กางเเผน ‘KERRY COOL’ กับเป้าหมายเจ้าตลาดขนส่งคุมอุณหภูมิ ปั้น IPO เข้าตลาดหุ้นใน 5 ปี

หลังจากสองธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างเคอรี่ เอ็กซ์เพรสเเละเบทาโกรประกาศข่าวใหญ่ร่วมทุนสร้าง แพลตฟอร์มขนส่งด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิ KERRY COOL ขึ้นมา เมื่อช่วงกลางเดือนต.. วันนี้ก็ถึงเวลากางเเผนรุกธุรกิจเต็มที่ ด้วยเป้าหมาย 3 ปีขึ้นเเท่นผู้นำตลาด เเละใน 5 ปีกับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิในไทย มีมูลค่าตลาดราว 40,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของตลาดโลจิสติกส์ทั้งหมด โดยแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยปีละ 12-15%

จากการที่ผู้เล่นในตลาดรายใหญ่ยังไม่ค่อยมีมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าเล็กกลาง ยังไม่มีระบบบริการที่มีมาตรฐานเเบบครบวงจร จึงเป็นโอกาสสำคัญของเคอรี่ที่จะเข้ามาอุดช่องว่างนี้

อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชนบอกว่า KERRY COOL มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาท เเต่มีการเตรียมงบลงทุนไว้ถึง 1,000 ล้านบาท 

โดยสัดส่วนการถือหุ้นของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส เท่ากับ 60% และเครือเบทาโกรถือหุ้นอยู่ 40% ซึ่งจะดำเนินงานภายใต้ บริษัท เคอรี่เบทาโกร จำกัด

ทางบริษัท คาดว่า KERRY COOL จะเป็นผู้นำตลาดได้ และสร้างรายได้ให้กับเคอรี่ เอ็กซ์เพรสกว่า 25% ของรายได้รวมในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

สำหรับจุดเด่นของ KERRY COOL ที่จะเข้ามาทำตลาดนี้ คือการชูความเป็น ‘One stop service’ ที่มีการใช้เทคโนโลยีติดตามได้แบบเรียลไทม์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ตามเครือข่ายของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส

⚫ มีระบบ Advanced technology & signaling system ซึ่งถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ช่วยให้ลูกค้าสามารถติดตามอุณหภูมิของพัสดุตลอดการขนส่ง ไปพร้อมกับการติดตามสถานะการขนส่งได้ทุกเวลา

การควบคุมอุณหภูมิภายในรถแบบ Dual Chamber ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ทั้ง 2 แบบคือแบบแช่เย็นและแช่แข็ง

นำความเชี่ยวชาญในการเป็นธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนด้วยโมเดล Hub-and-Spoke ของเคอรี่ เอ็กซ์เพรสมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุนและค่าดำเนินการขนส่ง ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งได้มากขึ้น ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการในราคาที่เข้าถึงได้

ชื่อเสียงด้านคุณภาพของเบทาโกรที่มีมายาวนานในอุตสาหกรรมอาหาร ที่เน้นความสดเเละความปลอดภัย

ความยืดหยุ่น (flexible) ในการใช้บริการ โดยลูกค้าสามารถมาสั่งที่ศูนย์บริการด้วยตนเอง หรือจะสั่งให้มารับถึงที่บ้านได้ผ่านเเอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์

โอกาสของ ‘เจ้าใหญ่’ 

วราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (KEX) กล่าวว่า บริษัทมองเห็นถึงโอกาสของความต้องการใช้บริการขนส่งเย็นที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่มีการสั่งวัตถุดิบเเบบเดลิเวอรี่อย่างเเพร่หลาย ทั้งในกลุ่มลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไปและยังมีช่องว่างทางการตลาดที่จะเข้าไปรุกตลาดนี้ได้

บริการขนส่งแบบ Cold Chain ในปัจจุบันมีเพียงผู้ประกอบการรายเล็กที่ให้บริการ ทำให้บริษัทในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการขนส่งสินค้า รวมถึงความเชี่ยวชาญของเครือเบทาโกรในเรื่องของการจัดเก็บสินค้าที่มีคุณภาพ นี่คือจุดเเข็งเเละช่องว่างทางการตลาดที่เราจะเข้าไปรุกตลาดนี้ได้

บริษัทวางงบลงทุนรวมไว้ราว 1,000 พันล้านบาทในระยะ 3-5 ปีนี้ โดยจะมีการขยายช่องทางต่างๆ ของ KERRY COOL ทั้งศูนย์ขนส่ง (Distribution Center) และจุดรับสินค้า (Service Point)

โดยได้เริ่มให้บริการในกลุ่มลูกค้า B2B (Business-to-business) ในภาคใต้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าของเบทาโกรเเละจะขยายไปในพื้นที่อื่นต่อไป

KERRY COOL จะรุกตลาดอย่างเต็มที่ตั้งเเต่ช่วงต้นปี 65 เป็นต้นไป โดยจะให้เปิดบริการจำนวน 55 ศูนย์ และ Service Point จำนวน 1,000 จุด

สำหรับเเผนการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/65 บริษัทจะค่อยๆ ขยายฐานกลุ่มลูกค้า B2B และเพิ่มบริการกลุ่มลูกค้า B2C (business-to-consumer) เข้ามาเพิ่มเติม และในไตรมาส 2/65 จะเพิ่มบริการไปที่กลุ่มลูกค้า C2C (Customer to customer) ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า พร้อมเร่งทำการตลาดสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ในช่วง 3 ปีนี้ เรามองว่า KERRY COOL จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาด Cold Chain” 

สำหรับวางเป้าหมายผลักดัน KERRY COOL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เเละ IPO เสนอขายหุ้นให้สาธารณชนนั้น ตั้งเป้าไว้ที่ 5 ปี ซึ่งจะเป็นการต่อยอดโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตได้มากขึ้นในอนาคต

ขยายไปมากกว่า ‘ส่งอาหาร’ 

ด้าน วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร ตอบคำถามถึงความท้าทายของธุรกิจขนส่งด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิ หรือ Cold Chain Delivery ในไทยว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ซึ่งเห็นว่าความร่วมมือของเบทาโกรเเละเคอรี่จะพัฒนาไปสู่ระดับนั้นได้

โดยนอกเหนือจากสินค้ากลุ่มอาหารเเล้ว ความต้องการใช้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ ยังรวมไปถึงในธุรกิจยาและเเละธุรกิจความงาม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอื่นๆ ที่จะเริ่มเข้ามาใช้บริการขนส่งแบบ Cold Chain มากขึ้น เป็น unlock experience ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคช่วงโควิด-19 ก็มีการซื้อสินค้าและอาหารรวมถึงกลุ่มอาหารสดหรือแช่เย็นแช่แข็งผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ให้ผู้ประกอบการอาหารทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ทั้งหมดต้องปรับตัวทางธุรกิจมาให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งเดลิเวอรี่มากขึ้น

สิ่งสำคัญของธุรกิจนี้ คือต้องมีระบบที่ดี ครบวงจร ส่งมอบอาหารในคุณภาพสูง รวดเร็ว ปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้”