จับตา Keyence Corp. ดันมหาเศรษฐีคนใหม่ของญี่ปุ่น ทำเงินอัตโนมัติ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์!!

ช่วงเดือนกันยายน 64 สื่อทั่วโลกตื่นตัวกับข่าวว่าผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อ “คีย์เอ็นซ์” (Keyence Corp.) สามารถแซงหน้า “ทาดาชิ ยานาอิ” (Tadashi Yanai) มหาเศรษฐีแห่งอาณาจักร Uniqlo กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นแบบอัตโนมัติ เพราะมูลค่าหุ้นที่พุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่าต่อเนื่อง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ความพิเศษของ Keyence Corp. ทำให้โลกส่องสปอตไลท์ไปที่ “ทาเคมิตซึ ทาคิซากิ” (Takemitsu Takizaki ) ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สินมูลค่า 3.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.2 ล้านล้านเยน) หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ตามดัชนีมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก Bloomberg Billionaires Index หุ้นของบริษัท Keyence Corp. เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตั้งแต่ต้นปี 63 สวนทางกับยานาอิแห่งบริษัท Fast Retailing Co. ซึ่งสูญเสียความมั่งคั่งมากกว่า 1 ใน 5 ตลอด 3 ไตรมาสของปี 64 จนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์นี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในวงการธุรกิจโลก นั่นคือผู้ประกอบการในโรงงานอัตโนมัติ อาจกำลังเข้ามาแทนที่เจ้าพ่อค้าปลีก ที่สร้างความร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ กรณีของ Keyence Corp. จึงเป็นตัวอย่างสำคัญว่า ภูมิทัศน์ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19

หุ้นบลูชิพพุ่งแรง

นักวิเคราะห์วงในเชื่อว่า Keyence ได้รับแรงหนุนจากการรวมอยู่ในดัชนีหุ้นบลูชิพ 225 ของญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงหุ้นบลูชิพ (blue-chip) 225 อันดับแรกที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว เช่น Sony, Canon, Toyota, Nissan และ Honda

บริษัทที่จะได้รับจัดอันดับเป็นหุ้นบลูชิพ ต้องเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่สูง มีชื่อเสียงไร้ที่ติ และประสบความสำเร็จมานานปี กรณีของ Keyence ศักยภาพของบริษัทเริ่มจากที่ทาคิซากิก่อตั้ง Keyence ในปี 1974 และก่อร่างสร้างบริษัทอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ผลิตเซ็นเซอร์ เครื่องมือวัด ระบบวิชันซิสเต็ม และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับใช้ในระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม

Keyence ถูกมองว่าเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยส่งเสียงและปรากฏตัวต่อสาธารณชนมากนัก บริษัทมีรากฐานอยู่ในโอซากา และเป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องอัตรากำไรที่สูงและการให้ค่าตอบแทนพนักงานอย่างงาม

ตามสถิติพบว่าพนักงาน Keyence เป็นหนึ่งในกลุ่มพนักงานที่มีรายได้ดีที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีรายได้เฉลี่ย 170,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 5.7 ล้านบาท)

นอกจากศักยภาพภายใน ปัจจัยภายนอกอย่างภาวะเศรษฐกิจที่เอื้อจนทำให้ธุรกิจขยายตัว ทำให้หุ้นของ Keyence เพิ่มขึ้น 96% ตั้งแต่ต้นปี 2020 ทำให้บริษัทมีมูลค่าตลาดประมาณ 18.4 ล้านล้านเยน ส่งให้ Keyence เป็นบริษัทขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในญี่ปุ่นรองจาก Toyota Motor Corp.

นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence มองว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้กระตุ้นความต้องการระบบอัตโนมัติของโรงงาน เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งหมดเอื้อให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของ Keyence พุ่งขึ้นอีกมากกว่า 50%

หุ้นของ Keyence พุ่งขึ้นอีกเมื่อช่วงต้นกันยายน 64 หลังจากที่บริษัทได้รับการประกาศเพิ่มตำแหน่งในดัชนี Nikkei 225 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่าง Nintendo Co. ผู้ผลิตคอนโซลเกม Switch ก็เป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ได้รับเลือกให้เข้าทำเนียบตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวนี้เรียกความสนใจได้มาก เพราะ Nikkei 225 เป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักราคาตลาด ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของราคาหุ้นของทุกบริษัทที่รวมอยู่ โดยในหนังสือชี้ชวนของ Nikkei 225 ระบุว่าดัชนี JP225 จะถูกคำนวณทุก 5 วินาทีในขณะที่ตลาดหุ้นโตเกียวเปิดอยู่ เหตุผลที่นักลงทุนนิยมเทรดหุ้นกลุ่ม Nikkei 225 เนื่องจากความเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำที่สุดในตลาดการเงิน ซึ่งหากบริษัทใดในตารางสูญเสียมูลค่าไป บริษัทที่กำลังเติบโตบริษัทอื่นก็จะชดเชยการร่วงลงนั้น ทำให้ราคาดัชนี Nikkei 225 ทั้งหมดจะไม่ลดลงดิ่งเหว แต่อาจเพิ่มขึ้นได้แม้ว่าหุ้นบางตัวจะร่วงลง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา Ichiyoshi Asset Management Co. ในโตเกียว เชื่อว่าการ Keyence จะถูกจัดเป็นหนึ่งในตาราง Nikkei 225 ในชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งยังต้องรอดูปัจจัยสำคัญอื่นเนื่องจาก Keyence เพิ่งจะถูกเพิ่มเข้ามา จุดนี้ Keyence ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ทำให้ยังไม่มีข้อมูลความเชื่อมั่นจากบริษัทอย่างเป็นทางการ

รวยอันดับ 9 ของเอเชีย

สำหรับทาคิซากิซึ่งเป็นเจ้าของ Keyence ในสัดส่วน 21% รายงานระบุว่า Keyence ได้เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้อีก 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 64 ทำให้ขณะนี้ ทาคิซากิกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 9 ในเอเชีย ตามดัชนีของ Bloomberg

การขึ้นตำแหน่งแชมป์ของทาคิซากิ เป็นการแทนที่ ยานาอิ ผู้ก่อตั้ง Fast Retailing ซึ่งสูญเสียทรัพย์สินไปมากกว่า 9.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 หรือประมาณ 21% ของทรัพย์สินทั้งหมด เนื่องจากหุ้นของเจ้าของ Uniqlo ร่วงลง 18% หลังจาก Fast Retailing ปรับลดประมาณการกำไรจากการดำเนินงานทั้งปี ซึ่งประกาศชัดเจนในเดือนกรกฎาคม 64 ว่าเป็นผลจากยอดขายช่วงฤดูร้อนที่อ่อนแอในญี่ปุ่น และมาตรการของรัฐในการควบคุม COVID-19 ในหลากประเทศทั่วเอเชีย โดย “มาซาโยชิ ซัน” (Masayoshi Son) ผู้ก่อตั้ง SoftBank Group Corp. ยังคงเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ของญี่ปุ่นด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

สำหรับทาคิซากิวัย 76 ปี ตามประวัติระบุว่าไม่ได้เข้าเรียนในวิทยาลัย แต่สามารถประดิษฐ์เซ็นเซอร์ที่แม่นยำ เพื่อใช้ในสายการประกอบของอุตสาหกรรม สินค้าเด่นคือเซ็นเซอร์สำหรับใช้สร้างรถยนต์สำหรับโตโยต้า ขณะนี้ ทาคิซากิเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของ Keyence หลังจากก้าวลงจากตำแหน่งประธานในปี 2558

ล่าสุด Keyence ถูกบันทึกมูลค่าการซื้อขายที่ประมาณ 63 เท่าของรายได้โดยประมาณ จุดนี้นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence เชื่อว่า Keyence จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งในและนอกบ้านเกิด โดยสัดส่วนขณะนี้ชี้ว่ามากกว่า 40% ของรายได้ Keyence ยังคงมาจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตในต่างประเทศ.

ที่มา :