคมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถใช้บริการออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก และสามารถการเข้าถึงเนื้อหา ข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลในโลกออนไลน์ ได้จากทุกที่ ทุกเวลาอย่างแท้จริง

พฤติกรรมของคนในสังคมจะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง

ถ้าลองคิดแบบสุดขั้วจริงๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น จะเกิดอะไรขึ้น… ถ้าคนเลิกซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ที่วางขายบนแผงหนังสือ

เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีห้องสมุด เมื่อสามารถค้นหา และอ่านหนังสือได้จากทุกที่

เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียน เพราะความรู้ต่างๆ มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น

จะเกิดอะไรขึ้น… ถ้าคนเลิกดูทีวี แล้วหันมาดู VDO Streaming ที่สามารถเลือกดูในสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ได้

จะเกิดอะไรขึ้น… เมื่อทุกคนมีคีย์บอร์ดในมือเป็นอาวุธ พร้อมเข้าทำสงครามไซเบอร์ในด้านมืด หรือในเชิงสร้างสรรค์

จะเกิดอะไรขึ้น… ถ้าเวลาที่ใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้คนในสังคมลดลงเกินครึ่งหนึ่ง แต่ไปเกิดขึ้นในโลกออนไลน์แทน จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความผูกพัน

จะเกิดอะไรขึ้น…ถ้าคนเรารู้จักกัน ผูกพัน สนิทกัน โดยผ่านตัวตนเสมือนของตัวเอง

ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ครับ เมื่อเรามีเครื่องมือที่เหมาะสมและทรงประสิทธิภาพอยู่ในมือ Tablet เป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำทุกสิ่งที่กล่าวมาได้ครับ:)

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมี Tablet
ธุรกิจ ผลกระทบ โอกาส
สิ่งพิมพ์ คนลดปริมาณการอ่านสิ่งพิมพ์และหันไปอ่านจากออนไลน์มากขึ้น แปลง Content จากที่อยู่บนสิ่งพิมพ์ให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิตัล
TV คนเลิกดูทีวี แล้วหันมาดู VDO Streaming ที่สามารถเลือกดูในสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ได้ แปลง Content ของตัวเองให้อยู่ในรูปแบบดิจิตัลแล้วจัดระบบระเบียบให้ดี หา Business Model ที่เหมาะสมนำมาใช้
เพลง คนจะเลิกซื้อซีดีและหันมาดาวน์โหลดเพลงลงในอุปกรณ์ต่างๆ หา Business Model ที่เหมาะสมกับการซื้อขายเพลงแบบดิจิตัล เช่น ดาวน์โหลดแบบเสียเงิน ได้ตั๋วคอนเสิร์ต ได้สิทธิ์พบเจอศิลปิน หรือได้ของสะสมแบบ Limited Edition

Consumption : “พฤติกรรมการบริโภคร่วมกัน” (Collaborative Consumption)

วัฒนธรรมการบริโภควัตถุ “ร่วมกัน” เป็นวัฒนธรรมที่มีอยู่คู่ทุกสังคมบนโลกใบนี้ เพราะวัตถุบางอย่างอาจจะไม่มีความจำเป็นในการครอบครอง (ใช้แค่ครั้งสองครั้งก็เบื่อ) หรือไม่สามารถครอบครองได้ (ราคาในการเป็นเจ้าของสูงมาก) หรือเพราะความที่มีจำกัด (ที่บ้านมีโทรทัศน์เครื่องเดียวเลยต้องดูด้วยกัน)

เราทุกคนล้วนต้องเคยใช้ อะไรบางอย่าง “ร่วมกัน” ไม่ว่าจะเป็น คนขับรถที่ใช้ถนนร่วมกัน การใช้ที่จอดรถร่วมกัน การพักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ร่วมกัน การเช่าห้องพักอยู่ร่วมกัน การใช้บริการขนส่งสาธารณะ การยืมหนังสือในห้องสมุด เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ มีการสร้างธุรกิจมากมายบนพื้นฐานของการใช้งานร่วมกัน เช่น ธุรกิจเปิดให้เช่าแผ่น DVD ที่มีการนำแผ่น DVD ให้ยืมตามลำดับคิว ธุรกิจให้เช่ารถ Taxi ก็เป็นการนำรถเก๋งปกติมาดัดแปลงให้เป็น Taxi และเอามาให้คนขับ Taxi เช่า เป็นต้น

เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมา “พฤติกรรมการบริโภคร่วมกัน” (Collaborative Consumption) เหล่านี้เกิดขึ้นกับหน่วยเล็กๆ ในสังคม

เกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อน…
เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน…
เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้ๆ กัน…

แต่วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในคนยุคใหม่ มีการใช้งาน “Social Networks” เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร สร้างปฏิสัมพันธ์กันมากมายหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การสื่อสารแบบ หนึ่งต่อหนึ่ง (One-to-One) การสื่อการแบบหนึ่งต่อหลายคน (One-to-Many) และการสื่อสารแบบหลายคนต่อหลายคน (Many-to-Many) ทำให้ขอบเขตของการสื่อสารที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ ขยายตัวกว้างไกลออกไปด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น

เทคโนโลยี ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน…

รูปแบบของ “พฤติกรรมการบริโภคร่วมกัน” มีหลากหลาย ทั้งการแบ่งปัน (Sharing) การแลกเปลี่ยน (Bartering) การให้ยืม (Lending) การเช่า (Renting) การให้เป็นของขวัญ (Gifting) การสลับกันใช้ (Swapping)

เมื่อเทคโนโลยีและเครื่องมือดังกล่าว ประสานสอดรับ กับ “พฤติกรรมบริโภคร่วมกัน” ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้ มีบริการหลายๆ บริการที่สรรค์สร้างอยู่บนพื้นฐานของ “พฤติกรรมการบริโภคร่วมกัน” แบบใหม่ ตัวอย่างเช่น

“ZipCar” ที่ให้ผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกที่เรียกว่า “Zipster” สามารถใช้รถยนต์ “ร่วมกัน” ได้ ในลักษณะของการเช่าขับ โดย “Zipcar” เปิดโอกาสให้ “Zipster” เลือกรถยนต์ในหลากหลายรุ่น ตั้งแต่รถเก๋ง รถกระบะ รถบรรทุกขนาดเล็ก มีระบบการจองคิวรถยนต์ ที่สามารถจองล่วงหน้าได้ ในระดับตั้งแต่ นาทีไปถึงจนถึงระดับปี

ระบบการคิดค่าใช้จ่ายของผู้ที่ต้องการเช่ารถยนต์ มีระบบ “Zipcard” ที่ใช้ในการล็อกและปลดล็อกรถ “Zipcar” ที่เช่ามา รายได้ของ “Zipcar” มาจาก ค่าสมัคร $25 ค่าสมาชิกรายปี $60 และค่าเช่าแบบรายชั่วโมงหรือรายวัน

ธุรกิจการของ “Zipcar” ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ อาจเป็นเพราะต้นทุนการเป็นเจ้าของรถสักคันสูง หรือบางครั้งก็มีความต้องการการใช้รถยนต์ที่แตกต่างกันไป เช่น ต้องการรถไว้ขนของย้ายบ้าน ต้องการรถเพื่อขับไปเที่ยวกับคู่รัก หรือเป็นคนที่ขี้เกียจขับรถแต่มีความจำเป็นในบางครั้ง เป็นต้น

ปัจจุบัน “Zipcar” มีรถยนต์ให้เช่ากว่า 8,000 คัน กระจายอยู่ใน 28 รัฐ ของสหรัฐอเมริกา มีตัวแทนกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยกว่า 225 แห่ง และมีสมาชิก “Zipster” กว่า 500,000 คน

เมื่อเดือนเมษายนปี 2010 “Zipcar” ได้เข้าซื้อกิจการ “Streetcar” ซึ่งเป็นธุรกิจรถยนตร์ให้เช่าที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ โดยมีเป้าหมายในการขยาย “Zipcar” ไปยังยุโรป

จากธุรกิจให้เช่ารถยนต์อย่าง “Zipcar” ซึ่งเป็นรูปแบบของบริษัทให้เช่า ยังมีรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจให้เช่ารถยนต์แบบ “Peer-to-Peer” ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกเช่ารถขับได้โดยตรงกับเจ้าของรถ ช่วยให้เจ้าของรถมีรายได้จากการเช่า และผู้เช่าก็สามารถค้นหารถยนต์และอัตราค่าเช่าที่พอใจได้

ผู้ให้บริการเช่ารถยนต์แบบ “Peer-to-Peer” ที่น่าจับตาก็คือ “DriveMyCarRentals” และ “WhipCar” คาดกันว่า มูลค่าของธุรกิจรถยนต์ให้เช่า จะสูงถึง $12.5 พันล้านเหรียญ ภายในปี 2015

นอกจากธุรกิจเช่ารถยนต์แล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น “Swap.com” ที่เปิดให้สมาชิกกว่า 1.8 ล้านคน แลกเปลี่ยน หนังสือ CD เพลง DVD ภาพยนตร์ เกม ระหว่างกันได้ โดยมีของให้แลกเปลี่ยนกันอยู่ทั้งหมด กว่า 3 ล้านชิ้น

