“ออริจิ้น” และ “JWD” เปิดตัวบริษัทร่วมทุน “แอลฟา” มุ่งเป้าตีตลาด “อสังหาฯ เพื่อการอุตสาหกรรม” เช่น คลังสินค้า โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม วางแผนภายในปี 2568 ขยายพื้นที่แตะ 1 ล้านตร.ม. ขึ้นเป็น Top 3 ของวงการ พร้อมต่อยอดฐานลูกค้าในเครือออริจิ้นกว่า 100 โครงการ สร้างระบบ “Self-Storage” ในเมือง ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หันมาขายออนไลน์สูงขึ้น
หลังประกาศความร่วมมือกันไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ระหว่าง บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI และ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ในที่สุดทั้งคู่ได้ฤกษ์เปิดตัวบริษัทร่วมทุนในนาม “บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด” หรือ ALPHA โดยเป็นการร่วมทุนฝั่งละ 50%
เป้าหมายของแอลฟา ต้องการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial Property) เป็นหลัก เช่น คลังสินค้า โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม โดยใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายเป็นฐานการขยายตัว
ฝั่ง JWD เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดโลจิสติกส์มากว่า 40 ปี มีพื้นที่คลังสินค้าในมือ 1.8 ล้านตร.ม. ชำนาญพิเศษด้านคลังสินค้าเคมีภัณฑ์-วัตถุอันตรายและด้านห้องเย็น รวมถึงมีฐานการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซียอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ออริจิ้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่ดินและการก่อสร้าง จึงเลือกจะจับมือกันเป็นบริษัทแอลฟา ขยายธุรกิจตอบรับตลาดอี-คอมเมิร์ซที่กำลังมาแรง
ตีตลาด B2B ควบ B2C
“ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กางแผนและทิศทางบริษัทแอลฟาว่า จะทำตลาดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มอสังหาฯ อุตสาหกรรม (Industrial Property) – จับตลาดธุรกิจดาวรุ่งและที่บริษัทเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น ห้องเย็น, e-Commerce Fulfillment, ศูนย์คัดแยกพัสดุ Last-Mile, สินค้าเคมีภัณฑ์และวัตถุอันตราย, ดาต้า เซ็นเตอร์ และธุรกิจยานยนต์ใหม่ (รถอีวี)
- กลุ่มอสังหาฯ ในเมือง (Urbanized Property) – ธุรกิจในระบบโลจิสติกส์ที่เหมาะกับชีวิตคนเมือง เช่น Self-Storage, Micro Fulfillment และ e-Commerce Pick up & Drop off
- กลุ่มบริการในนิคมอุตสาหกรรม (Property Services) – ต่อยอดจากการให้บริการด้านคลังสินค้าและนิคม จะมีรายได้การให้บริการสาธารณูปโภค พลังงาน และบำบัดน้ำเสีย
ทั้งนี้ จะเน้นหนักที่กลุ่มอุตสาหกรรม 70-80% เสริมด้วยอสังหาฯ ในเมือง 20-30% ขณะที่รายได้การบริการจะเพิ่มเติมมาในภายหลัง เห็นได้ว่าแอลฟาจะมีความต่างจากบริษัทอสังหาฯ อุตสาหกรรมในตลาดคือมีทั้งขาฝั่ง B2B และฝั่ง B2C
ชวนินทร์ปักหมุดการเติบโตของบริษัท เป้าปี 2566 จะเริ่มขายอสังหาฯ ในมือเข้ากองรีท และปี 2568 คาดว่าจะมีพื้นที่บริการครบ 1 ล้านตร.ม. มูลค่าตลาด 12,000 ล้านบาท พร้อมเข้าเปิด IPO
ลงทุนเองผสมล่าซื้อกิจการ
จะไปให้ถึงเป้าหมายอย่างไรนั้น “ปธาน สมบูรณสิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชัน จำกัด กล่าวว่า บริษัทแบ่งการเติบโตเป็น 2 ทาง คือ 60% มาจากการลงทุนก่อสร้างเอง และ 40% เข้าซื้อกิจการ โดยคาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ได้เฉลี่ยปีละ 2 แสนตร.ม.
