สภาพัฒน์ เผยตัวเลขอัตรา ‘ว่างงาน’ ของคนไทย ไตรมาส 2 เเตะ 7.3 แสนคน ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซ้ำหนัก ‘นักศึกษาจบใหม่’ ตกงาน ‘ลากยาวเป็นปี’ เพิ่มขึ้น เเนะรัฐหนุนค่าจ้าง ดูเเลกลุ่มคนเเห่กลับภูมิลำเนา
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เเถลงถึงภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจอย่าง ‘การว่างงาน’ ของประชาชนคนไทยยังอยู่บนความเสี่ยง
โดยล่าสุด อัตราการว่างงาน อยู่ที่ระดับ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาส 1 ของปี 2564 คิดเป็นผู้ว่างงานทั้งสิ้นราว 7.3 แสนคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง
สิ่งที่จะต้องจับตาดูในช่วงนี้คือ “กลุ่มผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานมาก่อน” หรือผู้ที่จบการศึกษาใหม่ที่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10.04% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 2.9 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลง 8.38%
เเรงงานทักษะสูง หางานยาก-ตกงานยาว
เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่า ผู้ว่างงานมีแนวโน้ม ‘ว่างงานนานขึ้น’ โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากช่วงเดียวกันของไตรมาสที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็น 3.18% และ 3.44% ตามลำดับ “สะท้อนให้เห็นว่า การว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง”
ภาพรวมตลาดแรงงานเเม้จะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
โดยไตรมาสสอง ปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 2.4% จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้าง และราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ
ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.8% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากได้แก่
- สาขาก่อสร้าง 5.1%
- สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร 5.4%
- สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า 7.1%
ด้านสาขาการผลิต และการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงาน ‘หดตัว’ ลง 2.2% และ 1.4% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การจ้างงานที่หดตัวในสาขาการผลิต ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก ขณะที่สาขาการผลิตเพื่อการส่งออกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ สาขาเครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์
ชั่วโมงการทำงาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแรงงานที่ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 32%
การว่างงานในระบบ ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตน 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยแต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ
ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน
“ผลกระทบจากการระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน”
กลุ่มที่ทำงาน WFH ได้ยังมีน้อย
มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน/การมีงานทำและรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
ทั้งนี้ ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีเพียง 5.5% หรือมีจำนวน 5.6 เเสนคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น และมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผล
กระทบ
“ธุรกิจส่วนใหญ่พยายามคงการจ้างงานเอาไว้ แต่อาจจะมีการลดค่าจ้าง และอาจทำให้มีจำนวนผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ส่วนแนวโน้มการว่างงานในไตรมาส 3 นั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้ง”
เเนะรัฐหนุนค่าจ้าง ดูเเลคนเเห่กลับภูมิลำเนา
การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานจะส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ทางสภาพัฒน์เเนะนำว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่ เข้มข้นกว่า การช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา เช่น
–ช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน
–ให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็น ต้องกักตัว เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านการปรับตัวของ ‘แรงงาน’ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่
จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งมีทั้งแรงงานถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานส่งผลให้ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ที่ว่างงานหางานลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์และแรงงานที่กลับไปทำงานในภูมิลำเนา มีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้สะดวก และฝึกฝนได้ด้วยตนเอง
- โควิดระลอก 4 ทำประกาศงานหาย ‘เกือบครึ่ง’ คนเลิกสน ‘work life balance’ ขอแค่มี ‘เงินเดือน’
- ว่างงานพุ่งไม่หยุด เด็กจบใหม่ 5 แสนคนเคว้ง ‘ไม่มีงานทำ’ หนี้ครัวเรือนสูง จำใจกู้นอกระบบ