หลังจากที่ประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ 9 ข้อออกไปแล้ว รัฐบาลคาดหวังว่า เสียงตอบรับของกลุ่มเป้าหมายและประชาชน น่าจะออกมาดี หรืออยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามคาด
เสียงสะท้อนแรกที่กลับมาชัดเจนที่สุดคือ การเดินตามรอยประชานิยม แจกของฟรี ไม่มีอะไรใหม่ ทำให้รัฐบาลและทีมที่คิดนโยบายนี้ ต้องกลับมาทบทวนข้อผิดพลาด หรือการเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นกับประชาชน
ถ้าจะว่าเข้าใจผิด หรือไม่ฮือฮา ก็คงไม่เต็มปากเต็มคำนัก เพราะนโยบายนี้กำลังเริ่มต้น เอาเป็นว่า เสียงตอบรับด้านบวก มีน้อยก็ได้ เพื่อความสบายใจของคนวางนโยบาย นั่นคือการเข้ามาของบริษัท Turnaround ของปารเมศร์ รัชไชยบุญ อดีตนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย 2 สมัย และผ่านงานบริษัทเอเยนซี่ขนาดใหญ่ในบ้านเรามาแล้ว
ปราเมศร์ เข้ามารับงานในโครงการประชาวิวัฒน์หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดโครงการไปเรียบร้อยแล้ว โดยเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมงานของรัฐมนตรีคลัง กรณ์ จาติกวนิช ที่คุ้นเคยกันดีตั้งแต่รับงานโรงการหนี้นอกระบบ
งานหนี้นอกระบบเข้าตากรณ์เป็นอย่างมาก เพราะมีงานโฆษณาเรียกร้องความสนใจแบบ Talk of the town นั่นคือละครเรื่อง “วนิกรณ์” โฆษณาที่นำละครฮิตวนิดามาดัดแปลง และรัฐมนตรีกรณ์ลงมือแสดงเอง โดยงานโฆษณาชิ้นนั้นปารเมศร์เป็นผู้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จในแง่ของการเรียกร้องความสนใจ
โครงการประชาวิวัฒน์ เขาถูกเรียกตัวมาใช้งานอีกครั้ง ซึ่งงานนี้ปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Turnaround จำกัด บอกว่า เป็นการรับดูแลงานในส่วนของกระทรวงการคลังเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกัน เป็นการเข้ามาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ก็พร้อมที่จะลงมือทำเพราะเขาเห็นว่างานนี้ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
โดยเนื้อหาขอบเขตการทำงานของ Turnaround คือการเป็นที่ปรึกษาโครงการเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ซึ่งมีแผนแม่บทจากบริษัทแมคแคนซี่ ที่รัฐบาลว่าจ้างให้มาจัดทำแผนแม่บทของโครงการประชาวิวัฒน์
“ผมไม่ได้คุยกับบริษัทแมคแคนซี่ แต่อาจจะต้องมีการคุยกันบ้าง ตามเวลาที่เหมาะสม เพราะตอนนี้เขาค่อยๆ Fade ออกไป แต่ยังให้คำแนะนำอยู่ หลังจากนี้ไปก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ส่วนตัวของเราในการประเมิน และทำโครงการต่อไป”
ก่อนหน้าที่เขาจะตัดสินใจรับงานนี้ ก็ได้รับฟังนโยบายประชาวิวัฒน์ในฐานะประชาชน ไม่ได้ฟังในฐานะทีมงาน ซึ่งเขาก็ยอมรับว่ามีข้อสงสัย และตั้งคำถามกับบาลนโยบายว่าเป็นอย่างไร สามารถทำได้จริงหรือ ซึ่งเขายกตัวอย่างของนโยบายชั่งไข่ ที่รู้สึกว่าเป็นไปได้หรือ
จนเมื่อได้รับการติดต่อจากรัฐมนตรีคลัง เพื่อมารับงานนี้ ก็ได้มีการคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อมูล และคำถามแรกที่ถามคณะนำงานก็คือเรื่องชั่งไข่ จนได้รับคำตอบที่พึงพอใจ รับทราบเหตุผลของนโยบายนี้ชัดเจนขึ้น จึงรับทำโครงการนี้
