“สลัดแฟคทอรี่” ไม่ได้มีแค่สลัด! คอลแลป “S-Pure” จัดเมนูเจาะ Gen Z – แผนปีนี้บุกเปิดใน “โรงพยาบาล”

สลัดแฟคทอรี่
สลัดแฟคทอรี่วางเป้าการตลาดสื่อสารว่าร้านนี้ ไม่ได้มีแค่สลัดทำแคมเปญคอลแลป ”S-Pure” พัฒนาเมนูจาก อกไก่กรุยทางเจาะกลุ่มลูกค้า “Gen Z” ปี‘67 วางเป้าเปิดรวม 9 สาขา ลุยพื้นที่ใหม่กลุ่ม โรงพยาบาล”

“ปิยะ ดั่นคุ้ม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด ผู้ก่อตั้งร้านอาหารสุขภาพ “สลัดแฟคทอรี่” (Salad Factory) (*ปัจจุบันอยู่ในเครือ CRG ซึ่งถือหุ้น 51%) เปิดเผยกลยุทธ์การทำตลาดหลังจากนี้ต้องการดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม “Gen Z” ซึ่งยังไม่รู้จักร้านมากนัก

“ปกติลูกค้าหลักเรามักจะเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน 25 ปีขึ้นไป แต่จริงๆ ยุคนี้แม้แต่วัยรุ่น Gen Z ก็รักสุขภาพมากขึ้น อาหารสุขภาพไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น ทำให้ต้องการจะทำตลาดคนรุ่นใหม่” ปิยะกล่าว “แต่จากการสำรวจตลาดพบว่า Gen Z ยังไม่รู้จักร้านเรา หรือมีมุมมองว่าร้านชื่อสลัดก็น่าจะมีแต่ผักซึ่งทำให้คน Gen Z อาจจะไม่อยากเข้าร้าน”

โจทย์นี้ทำให้สลัดแฟคทอรี่จะมีการทำการตลาดที่สื่อสารตรงกับ Gen Z มากกว่าเดิมทั้งเชิงช่องทางโซเชียลมีเดียและลักษณะคอนเทนต์ เพื่อสื่อสารว่าร้านนี้ “ไม่ได้มีแค่สลัด” เพราะมีเมนูอื่นๆ ที่เพื่อนๆ ทั้งกลุ่มมาทานด้วยกันได้

ดร.โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ “ปิยะ ดั่นคุ้ม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด

 

คอลแลป “S-Pure” ชูเมนูจากอกไก่

ปีนี้ร้านยังพัฒนาเมนูใหม่กลุ่มเนื้อสัตว์มากขึ้นด้วย โดยมีแคมเปญพิเศษ “สุข ฉ่ำ เต็มอก” ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์อกไก่ “S-Pure” จากเบทาโกรมาพัฒนาเมนู 5 เมนูใหม่ ได้แก่ สเต๊กอกไก่บาร์บีคิวเอสเพียวสับปะรดและพริกหวาน, พิซซ่าอกไก่กรอบเอสเพียวฮาวายเอียน, สลัดอกไก่กรอบเอสเพียวยูสุผลไม้รวม, สเต๊กอกไก่ย่างเอสเพียวซอสทรัฟเฟิลพาร์มีซานชีสและผักโขม และสเต๊กอกไก่ย่างเอสเพียวและซัลซาอโวคาโดผลไม้ เปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 8 ส.ค. – 30 ก.ย. 67 เท่านั้น

ปิยะชี้ให้เห็นว่าเมนูใหม่แคมเปญนี้มี 2 เมนูที่ใช้ “ไก่ทอดกรอบ” และมีเมนูที่ลักษณะเป็น “พิซซ่า” ด้วย เพื่อดึงดูดใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น

สลัดอกไก่กรอบเอสเพียวยูสุผลไม้รวม ใช้ของทอดเข้ามาช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น

ด้าน “ดร.โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแบรนด์ S-Pure ว่าเป็นโปรดักส์ระดับพรีเมียมสูงสุดของบริษัท มีจุดเด่นที่การทำฟาร์มแบบพิเศษ เลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารซินไบโอติกส์ ปราศจากฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ ทำให้ดีต่อสุขภาพของผู้รับประทาน

ส่วนการคอลแลปกับร้านอาหาร นำผลิตภัณฑ์ S-Pure มาคิดค้นเมนูและโปรโมตร่วมกันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้ารู้จักคุณสมบัติของ S-Pure มากขึ้น และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าร้านอาหารด้วย

 

ขยายเข้า “โรงพยาบาล”

สำหรับการขยายสาขาของ “สลัดแฟคทอรี่” ปิยะระบุว่าเมื่อสิ้นปี 2566 ร้านมีทั้งหมด 39 สาขา ปี 2567 วางเป้าขยายเพิ่ม 9 สาขา ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้มีสลัดแฟคทอรี่ทั้งหมด 48 สาขา ถือเป็นร้านอาหารสุขภาพที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในไทย

ทั้งนี้ ปีนี้มีพื้นที่ตั้งร้านใหม่ๆ ที่บุกเข้าไปมากขึ้นคือ “โรงพยาบาล” เพราะสอดคล้องกับโปรดักส์ มีกลุ่มคนรักสุขภาพและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย

สลัดแฟคทอรี่
สลัดแฟคทอรี่ สาขาโรงพยาบาลเมดพาร์ค

โดยสลัดแฟคทอรี่เคยเปิดสาขาแรกใน “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เมื่อปี 2564 ก่อนที่ปีนี้จะขยายไปอีก 4 สาขาคือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์, โรงพยาบาลเมดพาร์ค, โรงพยาบาลพระราม 9 และโรงพยาบาลวิภาวดี

ลักษณะร้านในโรงพยาบาลจะเน้นเป็นโมเดล ‘Compact Store’ เป็นร้านขนาดกลาง 100-120 ตารางเมตร 40-50 ที่นั่ง เสิร์ฟอาหาร 70-80% ของจำนวนเมนูปกติที่มีในร้านสเกล ‘Full Restaurant’

ปิยะกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการขยายสาขาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หาที่เช่าไม่ง่ายนัก เพราะพื้นที่เชิงพาณิชย์ในโรงพยาบาลมักจะมีจำกัด

สลัดแฟคทอรี่
สลัดแฟคทอรี่ สาขาอารีย์ซอย 2 เป็นร้านแบบ Full Restaurant จุได้มากกว่า 60 ที่นั่ง และมีที่จอดรถ

ตลาดร้านอาหารสุขภาพในเมืองไทยเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในระยะหลัง ปิยะมองว่ามูลค่าตลาดเมื่อปี 2566 น่าจะแตะ 4,500 ล้านบาท และยังโตต่อเนื่องทุกปี

ในส่วนของบริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด เมื่อปี 2566 ทำรายได้ไป 593 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้แตะ 750 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า

“ปัจจุบันตลาดร้านอาหารสุขภาพมีประมาณ 3 เจ้าใหญ่ที่นำตลาด แต่จำนวนผู้เล่นก็เพิ่มขึ้นสูงมาก จากยุคสิบปีก่อนมีเพียง 3-4 แบรนด์ ขณะนี้มีคู่แข่งมากกว่า 20 แบรนด์ แต่คิดว่าตลาดยังมีพื้นที่ให้เล่นให้โตได้อีก เพียงแต่ว่าผู้เล่นใหม่เข้ามาก็จะต้องวางคอนเซ็ปต์ให้ชัดเจนว่าขายอะไรเป็นหลักและขายใคร” ปิยะกล่าวปิดท้าย