Coca-Cola พลิกจากตัวปัญหาขยะพลาสติก สู่โซลูชั่น “ขวดจากพืช”

แทนที่จะโฆษณาสีแดง แบรนด์น้ำอัดลมน้ำดำสุดซ่าอย่าง Coca-Cola เลือกใช้สีเขียวเป็นหลักในโฆษณาล่าสุด พร้อมประกาศความสำเร็จว่า Coca-Cola สามารถพัฒนาขวดพลาสติกจากพืชแบบ 100% สำเร็จแล้ว โดยมีแผนแบ่งปันเทคโนให้คู่แข่งรายอื่นด้วย

ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะที่ผ่านมา Coca-Cola ถูกยกเป็นหนึ่งในต้นต่อขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจากการสำรวจของรายงาน Break Free from Plastic ประจำปี 2021 พบว่า Coca-Cola จำหน่ายขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งเป็นขยะมากกว่า 1 แสนล้านขวดต่อปี

จากภาพตัวก่อปัญหา Coca-Cola ต้องการพลิกบทบาทมาเป็นผู้นำในการค้นพบทางแก้ไข หรือเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมน้ำหวานได้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน แต่คำถามคือ Coca-Cola จะทำได้ไหม? และจะทำได้ด้วยวิธีใด? 

จัดการปัญหาพลาสติกของตัวเอง

ที่ผ่านมา Coca-Cola หรือโค้กมีวิธีจัดการกับขวดด้วยระบบการคืนขวดแก้ว ซึ่งเมื่อลูกค้าดื่มน้ำหวานที่จำหน่ายไปพร้อมขวดแก้วหมดแล้ว ก็จะส่งคืนร้านค้าโดยที่ร้านจะได้รับเงินตอบแทนสำหรับขวดที่ส่งกลับมา ซึ่งที่สุดแล้ว ขวดเหล่านี้จะถูกส่งไปรียูสหรือใช้ซ้ำอีกครั้ง

ขวดแก้วลักษณะนี้ยังมีจำหน่ายในบางพื้นที่จนกระทั่งต้นปี 2021 สำนักข่าว BBC ยกตัวอย่างพื้นที่เกาะซามัว ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ อยู่กึ่งกลางระหว่างมลรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ ซามัวเป็นเกาะที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหามลพิษขยะพลาสติกอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Coca-Cola ตัดสินใจเปลี่ยนขวดแก้วมาเป็นขวดพลาสติก แล้ววางจำหน่ายบนเกาะ ช่วงเวลาไม่นานหลังจากนั้น ผู้ที่อาศัยในเกาะกลับพบกับขยะที่เป็นขวดสินค้า Coca-Cola มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขวดเหล่านี้ไม่ใช่แค่แบรนด์ Coca-Cola แต่ยังมีแบรนด์ในเครือเช่น Fanta และ Sprite รวมอยู่ด้วย กลายเป็นกระแสขึ้นมาทันทีว่าขวดพลาสติกเหล่านี้กำลังเป็นปัญหา ในพื้นที่ซึ่งไม่มีโรงงานรีไซเคิลอย่างเกาะซามัว 

ขณะนี้ มีการประเมินว่าขวด Coke เป็น 1 ใน 3 ขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งเป็นขยะมากที่สุดบนเกาะซามัว ตัวเกาะมีประชากรอาศัยอยู่เพียง 2 แสนคน ทำให้ปริมาณขยะในเกาะไม่ได้มีมากพอที่จะต้องก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติกบนเกาะ ปัญหาคือโรงงานรีไซเคิลพลาสติกลักษณะนี้จะมีผลดีเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น แต่สำหรับพื้นที่เล็กๆอย่างซามัว ผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่าพยายามที่จะส่งออกขยะออกจากเกาะแทน แต่ค่าขนส่งนั้นแพงมาก ดังนั้นจึงไม่คุ้มค่าแม้จะมีการส่งออกขยะแบบเต็มคอนเทนเนอร์ก็ตาม รวมทั้งยังมีต้นทุนในการจัดหาแรงงานเพื่อทำความสะอาดขยะขวดพลาสติกเหล่านี้

กรณีนี้ Coca-Cola เคยพยายามรับผิดชอบด้วยการกำหนดค่าชดเชยให้ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อขยะขวดพลาสติก 1 กิโลกรัมที่รวบรวมได้ โดยให้เหตุผลสาเหตุที่ตัดสินใจยกเลิกขวดแก้ว ว่าเป็นเพราะปัญหาความยุ่งยากและการจัดการที่ซับซ้อนในห่วงโซ่การผลิตหรือ supply chain โดย Coca-Cola ยืนยันชัดเจนว่า บริษัทกำลังพยายามทุกทางเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าของ Coca-Cola จะไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว BBC ย้ำว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำอัดลมถือเป็นแหล่งใหญ่ของการผลิตขวดพลาสติกมากกว่า 4.7 แสนล้านขวดต่อปี ทุกขวดถูกออกแบบเพื่อให้สามารถใช้งานครั้งเดียวแล้วทิ้ง และ 1 ใน 4 ของขวดใช้แล้วทิ้งถูกจำหน่ายไปโดย Coca-Cola 

