ในปี 2020 ภาพรวมการจ้างงานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกในช่วงครึ่งปีของปี 2021 แต่หลังจากเจอการระบาดระลอก 4 ทำให้การจ้างงานในไทยต้องเจอกับความท้าทายอีกครั้ง โดย พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาประเมินภาพรวมการจ้างงานไทยในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจจะแย่กว่าปีที่ผ่านมา
ระลอก 4 ทำประกาศงานหายเกือบครึ่ง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP ประเทศไทยสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราว่างงานจะอยู่ในระดับ 1% แต่จากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ GDP ไทยปี 2020 ติดลบ -6.1% ขณะที่อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 สูงสุดในประเทศไทยเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดอยู่ที่ 1.96%
แม้ว่าปี 2021 จะมีการคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตได้ 1.8% และความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ในช่วงครึ่งปีแรกจะกลับมาฟื้นขึ้นมา 6.7% แต่การระบาดระลอก 4 อาจฉุดให้ภาพรวมทั้งปีทรงตัวเท่าปีที่แล้วหรือติดลบมากกว่า
“ถ้าสถานการณ์ของระลอก 4 ไม่ดีขึ้นอาจจะส่งผลต่อภาพรวมการจ้างงานทั้งปี ที่อาจจะเทียบเท่าหรือแย่กว่าปีที่ผ่านมา โดยจำนวนการประกาศงานทั้งปีอาจจะลดลงถึง 50%”
ทั้งนี้ หากย้อนดูจำนวนประกาศงานออนไลน์ในประเทศไทย (รวม Marketplace และ Aggregator) ที่ได้ผลกระทบจาก COVID-19 ในแต่ละระลอกพบว่า
ระลอกแรกลดลง -35.6%
ระลอกสองลดลง -45.5%
ระลอกสามลดลง -12.5%
ระลอกสี่ลดลง -48.3%
งานขายต้องการมากสุดครึ่งปีแรก
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
- สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ (15.3%)
- สายงานไอที คิดเป็น (14.8%)
- สายงานวิศวกรรม (10.0%)
ในขณะที่กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่
- สายงานการจัดซื้อ (+43.0%)
- สายงานขนส่ง (+37.4%)
- สายงานประกันภัย (+36.4%)
ในด้านการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจไอที (9.6%)
- กลุ่มธุรกิจการผลิต (6.2%)
- กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง (5.5%)
ธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (+52.6%)
- กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น (+48.0%)
- กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น (+41.7%)
ในส่วนของยอดจำนวนใบสมัครงานเพิ่มขึ้น 12% แต่จากตำแหน่งงานที่เปิดรับมากขึ้น ทำให้อัตราการแข่งขันลดลงในเชิงจำนวนอยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ 100 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วง ครึ่งปีหลัง มีโอกาสที่การแข่งขันจะมากกว่า 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน แน่นอนเพราะประกาศงานลดลง
ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดปีหน้าดีขึ้น ตลาดการจ้างงานจะกลับมาแน่นอน โดยกลุ่มงานบริการทั้งงานโรงแรมและร้านอาหารมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นบวกสูงสุดเป็นอันดับ 1 จากปัจจุบันที่ –5% รองลงมาเป็น สายงานการผลิต และ งานขาย
บาลานซ์ไม่สน สนแต่เงินเดือน
ในช่วงครึ่งปีแรก ค่าจ้าง ได้รับผลกระทบน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการลดเงินเดือนลงตั้งแต่ช่วงปี 2020 แล้ว แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าการระบาดระลอก 4 จะส่งผลกระทบกับเรื่องเงินเดือนมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม กลุ่มสายงานเฉพาะทาง เงินเดือนยังไม่มีผลกระทบ
ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นคนทำงานกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ เกี่ยวกับ “วิถีชีวิตเปลี่ยน พนักงานต้องการทำงานแบบไหน” และ “เจาะลึกความต้องการ งานอะไรที่คนทำงานอยากทำมากที่สุด” พบว่า
ในปี 2018 ก่อนเกิดโควิดแรงงานไทยจะให้ความสำคัญกับ ความสมดุลของชีวิตและงาน เป็นอันดับ 1 ในการเลือกงาน แต่ในยุคนี้แรงงานไทยให้ความสำคัญกับ เงินเดือนค่าตอบแทน เป็นอันดับ 1 จากที่เคยอยู่อันดับที่ 5 นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR และ ความหลากหลายทางเพศ ในองค์กรมากขึ้น โดย 53% จะไม่ทำงานกับบริษัทที่ไม่มี CSR และ 63% จะไม่ทำงานกับองค์กรที่ไม่ยอมรับความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ
ในส่วนขอทัศนคติเรื่องการทำงานแบบ Virtual เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยคนทำงานสามารถปรับตัวกับการทำงานแบบ Virtual ได้ดีและต้องการจะทำงานในลักษณะนี้มากขึ้นเมื่อ COVID-19 คลี่คลาย โดย 73% เลือกที่จะทำงานแบบผสมผสานระหว่างออฟฟิศและ Virtual ขณะที่ความต้องการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลาลดลงเหลือแค่ 7%
“ต่อไปเทรนด์การทำงานจะเป็นไฮบริดมากขึ้น แต่คงไม่เท่ากับการตอนมีการระบาดที่ Work From Home 100% ดังนั้น การเช่าออฟฟิศยังคงมีอยู่”
เด็กจบใหม่ยิ่งกระทบหนัก
เนื่องจากบริษัทต้องการลงทุนให้คุ้มค่าที่สุด ดังนั้น จะเลือกจ้างคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กจบใหม่ เพราะมีความเข้าใจในเรื่องธุรกิจมากกว่า สามารถทำงานได้หลากหลายกว่า ขณะที่เด็กจบใหม่ต้องใช้เวลาสอน ดังนั้น ช่วงโควิดถือเป็นช่วงที่เสียเปรียบสำหรับเด็กจบใหม่ อาจต้อง UpSkill ตัวเองเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ทักษะใหม่จาก การปฏิบัติงานจริง ยังคงเป็นช่องการ Upskill / Reskill ที่ดีที่สุดของคนทำงาน นอกจากนี้ยังเริ่มสนใจหาแหล่งเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งแบบออนไลน์ และไปเรียนที่สถาบัน โดยการ Upskill ผ่านสถาบันการศึกษาออนไลน์มีการเติบโตสูงขึ้น 58% จากปี 2018 ส่วนการ Upskill ผ่านแอปพลิเคชันเติบโต 48%
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่าคน Gen Z / Gen Y เปิดรับการ Upskill / Reskill เพื่อ Career Path ที่เติบโตขึ้น โดยทักษะที่ต้องการ Upskill / Reskill ได้แก่ 1. ไอที 2. ภาษา 3. ทักษะการเป็นผู้นำ