“LandShare” ที่ให้สมาชิก เช่า “ที่ดิน” หรือ “พื้นที่” ในการเพาะปลูก จาก สมาชิกคนอื่นๆ ในเครือข่าย “LandShare” ได้

“Airbnb.com” เป็นธุรกิจให้เช่าห้องพัก บ้านพัก ระหว่างสมาชิก ในรูปแบบคล้ายๆ กับเวลาส่งคนไปพักที่ Host Family ในต่างประเทศ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมจาก 8,249 เมือง ใน 168 ประเทศทั่วโลก

“Zopa” เป็นธุรกิจด้านการเงิน ที่ใช้หลักการของ “Peer-to-Peer lending” คือ ให้กู้เงิน ยืมเงินระหว่างบุคคลโดยตรง โดยสมาชิกสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาใช้หนี้ได้ตามความต้องการ

หน้าที่ของ “Zopa” คือ การเข้าไปช่วยจัดการเรื่องสัญญา การติดตามทวงหนี้ โดย “Zopa” มีรายได้จากค่า Fee จำนวน 124 ยูโรต่อการกู้ยืมแต่ละครั้ง และ ค่า Fee รายปี 1% จากจำนวนที่กู้ยืม

ปี 2010 มูลค่าของสินเชื่อในรูปแบบ “Peer-to-Peer” สูงถึง $5.8 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็น สัดส่วน 10% ของ สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหมด

แนวคิดของ “พฤติกรรมการบริโภคร่วมกัน” (Collaborative Consumption) นั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยสร้างโอกาสในการเกิดธุรกิจใหม่ๆ อีกมาก

ในตอนต่อๆ ไป ผมจะเจาะลึกในเรื่องนี้ แบบเต็มๆ ครับ:)

Social Media activity : Social Scanning

ทุกวันนี้ การมีมือถือ Smart Phone อยู่ในมือ นอกจากจะได้โทรศัพท์อัจฉริยะที่สามารถทำได้เกือบทุกอย่างแล้ว ด้วยความสามารถในการ Focus ของกล้องดิจิตัลในมือถือในระยะใกล้ (Macro Focus) ทำให้เหมือนมีเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องสแกน อยู่ในมือ

ทำให้งานบางอย่าง เช่น การสแกนภาพถ่าย การถ่ายสำเนาเอกสาร การสแกน Bar Code หรือ QR Code ไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องไม้เครื่องมือเฉพาะด้านอีกต่อไป ใช้แค่มือถือ Smart Phone บวกกับแอพฯ สักตัว ก็สามารถทำงานดังกล่าวได้แล้ว

ด้วยความง่ายดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้เริ่มสนุกกับการสแกน โดยเฉพาะการสแกน Bar Code และ QR Code และยิ่งสนุกมากยิ่งขึ้น เมื่อมีบริษัทมากมาย นำ QR Code มาเป็น Gimmick ในด้านการตลาด ใส่ QR Code เข้าไปในฉลากและบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามโฆษณาสิ่งพิมพ์ ตามป้ายที่ติดอยู่ตามห้างสรรพสินค้าเดินไปเจออะไร ก็สแกนได้ เยอะแยะไปหมด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สแกนแล้วไปไหนต่อ ทำอะไรต่อได้

ถ้าแบบเบสิคหน่อย คือ สแกนแล้วเปิดเว็บไซต์ของบริษัทหรือเว็บของสินค้าเพื่อแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยในการขายสินค้า แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ บริการที่เรียกว่า “Social Scanning”

“Social Scanning” คือ การสแกนแล้วนำไปแชร์ต่อในสังคมออนไลน์ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือพูดคุยเกี่ยวกับวัตถุหรือสินค้าชิ้นนั้นๆบริการ “Social Scanning” ที่น่าจับตาที่สุด คือ “StickyBits”

“StickyBits” เป็นบริการ “Social Scanning” ที่อยู่บนพื้นฐานของ “Social Networks” โดยมีลักษณะคล้ายๆ กับ Twitter (มี Following, Followers) รวมกับเกมที่มีการให้คะแนนเมื่อทำตามกฎกติกาที่กำหนด เช่น เมื่อ Scan Barcode ของสินค้าแล้วทำการโพสต์ ก็จะได้คะแนนการแชร์ เป็นต้น

นอกจากการสแกนเพื่อแชร์แล้ว “StickyBits” ยังให้ข้อมูลที่เกี่ยกับสินค้าที่สแกน เช่น ถ้าสแกนหนังสือ ก็จะมีข้อมูลของหนังสือ ผู้แต่ง หน้าปก ราคา และสถานที่ที่สามารถซื้อหนังสือเล่มนั้นได้

