งานใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่ต้นปีคือ CES 2011 หรือ Consumer Electronics Show ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา คึกคักด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะทำตลาดในปีนี้คือ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ที่รับส่งสัญญาณบนเครือข่าย 4G (ฟังแล้วสำหรับคนไทยคงต้องรอไปแค่ลุ้นให้ได้ 3G ก็ถือว่าหรูแล้ว) เพราะที่อเมริกาและยุโรปปัจจุบันเริ่มมีเครือข่าย 4G ใช้กันแล้ว ทำให้ผู้ผลิตสมาร์โฟน และแท็บเล็ตแบรนด์ต่างๆ เริ่มเพิ่มสเป็กเครื่อง เพื่อรองรับการใช้งานบนเครือข่ายที่ไฮสปีดกว่าเดิม
นอกจาก 4G แล้ว ไฮไลต์ของงานที่พูดถึงกันมากอีกจุดหนึ่งคือระบบปฏิบัติการ หรือ Operating System (OS) แอนดรอย์ด 3.0 Honeycomb สำหรับแท็บเล็ต ที่แบรนด์ต่างๆ นำมาอวดโฉมสาธิตให้ดูกันก่อน ตั้งแต่ ”Dell Streak 7” ของเดลล์ และยังมีโมโตโรล่า แผนกโมบายล์ที่ชื่อว่า Atrix นอกจากกำลังเตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ ”แอนดรอยด์ “ บนเครือข่าย 4G ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่อังกฤษกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือออเรนจ์ เป็นการปรับตัวของโมโตโรล่าถึงขั้นเรียกสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ว่า Droid Bionic ยังมี แท็บเล็ตเรียกว่า Xoom บน Honeycomb ด้วย
นอกจากนี้ยังมีแท็บเล็ตแบรนด์อื่นที่ใช้แอนดรอยด์ 3.0 คือโตชิบา เอชทีซี อัซซุส แอลจี และแน่นอนต้องมีซัมซุงกับ 4G Galaxy S และ เอชทีซีในสมาร์ทโฟนบนวินโดวส์โฟน 7 รุ่น EVO 4G
นอกจาก 3.0 แล้ว แอนดรอยด์ยังเพิ่งมีข่าวเปิดตัว เวอร์ชั่น 2.4 ที่มีโค้ดเนมน่ารักๆ หวานๆ ไม่แพ้รุ่นพี่ว่า Ice Cream จะเปิดให้ได้ใช้กันประมาณกรกฎาคมนี้หลังจากเปิดตัวในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
แอนดรอยด์รุ่น 2 มีการเปิดตัวอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างถี่ จากรุ่น 2.0 และ 2.1 Éclair ตุลาคม 2009 และมกราคม 2010 รุ่น 2.2 Froyo เปิดตัวไปเมื่อพฤษภาคม 2010 เริ่มใช้เดือนกรกฎาคม รุ่น 2.3 Gingerbread เดือนตุลาคม และเริ่มใช้เดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง และเพิ่มเปิดตัวแอนดรอยด์ 3.0 Honeycomb สำหรับแท็บเล็ตในงาน CES ที่ลาสเวกัส
สเป็กรายละเอียดของ 2.4 ยังไม่ถูกเปิดเผย แต่โค้ดเนมมาก่อน ตามคอนเซ็ปต์ของแอนดรอยด์ที่ใช้ชื่อขนมเป็นหลัก รุ่นแรก 1.0 เมื่อกันยายน 2008 ยังไม่มีชื่อหวานๆ แต่เริ่มหวานรุ่น 1.5 Cupcake ในเดือนเมษายน 2009 รุ่น 1.6 โดนัทในเดือนกันยายนปีเดียวกัน