เขาทำความเข้าใจกับเรื่องนโยบายชั่งไข่เป็นกิโลกรัมว่า รัฐบาลต้องการทดสอบดูว่าจะทำให้ไข่ไก่ถูกลงได้กี่สตางค์ และเป็นทางเลือกในการซื้อ เหมือนเป็นโยนก้อนหินถามทางหากว่าจะเข้าไปแทรกแซงทางผู้เลี้ยง พ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภค จะต้องทำอย่างไร และอาจต่อยอดไปถึงสินค้าตัวอื่นในอนาคตหากการชั่วไข่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ หากไม่สำเร็จ หรือไม่ได้ผลในแง่ของผู้บริโภคไม่สนใจ ก็ยกเลิกไป ไม่มีอะไรต้องสูญเสีย หรือมีต้นทุนเพิ่ม
เมื่อเข้ามาทำงานรับผิดชอบโดยตรง ก็เริ่มประมวลภาพรวมของโครงการนี้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับสารที่สื่อออกไป สิ่งที่ปารเมศร์พบก็คือ ภาครัฐขาดการให้ความเข้าใจที่ชัดเจน เขาเชื่อว่าก่อนที่รัฐบาลจะออกนโยบายมา ก็น่าจะมีคำถาม คำถามเหล่านี้อยู่แล้ว
แต่ปัญหาคือรัฐบาลไม่สามารถตอบได้ตรงจุด เพราะคำถามมันมีขึ้นมาก่อนนโยบายจะออกมา อีกทั้งการอธิบายสื่อสารให้แต่ละกลุ่มก็แตกต่างกัน ต้องสร้างสารคนละแบบ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการวางยุทธ์ศาสตร์นโยบายประชาวิวัฒน์ให้เป็นระบบอีกครั้งด้วยการใช้วิธีคิด การดำเนินงานจากมืออาชีพที่เคยผ่านมาประชาสัมพันธ์แผนงานของหน่วยงานรัฐมาก่อน
ปราเมศร์วางแผนผลักดันและให้ความเข้าใจในนโยบายนี้ด้วยการสัมมนาเชิงวิชาการให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการแบ่งอย่างชัดเจน
“ได้บอกกับรัฐมนตรีคลังไปแล้วว่าต้องให้ข้อมูลผู้นำทางความคิด คือสื่อมวลชน นักวิชาการ เราต้องจัดสัมมนาทางวิชาการ เพื่อเป็นการสื่อสารสองทาง รวมไปถึงผู้ประกอบการ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หน่วยงานรัฐที่ต้องรับรู้และสนับสนุน ต้องทำพร้อมกันอย่างเร่งด่วน และคล้องจองกัน ตอนนี้ต้องการความร่วมมืออย่างเต็มที่ เราต้องให้ข้อมูลเชิงลึกกับบางกลุ่ม และให้ข้อมูลที่ไม่ซับซ้อนกับบางกลุ่ม”
วิธีการที่เขาอธิบายคือ การจัดกลุ่มคนรับสาร เช่นการสื่อสารกับชาวนา ผู้ประกันตน จะพูดอย่างไรในความยาว 1 นาที ยาวเกินไปก็ไม่ได้ พูดในข่าวก็ไม่ได้ ต้องไปพูดในสื่อที่กลุ่มเหล่านี้บริโภคจริงๆ พูดในภาษาที่เขาอยากได้ยิน ไม่ได้พูดภาษาเมือง อาจจะมีการทำคู่มือเป็นการ์ตูน ที่เข้าใจง่าย เหมือนทำหนี้นอกระบบ ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย
สิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อมาคือการสร้างเอกลักษณ์ร่วมกันของนโยบายประชาวิวัฒน์ นั่นก็คือการหา Symbol ซึ่งปราเมศบอกว่าได้ทำแบบจำนวน 2-3 แบบให้กับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกว่าจะใช้สัญลักษณ์ตัวไหน เพื่อสื่อถึงโครงการนี้
