นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รายการจากต่างประเทศถูกซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อผลิตและออกอากาศในเวอร์ชั่นไทย แต่กับ Thailand’s Got Talent นี่เป็นรายการชื่อดังแรกจากต่างประเทศที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์และผลิตเพื่อเป็น Branded Content โดยมีจุดประสงค์หลักนอกเหนือจากการมอบความบันเทิงให้กับผู้ชมทางบ้าน ไม่ต่างจากรายการประเภทเกมโชว์ หรือการประกวดอื่นๆ แล้ว
ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารแบรนดิ้งของสินค้าที่เป็นเจ้าของรายการ ไม่ใช่แค่ผู้สนับสนุนหลัก ให้ส่งออกไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่นั่งชมพร้อมๆ กับความบันเทิง
อย่างไรก็ตาม การทำ Branded Content ด้วยรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศไม่ใช่ของง่าย เพราะถึงแม้ยูนิลีเวอร์เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์มา แต่รายการก็มี Format ที่ตายตัวและเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ในทุกประเทศที่ซื้อรายการ Got Talent ไปผลิต คงความดั้งเดิมและลักษณะสำคัญของรายการไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารายการที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศบางรายการ ก็ไม่สามารถยืนระยะอยู่ได้ ต้องปิดรายการอย่างรวดเร็วหลังจากออกอากาศไม่นาน เพราะบางจุดของรายการไม่ถูกจริตกับผู้ชมไทย
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเวิร์คพอยท์ ที่จะควบคุมการผลิตให้ทุกองค์ประกอบผสมผสานได้อย่างลงตัวมากที่สุด เพื่อเรียกเรตติ้งของรายการ Thailand’s Got Talent ที่ออกอากาศในช่วงตอนเย็นวันอาทิตย์ เวลา 17.45 – 19.15 น. ให้ได้สูงสุดประมาณ 6 – 7 ตามที่ตั้งใจไว้ในการแข่งขันรอบ Final
ชยันต์ จันทวงศาทร ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับผิดชอบรายการ Thailand’s Got Talent ในฐานะโปรดิวเซอร์ บอกว่า ความยากและท้าทายของการผลิต Thailand’s Got Talent คือ การหาความสมดุลให้กับรายการ ที่ต้องคง Format และจุดหลักๆ ทั้งหลายของรายการไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับบางส่วนให้เข้ากับพฤติกรรมการรับชมของคนไทย เพื่อให้รายการนี้ไม่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับตอนเย็นวันอาทิตย์
แม้ทางเวิร์คพอยท์ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในกลยุทธ์ผลักดันแบรนดิ้งของซันซิลและเรโซนา แต่ก็ต้องคอยดูแลในส่วนของภาพที่ออกไปให้ได้ตามความต้องการของแบรนด์ให้ได้สูงสุด
หลังจากได้ดูเทปรายการเก่าๆ ของ Got Talent ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ British’s Got Talent ที่เป็นประเทศต้นกำเนิดรายการ และ America’s Got Talent ซึ่งช่วยให้รายการนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
ชยันต์ ก็ตัดสินใจว่า Got Talent ในประเทศไทยจะเป็นการผสานกันระหว่าง Got Talent ของอังกฤษและอเมริกา
ตัวอย่างเช่น การใช้พิธีกรสองคนดำเนินรายการ ก็เป็นรูปแบบรายการของ Got Talent ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนที่ได้จาก Got Talent ของอเมริกา คือ เวลาเปิดเบรก ซึ่งของอเมริกาเน้นขาย Location ตามเมืองต่างๆ ที่ได้จัด Audition โดยในไทยก็ได้นำภาพบรรยากาศเมืองระหว่าง Audition ที่ต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น มาเปิดในแต่ละเบรกด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ก็ได้เพิ่มลูกเล่นที่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ผู้ชมชาวไทยชอบรายการที่มีมุกตลกสอดแทรกอยู่ ให้ Got Talent ในประเทศไทยมีความโดดเด่นและแตกต่างออกมาท่ามกลางความเหมือน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการอธิบายให้กับทางโปรดิวเซอร์ใหญ่จากทาง Fremantle เจ้าของลิขสิทธิ์รายการให้เข้าใจ จนกระทั่งได้รับการอนุญาตในที่สุด