ทำเลที่บริษัทสนใจทั้งก่อสร้างเองและซื้อกิจการ แบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
- แหล่งอุตสาหกรรม ได้แก่ บางนา, แหลมฉบัง-ระยอง (EEC), วังน้อย
- หัวเมืองในภูมิภาค ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคใต้, ภาคเหนือ
- พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจในเมือง (CBD) เช่น กรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในอนาคต
- ต่างประเทศ ได้แก่ เวียดนาม โซนท่าเรือไฮฟงและโฮจิมินห์, อินโดนีเซีย โซนท่าเรือใกล้จาการ์ตาและอุตสาหกรรมเคมีโซนสุราบายา, กัมพูชา โซนนิคมอุตสาหกรรมพนมเปญและโซนการค้าใกล้ชายแดนไทย
ปัจจุบันแอลฟาเริ่มการลงทุนโครงการแรกแล้วที่ “บางนา กม.22” เป็นคลังสินค้าห้องเย็นพื้นที่ 20,000 ตร.ม. ลงระบบออโตเมชันทั้งหมด ใช้งบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท โดยมีลูกค้ารองรับแล้วเพื่อก่อสร้างแบบ built-to-suit คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ประมาณไตรมาส 2-3/65
นอกจากนี้ มีที่ดินรองรับพร้อมเริ่มก่อสร้างในปีนี้อีก 2 แห่ง คือ บริเวณ บางพลี-บางนา จะเป็นคลังสินค้าผสมทั้ง built-to-suit และ ready-built พื้นที่ 70,000-80,000 ตร.ม. (แบ่งเฟสพัฒนา) คาดเริ่มรับรู้รายได้ไตรมาส 2/65 อีกแห่งหนึ่งอยู่ในโซน ปทุมธานี-วังน้อย ซึ่งจะเปิดเผยรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ทุนตั้งต้น 2,300 ล้าน ใช้ระบบ “กองรีท” ต่อทุน
ด้าน “พีระพงศ์ จรูญเอก” ซีอีโอ ORI อธิบายด้านการเงินว่า ขณะนี้บริษัทมีทุนจดทะเบียนแล้ว 235 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มทุนไปถึง 500 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ โดยทั้งสองผู้ร่วมทุนมีแผนเบื้องต้นจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 2,300 ล้านบาทภายใน 3 ปีแรก ก่อนที่จะเริ่มขายสินทรัพย์เข้ากองรีทเป็นครั้งแรกประมาณ 1 แสนตร.ม. ซึ่งจะทำให้แอลฟามีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนเพิ่ม ต่อด้วยการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2568 ตามแผน
สำหรับการรับรู้รายได้เข้าออริจิ้น พีระพงศ์คาดว่าในปี 2568 รายได้จากแอลฟาน่าจะคิดเป็นสัดส่วน 5-15% ของเครือ
หวังขึ้น Top 3 วงการ อี-คอมเมิร์ซดันการเติบโต
พีระพงศ์ยังกล่าวด้วยว่า จากเป้าหมายพื้นที่ 1 ล้านตร.ม. จะทำให้บริษัทติด 1 ใน 3 บริษัทด้านอสังหาฯ อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยตลาดนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น
ชวนินทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเกิด “COVID-Drive” ในปีที่ผ่านมา การเติบโตมหาศาลทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์และคลังสินค้าได้ประโยชน์สูง นอกจากในเขตอุตสาหกรรมอย่าง ถ.บางนาจนถึง EEC อนาคตการลงทุนที่น่าสนใจต่อจากนี้คือจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาค ซึ่งหลายจังหวัดกำลังแข่งขันเพื่อเป็นฮับกระจายสินค้า และแอลฟาจะเร่งเข้าไปจับโอกาสส่วนนี้
- 10 เรื่องน่ารู้ “ไปรษณีย์ไทย-JWD-Flash” ร่วมทุนปั้น FUZE POST บุกตลาดส่งควบคุมอุณหภูมิ
- FoodStory รับเงินลงทุน Series B รุกคืบวงการ “ร้านอาหาร” จากระบบ POS สู่การจัดส่งวัตถุดิบ
มิติใหม่ “รายย่อย” หาที่เก็บสินค้าในเมือง
ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ในเมือง แม้มูลค่าไม่สูงเท่าอุตสาหกรรม แต่เป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยพีระพงศ์เล่าจากประสบการณ์กับลูกค้าออริจิ้นที่มีกว่า 100 โครงการ พบว่าคนรุ่นใหม่ในเมืองค้าออนไลน์มากขึ้น ตั้งแต่ผู้ค้าเป็นอาชีพเสริมจนถึงระดับ SMEs ทำให้เห็นโอกาสที่จะทำระบบห้องเก็บของหรือ “Self-Storage” และ Micro fulfillment จนถึงระบบตู้รับ-ส่งพัสดุในโครงการ ไว้รองรับคนกลุ่มนี้
นอกจากจะจับตลาดที่กำลังมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ยังเป็นการเติบโตไปพร้อมกับลูกค้าด้วย หากวันหนึ่งลูกค้าเติบโตจากระดับ SMEs ไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แอลฟาจะมีความสัมพันธ์ที่ดีในการดึงลูกค้ามาใช้ระบบคลังสินค้าต่อได้