เมื่อรวมกับกิจกรรมด้าน Social Networks เช่น การกด Like การคอมเมนต์ การ Tag และการแชร์ ทำให้เรารู้ได้ว่า สินค้าหรือสิ่งของชิ้นนั้นได้รับความนิยมชมชอบอย่างไรบ้าง จากคอมเมนต์และจำนวนการ Like ของผู้คนในสังคมออนไลน์

“StickyBits” จะทรงคุณค่ามากขึ้น เมื่อผู้ใช้ขยายตัวมากขึ้น และส่งข้อมูล สแกน แชร์กันมากขึ้น ระบบจึงมีวิธีการให้คะแนนในแต่ละกิจกรรมที่เราทำ และมีการสะสมแต้มเพื่อแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ในชีวิตจริง เช่น คูปองส่วนลด ของแจกต่างๆ หรือแม้แต่การได้รับสินค้าของร้านค้าแบบฟรีๆ

ลองจินตนาการดูว่า ในขณะที่เราเดินอยู่ในร้านหนังสือ…

เราสามารถรู้ได้ทันทีว่าหนังสือเล่มที่เราอยากได้มีข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างไร ความเห็นของคนที่อ่านหนังสือเล่มนั้นเป็นยังไงบ้าง คนส่วนใหญ่ชอบหรือไม่ชอบ โดยที่เราไม่ต้องสอบถามจากพนักงานขายในร้านเลย ตัวเราอาจจะรู้ข้อมูลของหนังสือเล่มนั้นดีกว่าพนักงานขาย หรือแม้กระทั่งว่ารู้มากกว่าฐานข้อมูลของร้านหนังสือซะอีก

พฤติกรรมแบบนี้กำลังจะเกิดกับสิ่งของทุกสิ่งในโลก เพียงแค่มันมี Bar Code แปะติดอยู่ ไม่ว่าเราจะเดินไปที่ไหน อยากรู้จักสิ่งไหน เพียงแค่หยิบมือถือขึ้นมาเพื่อ Scan ตัว Bar Code ที่ติดอยู่ ก็สามารถรู้จักสิ่งสิ่งนั้นอย่างละเอียด

เราจะสนุกกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมากยิ่งขึ้น และได้รู้จักอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน

น่าสนุกดี จริงมั้ยครับ?

เทรนด์อื่นๆ ที่น่าจับตา

Payment : Near Field Communication (NFC)
มือถือ Android รุ่นล่าสุดจากการร่วมมือกันของ Google และ Samsung ที่ชื่อ Nexus S ได้ฝังอุปกรณ์ที่เรียกว่า “NFC” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ที่รองรับ NFC โดยผ่านคลื่นวิทยุ เช่น สามารถทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็นบัตรเดบิต/เครดิต เมื่อต้องการใช้จ่าย ก็สามารถใช้แทนตัวบัตรเดบิต/เครดิตได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องหยิบบัตรมารูด เพียงแค่เดินเข้าไปในระยะที่ “NFC” จะติดต่อกับอุปกรณ์คิดเงิน ก็สามารถคิดเงินให้เราได้ทันที เพิ่มความสะดวกและลดเวลาได้

Web & App : App Store ที่ไม่อยู่เฉพาะบนมือถืออีกต่อไป
เมื่อ Google โดดลงมาเล่น Chrome Web Store เพื่อเป็น Distribution Channel ของตัวเอง ในการกระจายบริการออนไลน์ต่างๆ ปีนี้ทาง Apple ก็จะเปิดตัว Mac App Store เพื่อขาย แอพฯต่างๆ สำหรับเครื่องแมคเช่นกัน เพราะยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ต้องการควบคุมการซื้อขายแอพฯ ผ่านตัวเอง รวมถึงต้องการสร้างให้ตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อเก็บค่า Fee ในการวางขายแอพฯ (จากเดิมผู้ใช้ซื้อตรงกับนักพัฒนาได้แล้วยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่ได้อะไร)

Location-based : ปีแห่งการ Check-in
เมื่อธุรกิจต่างๆ เห็นประโยชน์จากการใช้ FourSquare หรือบริการ Location-based อื่นๆ ก็จะเข้ามาทำการตลาดและนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสินค้าและบริการของตน ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการ Check-in และธุรกิจก็ได้ประโยชน์เช่นกัน อาทิ การได้รู้ว่าสาขาไหนมีผู้บริโภคเข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุด สินค้าตัวใดได้รับความนิยมที่สุดในสาขานั้น เป็นต้น