“ความยากของการทำรายการนี้อยู่ตรงที่ทาง Fremantle มีไบเบิลให้อิงในทุกขั้นตอนของการผลิต แต่วัฒนธรรมการรับชมในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ทาง Fremantle ไม่มีทางเข้าใจได้ดีกว่าเรา อย่างเช่น การใส่มุกตลกเข้าไปในโชว์ คนไทยชอบความสนุกสนาน แต่ฝรั่งมองว่าไม่จำเป็น แต่เราก็อธิบายจนเขารับฟัง เขาเชื่อเรา เพราะเรามีประสบการณ์ทำทีวีมานานในไทย”
“มันเป็นเรื่องของการบาลานซ์ ไม่ว่ายังไงก็ต้องยึดฟอร์แมตที่เขามีมา แต่ต้องสร้างให้สมมาตรกัน”
และเป็นที่มาของการเลือกคู่พิธีกรประจำรายการ น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์
ซุกซน กวนอารมณ์ แซวผู้เข้าแข่งขันได้อย่างไม่ยี่หระใดๆ และที่สำคัญมีมุกตลกที่ถูกกับจริตคนไทย เป็นบุคลิกของพิธีกรที่ทีมโปรดิวเซอร์มองหา และน้าเน็ก เป็นตัวเลือกแรก และตัวเลือกเดียวที่โผล่แวบขึ้นมาในความคิด
แต่เนื่องจากความแรงของน้าเน็ก จึงต้องหาพิธีกรคู่อีกคนมาช่วยเบรก โจทย์คือ คนหน้าเกลี้ยงๆ ตี๋ๆ ก่อนลงตัวที่กฤษณ์ ซึ่งชยันต์บอกว่า ทั้งสองคนอยู่แกรมมี่ แต่ว่าไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกของทั้งสองที่ทำงานด้วยกัน แต่เคมีของทั้งคู่ก็ไปด้วยกันได้จนกระทั่งโปรดิวเซอร์ของ Fremantle ถึงกับออกปากชม และไม่ต้องแก้คาแร็กเตอร์
องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้รายการนี้น่าติดตามหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ผู้เข้าประกวด หรือพิธีกรเท่านั้น แต่กรรมการมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะเพิ่มสีสันให้กับรายการดูมีเรื่องราว จุดสนใจเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกรรมการทั้ง 3 คนของ Thailand’s Got Talent ซึ่งประกอบด้วย นิรุตติ์ ศิริจรรยา, พรชิตา ณ สงขลา และ ภิญโญ รู้ธรรม มาแล้วเหนือความคาดหมาย แต่ภายลังจากรเวิร์คช็อป และถ่ายทำในรอบ Audition เป็นเวลา 6 วันที่โรงละครอักษรา ชยันต์ก็มั่นใจว่าพวกเขาได้ตัดสินใจถูกต้องแล้ว
“ปกติ เวลาทำรายการประกวด อย่างเช่น ชิงช้าสวรรค์ หรือคุณพระช่วย เรื่อง Chemistry สำคัญมาก หลังจากเลือกแล้ว เราจึงต้องทำเวิร์คช็อปกันก่อน นำโชว์ขึ้นมาให้ลองพูด พอเช็กเคมีกันในวันแรก เรารู้เลยว่าใช่แน่ๆ เลือกไม่พลาด”
จากนางเอกช่อง 3 ที่มีทั้งหมด เบนซ์ พรชิตา ได้รับการเลือกขึ้นมาเป็นหนึ่งในกรรมการ ซึ่งตามบุคลิกที่ทาง Got Talent ได้วางไว้ กรรมการผู้หญิงคนเดียวต้องมีความ Sensitive สูงมาก โดยเฉพาะการแสดงอารมณ์ผ่านทางดวงตา ซึ่งเบนซ์ พรชิตา เป็นคนที่ทำออกมาได้ดี
ขณะที่นิรุตติ์ ศิริจรรยา ซึ่งตอนแรกถูกวางคาแร็กเตอร์ให้เป็น Piers Morgan ที่ต้องปากจัด แต่หลังจากได้ปรึกษากับทาง GroupM แล้ว จึงได้ข้อสรุปว่าบุคลิกของนิรุตติ์ตรงกับ Simon Cowell มากที่สุด ซึ่งเมื่อเริ่มการถ่ายทำแล้วก็เป็นไปตามอย่างที่คาดไว้ การทำการบ้านมาอย่างดีของนิรุตติ์ ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ปฏิกิริยาเบื่อ สะท้อนคาแร็กเตอร์ของ Simon Cowell สูงอายุ คอเมนต์ตรงๆ ใช้อารมณ์ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