เบื้องต้น นักสังเกตการณ์ชี้ว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวหรือ single use plastic ถือเป็นช่องทางลดต้นทุนที่ดีที่สุดของบริษัทหลายแห่ง ไม่ใช่เพียง Coca-Cola แต่หลายบริษัทใช้พลาสติกที่มีราคาถูกอย่างเหลือเชื่อในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เมื่อวางจำหน่ายในตลาดแล้ว บริษัทหลายแห่งถือว่าภารกิจตัวเองได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว จึงไม่ได้มีการดำเนินการใดๆต่อเพื่อรับผิดชอบ 

Coca-Cola ไม่นิ่งดูดาย

ในปี 2018 แบรนด์โคล่าอย่าง Coca-Cola ประกาศแผนโลกที่ไร้ขยะหรือ World Without Waste Plan เพื่อเก็บและรีไซเคิลขวดสำหรับขวดทุกขวดที่ Coca-Cola จำหน่ายภายในปี 203 เวลานั้นเจมส์ ควินซ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท The Coca Cola Company ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทจะเข้ามามีส่วนร่วมในการรวบรวม และจัดการขวดเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อรีไซเคิลและนำกลับมาผลิตขวดซ้ำใหม่อีกครั้ง 

นโยบายนี้ย้ำว่า Coca-Cola หวังที่จะเปลี่ยนทัศนคติจากภาพที่ถูกมองว่าเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหา มาเป็น Coca-Cola ที่ก้าวนำในด้านการค้นพบทางแก้ไขหรือโซลูชั่นของทั้งอุตสาหกรรม

ก้าวล่าสุดที่ Coca-Cola ทำคือการต่อยอดโครงการผลักดันความยั่งยืน จากช่วงต้นปีนี้ที่ได้เริ่มทดลองใช้ขวดต้นแบบที่ทำจากกระดาษ มาเป็นการสานต่อโครงการขวดพลาสติก PET แบบใหม่ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% โดยไม่ใช่แค่ในขวดของตัวเอง Coca-Cola ยังประกาศจุดยืนว่าจะเผยแพร่เทคโนโลยีแก่ผู้เล่นทุกรายในอุตสาหกรรม เป็นการเต็มใจเปิดกว้างให้แบรนด์เครื่องดื่มที่เป็นคู่แข่งกัน

 

Coca-Cola อธิบายว่าเป้าหมายของบริษัทคือการพัฒนาโซลูชั่นที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม โดยย้ำว่าต้องการให้บริษัทอื่นเข้าร่วมและก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ด้วยการใช้ขวดใหม่ซึ่งใช้วัสดุจากพืชทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการ ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถนำไปใช้กับการผลิตฝาปิดและฉลาก แต่ Coca-Cola ก็ย้ำว่านี่คือก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีขวดพลาสติกจากพืชไปใช้ในเชิงพาณิชย์

เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือวัสดุจากพืชที่เรียกว่าพาราไซลีน (bPX) ซึ่งทำจากข้าวโพด เมื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นกรดเทเรฟทาลิก (bPTA) และเข้าสู่การแปลงชีวมวลเป็นโมโนเอทิลีนไกลคอล สารพื้นฐานสำหรับผลิตเรซินหรือสีที่ได้จากพืช (bMEG) วิธีการนี้ลดการปล่อยมลพิษในสายการผลิต คาดว่าจะมีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในโรงงานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบที่เยอรมนี และมีการใช้วัตถุดิบเศษไม้เหลือใช้จากอุตสาหกรรมไม้เพื่อสร้าง bMEG ให้มากขึ้น

เบื้องต้น Coca-Cola ตั้งใจจะกำจัดการใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติออกจากการผลิตขวดพลาสติกทั้งหมดภายในปี 2030 โดยมีแผนพร้อมใช้วัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุหมุนเวียนเท่านั้นในตลาดยุโรปและญี่ปุ่น

ทั้งหมดนี้ Coca-Cola โพสต์บนทวิตเตอร์ว่าขวดนี้เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรม #WorldWithoutWaste โดยบอกว่านี่คือขวดเครื่องดื่มรุ่นแรกของ Coca-Cola ที่ทำจากพลาสติกจากพืช 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นขวดที่ผลิตโดยเทคโนโลยีซึ่งพร้อมจะนำไปเดินหน้าผลิตจำนวนมากในเชิงพาณิชย์แล้ว.

ที่มา :