วิกฤตพลังงานพ่นพิษ! ฉุด GDP ‘จีน’ ไตรมาส 3 โตไม่ถึง 5%

จากในตอนแรกที่ ‘จีน’ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการระบาดของโรค COVID-19 ในปีที่แล้ว โดยการเติบโตของ GDP พุ่งกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่แม้จะรับมือกับการระบาดได้ดี แต่ตอนนี้ต้องเจอกับวิกฤต ‘พลังงาน’ เป็นตัวแปรใหม่เข้ามาอีก

นักวิเคราะห์ 12 คนสำรวจโดย AFP คาดการณ์ว่า การเติบโตของจีนจะอยู่ที่ 4.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือว่าชะลอตัวลงอย่างมากจาก 7.9% ในช่วงไตรมาสที่สอง โดยเหล่านักวิเคราะห์ได้ปรับประมาณการการเติบโตทั้งปีเป็น 8.1% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ 8.5%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเติบโตของจีนที่ชะลอตัวส่วนใหญ่เกิดจากมาตรการ ‘จัดการโควิดให้เป็นศูนย์’ หรือ ‘zero-tolerance COVID’ โดยรัฐบาลทั้งปิดพรมแดน มีการจำกัดการเดินทาง รวมถึงการเข้าประเทศของชาวต่างชาติ บวกกับนโยบายที่เข้มงวดในปีนี้

โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และารขับเคลื่อนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงมีเรื่องของวิกฤตพลังงานเข้ามาอีก โดยในภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตที่ชะลอตัวด้วยกฎระเบียบและนโยบายสินเชื่อที่เข้มงวดสำหรับนักพัฒนา เนื่องจากกรณีของบริษัท Evergrande ที่สร้างปัญหาหนี้สินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ไปด้วย

Christina Zhu จาก Moody’s Analytics กล่าวว่า การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และราคาบ้านที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโต เนื่องจากการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มีส่วนสำคัญในการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเธอกล่าวว่ามีสัดส่วนมากกว่า 40% ของ GDP ทั้งหมด

“ความเสี่ยงหลักสองประการในช่วงที่เหลือของปีคือ ปัญหาหนี้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการขาดแคลนพลังงาน”

ด้านปัญหาวิกฤตพลังงานของจีนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมาพร้อมกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น บวกกับการที่รัฐบาลพยายามผลักดันนโยบายการลดปล่อยคาร์บอน ส่งผลให้กิจกรรมการขุดและการผลิตเหมืองถ่านหินลดลง โดยการหยุดชะงักดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างแรงกดดันต่อตลาดแรงงานในประเทศและการบริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าและราคาทั่วโลก

โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ UBS เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะปรับนโยบายเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านพลังงานที่รุนแรง โดยได้แนะนำแนวทางในการเพิ่มการผลิตและนำเข้าถ่านหินแล้ว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังพยายามปรับเทียบเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภค หลีกเลี่ยงการลงทุนและการส่งออก

ยีน หม่า หัวหน้าฝ่ายวิจัยของจีนที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้อุปสงค์จากต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศและการระบาดของไวรัส นอกเหนือไปจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานและตลาดที่อยู่อาศัยล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน

“เพราะทั้งปัญหาน้ำท่วมเหมืองถ่านหิน สภาพอากาศที่ทำลายพืชผล และการล็อกดาวน์หลายครั้ง ทำให้การฟื้นตัวอย่างน่าทึ่งของจีนหลังเกิด COVID-19 จะหมดลงในฤดูร้อนปีนี้”

Source