ส่วนกรรมการคนที่สาม Piers Morgan คาแร็กเตอร์ต้องเป็นแบบคมๆ สั้นๆ พูดอะไรนิ่งๆ ประชดประชันนิดๆ จึงมองไปที่กลุ่มซูโม่สำอาง แล้วก็เริ่มพิจารณาแต่ละคนว่าใครดี สุดท้ายลงตัวที่ภิญโญ รู้ธรรม ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งงานเพลง ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ และอื่นๆ ในวงการบันเทิง ภิญโญทำมาแล้วทุกประเภท
ถึงแม้จะมั่นใจมากว่ารายการ Thailand’s Got Talent ต้องประสบความสำเร็จในแง่เรตติ้ง แต่เมื่อถามถึงปัจจัยลบที่จะเป็นอุปสรรคให้รายการนี้ ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ชยันต์เปิดเผยว่า คงเป็นเรื่องการเมืองเท่านั้น ที่แรงพอจะชะลอความสำเร็จของรายการนี้ได้
ขณะที่ปัจจัยอย่างการไม่ถูกจริตในบางวัฒนธรรมของรายการ เช่น การลุกขึ้นยืนปรบมือของคนดูทั้งห้องส่งให้กับการแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ หรือส่งเสียงโห่เมื่อไม่พอใจ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ลักษณะพฤติกรรมของคนไทย แต่เป็นสิ่งที่ต้องมีในรายการ ชยันต์มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะจากการถ่ายทำรอบ Audition ตลอด 6 วันที่ผ่านมา ซึ่งต่อวันคนดูต้องชมโชว์เกินกว่า 50 โชว์ ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกลังเลแม้แต่น้อยที่จะแสดงออกถึงความชอบใจในโชว์ที่ทำให้พวกเขาหายเบื่อ หรือจะโห่ไล่ให้กับโชว์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกเสียเวลา และคิดว่า ผู้ชมทางบ้านน่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน
Behind the Scene
- ฟุตเทจกว่า 300 ม้วน ถือเป็นงานยากที่สุด เพราะต้องตัดให้เหลือเพียง 5 ตอน ตอนละชั่วโมงครึ่ง ที่สำคัญยังต้องให้ออกมาตามแบบฉบับ Got Talent อีกต่างหาก
- เสียงออดที่กรรมการกดเมื่อไม่ชอบใจในโชว์ ฟังเผินๆ เสียงไม่แตกต่างกัน แต่ที่จริงแล้วมี 3 ระดับโทนเสียง ความน่าเกลียดของโทนเสียงจะเพิ่มขึ้นเมื่อกรรมการคนที่สองและคนที่สามปฏิเสธโชว์ที่แสดง
- เบนซ์ พรชิตา หนึ่งในกรรมของ Got Talent ต้องทำการต่อผมจากผมซอยสั้นให้เป็นผมบ๊อบ เพื่อให้รับกับซันซิล หนึ่งในสปอนเซอร์หลักของรายการ
- ตามไบเบิลของรายการ ในรอบแรกๆ ชุดของพิธีกรต้องเป็นแบบสบายๆ และค่อยๆ เพิ่มความหรูมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรอบสุดท้ายที่ต้องใส่ Tuxedo
รูปแบบการแข่งขัน Thailand’s Got Talent
การแข่งขัน Thailand’s Got Talent แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ระหว่างรอบ Audition กับรอบ Semi-final ไปจนถึงรอบ Final
ในรอบแรก ทีม Sub-judge ได้ออกไปคัดเลือกใน 4 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้มาทั้งหมด 300 กว่าทีม ก่อนมาแสดงให้กรรมการทั้ง 3 คนเห็นที่โรงละครอักษรา เธียเตอร์ โดยใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน ซึ่งกรรมการจะคัดเลือกทั้งหมดที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 120 โชว์ ก่อนคัดเหลือแค่ 48 โชว์สุดท้ายที่จะเข้ารอบ Semi-final
ในรอบ Semi-final เป็นการถ่ายทอดสด โดยถ่ายทำที่สตูดิโอของเวิร์คพอยท์ แบ่งเป็นทั้งหมด 6 สัปดาห์ แต่ละสัปดาห์มี 8 โชว์ ก่อนจะคัดเลือกเพียง 2 โชว์ต่อเทปเท่านั้นเพื่อเข้าสู่รอบไฟนอล โดยวิธีการคัดเลือก ทีมที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากผู้ชมทางบ้านจะผ่านเข้ารอบ และอีกหนึ่งทีมกรรมการจะเป็นผู้ตัดสิน โดยการแข่งขันทั้งหมดใช้เวลา 13 สัปดาห์ เพื่อหาผู้ชนะเพียงทีมเดียว