ทุกแบบที่เสนอไป จะมีการสื่อความหมายที่แตกต่างกัน เช่นสื่อถึงประชาชน สื่อถึงนโยบาย เมื่อได้รับคัดเลือกแล้วก็จะนำมาใช้กับทุกนโยบายที่ประกาศออกมา และคาดว่าน่าจะได้คำตอบในการเลือกในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ส่วนทีมงานที่จะมารับหน้าที่ ประกอบด้วยทีมประชาสัมพันธ์ของกระทรวงการคลัง บริษัทประชาสัมพันธ์ 2-3 แห่ง ที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับหน่วยงานรัฐมาก่อน มีทีมงานด้านเศรษฐกิจ การเมือง หากอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็มีซัพพลายเออร์อยู่แล้ว และมีทีมการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนงานโฆษณาทางบริษัท Turnaround เป็นผู้ทำทั้งหมด ปราเมศร์จะเป็นผู้คุมแนวคิดในการทำงานของทุกส่วนให้ไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับงบประมาณในส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขเพื่อทำงบประมาณ เพราะมีการใช้หลากหลายรูปแบบ และหลายกลุ่มเป้าหมาย
นอกจาก 2 แนวทางที่ต้องวางแผนดำเนินการอย่างเร่งด่วน และเดินไปพร้อมกันแล้ว การจัดระเบียบความคิดในการส่งสาร และความหมายของนโยบายประชาวิวัฒน์ก็ต้องมีการจัดการเช่นกัน เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากนโยบายประชานิยมเดิมที่หลายๆ คนรู้จักดี
ปราเมศร์ตั้งใจว่า การสื่อถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ต้องใช้ Theme “เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง”
เขาอธิบายให้ฟังว่า แนวคิดนี้บอกอย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่นโยบายประชานิยม เพราะทุกนโยบายต้องจ่ายเงิน แต่เป็นการจ่ายเงินน้อยลง รัฐบาลไม่ได้แจกไข่ฟรี เพียงแต่ให้ประชาชนได้รับรู้ต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเราต้องทำให้ต้นทุนและต่ำลง เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการซื้อได้มากขึ้น นี้คือแนวคิดที่ต้องสื่อออกไปให้ชัดเจน
เพราะทันทีที่ประชาวิวัฒน์ออกมา ทุกคนจะเล็งไปเทียบกับประชานิยมทันที และท่าที่ลังเลในการให้ข้อมูลของรัฐบาลทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นนโยบายแจก หรือฟรีอีกแล้ว แต่เขาก็ปฏิเสธว่านโนยบายที่ประกาศออกมาผ่านการระดมความคิด ทำการวิจัยแล้วว่าประชาชนต้องการอะไร และต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประชาวิวัฒน์กับประชานิยม เหมือนกันหรือไม่
“ให้การกระทำเป็นผู้พูด ตอนนี้เรายังไม่ได้ให้เวลามันเลย ถ้าโครงการสำเร็จ ก็ให้โครงการพูดด้วยตัวเอง เพราะนโยบายนี้กำลังจะเกิดเท่านั้น มันง่ายในการพูดว่าเหมือน แต่ถ้าสำเร็จ จะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ท่านประทานเหมา เจอ ตุง ยังบอกแมวสีอะไรก็จับหนูได้”
ความคาดหวังในโครงการนี้ของรัฐบาลถือว่าตั้งไว้สูงมาก เพราะดูจากความตั้งใจของรัฐมนตรีคลัง กรณ์ จาติกวนิช ที่ลงมือทำทุกอย่าง เพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรมที่สุด และปราเมศบอกด้วยว่ารัฐมนตรีคลังตามจี้ความคืบหน้าทุกวัน และมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
การวัดความสำเร็จของโครงการนี้ ปราเมศร์ออกตัวว่า เขาไม่ได้ความสำเร็จด้านการเมือง เหมือนพรรคการเมืองทั่วไป แต่เจขาขะวัดความสำเร็จในทัศนะส่วนตัวของเขาคือการวัดจากค่าดัชนีความสุขของประชาชน ถ้ามีมากนั่นก็คือความสำเร็จของโครงการนี้