Brave New Brand ของ “ลลิล พร็อพเพอร์ตี้”

ชื่อและบ้านของลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ที่ถือว่าเป็นนักพัฒนาที่ดินรุ่นแรกๆ ก็กำลังพยายามหนีความแก่ของตัวเอง โดยการปรับสินค้าของตัวเองให้ดูทันสมัย และเข้ากับกลุ่มผู้ซื้อบ้านรุ่นใหม่มากขึ้น การออก Brand ใหม่ที่ดูเป็นหนุ่ม เป็นสาวขึ้น ดูเหมือนมีเสียงตอบรับจากผู้ซื้อมากขึ้น

ไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ยอมรับว่า บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกลยุทธ์การตลาดใหม่ ด้วยการแบ่งกลุ่มบ้านในรูปแบบเดิมของลลิล เป็น SBU 1 ที่ดูแลบ้านลลิล ลลิล กรีนวิลล์ และบุรีรมย์ ใช้วิธีการบริหาร ทำโครงการ แบบเดิมตามสไตล์อนุรักษนิยม

และ SBU 2 คือการเปิดตลาดใหม่จับกลุ่มคนรุ่นเด็กลงมา ปรับใหม่ตั้งแต่การออกแบบบ้าน การตกแต่ง การใช้วัสดุ รูปลักษณ์ การบริการ การขาย ซึ่งจะฉีกออกไปจากโครงการเดิมของลลิล โครงการในหน่วยงานนี้คือ โครงการ Lanceo และ Lio ซึ่งได้ทดลองทำตลาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็ได้การตอบรับในระดับที่น่าพึงพอใจ

ไชยยันต์อธิบายว่า SBU 2 เป็นการทำตลาดบ้านคนรุ่นใหม่ โดยทีมงานรุ่นใหม่ และใช้เครื่องมือการตลาดแบบใหม่ทั้งสื่ออนไลน์ Social Media ซึ่งการทำกลยุทธ์แบบนี้ จะมองที่ตัวคนซื้อบ้านเป็นหลักว่าต้องการบ้านแบบไหน ราคาเท่าไหร่ และต้องดูแลอย่างไร ใช้สื่ออย่างไรที่เข้าถึงกลุ่มนี้

สิ่งที่ลลิลทำก็คือ จัดหาทีมงานใหม่ขึ้นมาดูแลหน่วยงานนี้โดยเฉพาะ เป็นการคัดเลือกพนักงานใหม่ ที่เป็นเด็กเพิ่งจบการศึกษา หรือจบมาจากจากต่างประเทศ และเป็นกลุ่มที่คิดแบบเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ใช้ชีวิต และมีความต้องการเหมือนกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการซื้อบ้าน เพื่อจะได้เข้าอก เข้าใจคนซื้อกลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมาลลิลยังไม่ได้ลูกค้ากลุ่มนี้เท่าไหร่ และแน่นอนว่าปีนี้ จะมีโครงการภายใน SBU 2 นี้มากขึ้น แต่มากหรือน้อยขึ้นกับภาวะของตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้

เขาบอกด้วยว่า โมเดลธุรกิจใหม่ ทำให้รายได้บริษัทขยายตัวขึ้น 15% โดย SBU 1 และ 2 สร้างรายได้ในสัดส่วน 50 : 50 และปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 2,150 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 1,935 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วมีรายได้ 1,650-1,700 ล้านบาท

ถึงแม้จะมีการปรับ Brand ใหม่ที่สดใสขึ้น แต่สิ่งที่ไชยยันต์ห่วง คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ทุกรายต่างวางเป้าหมายในการเปิดและขายโครงการแบบท้าทายกันเองสูงมาก ซึ่งในภาวะแบบนี้ธุรกิจที่อยู่อาศัยกับสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังเดินสวนทางกัน

ความหมายก็คือ คนสร้างบ้านขาย ผลิตสินค้าออกมามากเกินการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ และกำลังซื้อของผู้บริโภค “Supple ไม่สามารถสร้าง Demand ได้อีกแล้วในปีนี้“ คำเตือนของไชยยันต์ ฝากถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่คุมตลาดอยู่ขณะนี้ ซึ่งมีประมาณ 10 บริษัทด้วยกัน

อีกเหตุผลหนึ่งที่ไชยยันต์ประเมินไว้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ด้วยปัจจัยการเร่งปฏิกิริยาจากระบบโครงสร้างคมนาคมของบ้านเรา โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าทุกประเทศ ทุกสายทาง ที่ทำให้คนซื้อบ้านเริ่มมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น และกำลังชั่งใจอย่างหนัก

“คอนโดมิเนียมขนาด 30 ตารางเมตร ราคาขายกว่า 2 ล้านบาท สร้างเสร็จภายใน 3 ปี พร้อมๆ กับโครงการรถไฟฟ้าต่างที่เสร็จพร้อมกัน คนซื้อคอนโดมิเนียมกลุ่มนี้จะมีสินค้าที่เป็นทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว ราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าเป็นทางเลือกมากขึ้น”

การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคเช่นนี้ คือช่องทางการเติบโตของ Brand ใหม่ที่ลลิลกำลังปั้นให้เติบโตในปีนี้ เพราะคนซื้อบ้านสามารถพลิกกลับมาซื้อบ้านแนวราบได้ง่ายขึ้น หากแบบบ้าน รูปลักษณ์ของบ้านตรงกับการใช้ชีวิตของพวกเขา

ไชยยันต์อธิบายถึงความต้องการบ้านของผู้บริโภคว่า ยังคงต้องการพื้นที่ และอยู่แนวราบ หากว่ามีระบบสาธารณูปโภคเช่นรถไฟฟ้ามารองรับอย่างทั่วถึง แม้ว่าที่ตั้งโครงการอยู่ไกล แต่สามารถเข้าถึงที่ทำงานในเมืองได้ในระยะเวลาสั้นๆ ผู้ซื้อจะเลือกซื้อบ้านแนวราบ

“ผู้ประกอบการที่ทำคอนโดมิเนียมมากๆ เตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ไว้บ้างหรือยัง” ไชยยันต์ให้การบ้านผู้ประกอบการไว้อีก 1 ข้อ แต่ของลลิลเอง คงไม่ต้องห่วงเพราะบ้านใน SBU 2 คือสินค้าหลักของไชยันต์ในการสู้กับคู่แข่งในปีนี้ พร้อมๆ กับยึดตลาดบ้านแนวอนุรักษนิยมไว้เช่นเดิม เพื่อรองรับลูกค้าเก่าของตัวเอง

ใครเป็นใครในกลุ่มคนซื้อบ้าน
กลุ่ม เกิด (พ.ศ.) บ้านที่ต้องการ
Baby Boomers 2487–2507 บ้านแนวราบ อนุรักษนิยม
Generation X 2508-2523 กำหนดรูปแบบบ้านเอง
Generation Y 2524-2533 City Condo
Generation I หลังปี 2533 ปฏิเสธบ้านแบบเดิมทั้งหมด