การทดลองยาเม็ดต้านไวรัสสำหรับรักษา COVID-19 ของไฟเซอร์ อิงค์ ลดโอกาสที่ผู้ป่วยเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรงจะเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้ 89% ขณะที่ซีอีโอของบริษัทระบุว่า จะทำให้อาวุธใหม่ในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่เข้าถึงได้ทั่วโลกอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ผลการทดลองดังกล่าวบ่งชี้ว่ายาเม็ดของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพเหนือกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมอร์คแอนด์โค อิงค์ ซึ่งเผยผลการทดลองเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงติดเชื้ออาการรุนแรงจะเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 50%
ยาเม็ดของไฟเซอร์ มีชื่อว่า แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) อาจได้รับการอนุมัติจากคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบในช่วงสิ้นปี ในขณะที่ไฟเซอร์มีแผนยื่นผลการทดลองชั่วคราวต่อสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ก่อนวันหยุดวันขอบคุณพระเจ้า 25 พฤศจิกายน โดยการทดลองหยุดลงก่อนกำหนด เนื่องจากอัตราความสำเร็จระดับสูงของมัน หลังจากใช้เวลาพัฒนามานานเกือบ 2 ปี
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เผยว่ารัฐบาลอเมริกาได้สั่งซื้อยาของไฟเซอร์แล้วหลายล้านคอร์ส “ถ้าได้รับอนุมัติจากเอฟดีเอ เร็วๆ นี้เราอาจมียาเม็ดรักษาไวรัสในคนที่ติดเชื้อ ยารักษานี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในกล่องเครื่องมือของเรา เพื่อปกป้องประชาชนจากผลลัพธ์ที่เลวร้ายของโควิด”
หุ้นของไฟเซอร์ ผู้ผลิตหนึ่งในวัคซีน COVID-19 ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดพุ่งทะยาน 11% ปิดที่ 48.61 ดอลลาร์ ส่วนเมอร์ค ปิดลบ 10% อยู่ที่ 81.61 ดอลลาร์ ส่วนหุ้นของผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยทั้งโมเดอร์นา โนวาแว็กซ์ และไบออนเทค พันธมิตรสัญชาติเยอรมนีของไฟเซอร์ ต่างปิดลบราว 11-21%
แพ็กซ์โลวิด เป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่ถูกออกแบบมาให้ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ซึ่งเชื้อไวรัสต้องใช้ในการเพิ่มจำนวน และเมื่อใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่เรียกว่า “ริโทนาเวียร์” (ritonavir) ในโดสที่ต่ำ จะทำให้แพ็กซ์โลวิดอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ในการใช้แพ็กซ์โลวิด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
อัลเบิร์ต บัวร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า ไฟเซอร์กำลังพูดคุยอย่างกระตือรือร้นกับประเทศต่างๆ 90 ชาติ เกี่ยวกับสัญญาจัดซื้อจัดหายาเม็ดแพ็กซ์โลวิด “เป้าหมายของเราคือทุกคนในโลกจะสามารถเข้าถึงมันอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
บัวร์ลา กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศที่มีรายได้สูง ไฟเซอร์คาดหมายว่าราคาของการรักษาน่าจะพอๆ กับราคายาของเมอร์ค โดยราคาของเมอร์คที่ทำไว้กับสหรัฐฯ อยู่ที่ราวๆ 700 ดอลลาร์ (ราว 23,000บาท) ต่อ 1 คอร์สรักษาที่ใช้เวลา 5 วัน ส่วนบรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำ บัวร์ลา บอกว่า ไฟเซอร์กำลังพิจารณาหลายทางเลือก โดยมีเป้าหมายคือไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงของประเทศเหล่านี้
พวกผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ แม้ยาเม็ดไฟเซอร์และเมอร์คคืออีกทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง ยังคงเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับควบคุมโรคระบาดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก ในนั้นมากกว่า 750,000 รายในสหรัฐฯ
ไฟเซอร์คาดหมายว่าจะผลิตยาเม็ดได้ 180,000 คอร์สรักษาในช่วงสิ้นปีนี้ และอย่างน้อย 50 คอร์สในช่วงสิ้นปีหน้า ในนั้นรวมถึง 21 ล้านคอร์สช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตามทาง บัวร์ลา ระบุว่าไฟเซอร์กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ของเพิ่มเป้าหมายการผลิตในปีหน้าเป็น 2 เท่า
บริษัทไฟเซอร์เปิดเผยว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองดังกล่าวมีจำนวน 1,219 คน โดยเป็นผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี
ผลการทดลองพบว่า หากผู้ป่วย COVID-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 3 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวนเพียง 0.8% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิตภายใน 28 วันหลังจากที่ได้รับยา ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 5 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวน 1% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก จำนวน 6.7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน ซึ่งไฟเซอร์ บอกว่ามันเป็นตัวแทนของประสิทธิภาพ 85% ของการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต
ไฟเซอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลข้างเคียงใดๆ แต่บอกว่าอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นราวๆ 20% ทั้งในคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาจริงและยาหลอก ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมีทั้งคลื่นไส้และท้องเสีย