ปิดการขายด้วย Macbook Air – Hologram

เห็นสปอนเซอร์แต่ละรายที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตครั้งนี้ นักจัดคอนเสิร์ตหรือผู้ที่ต้องวิ่งหาผู้สนับสนุนต่างก็มองด้วยความประหลาดใจว่า ทำอย่างไรโครงการที่พวกเขาเสนอจะได้รับการตอบรับมากมายเช่นนี้ได้

อย่าดูแค่ผลงานที่ออกมา ต้องดูถึงผลงานเดิมที่เคยทำมา และการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ รวมไปถึงกลยุทธ์ที่ วินิจ เลิศรัตนชัย ใช้บ้างว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ถึงจะบรรลุผลอย่างที่เห็น

สปอนเซอร์ 8 ราย วงเงินกว่า 300 ล้านบาท ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย หรือการบนบานศาลกล่าว แต่ผ่านการคิด การระดมสมอง และการใช้สายสัมพันธ์ที่ต่อถึง แต่ในตัวของคนเสนอโครงการเองก็ต้องมีฝีมือเช่นกัน

สิ่งที่วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด มีอยู่ในการเดินไปหาสปอนเซอร์คือความกล้าได้กล้าเสีย เขาเป็นประเภทติดอาวุธให้ครบ แล้วเดินไปข้างหน้า ทำทุกอย่างพร้อม นั่นคือการแสดงถึงความมั่นอกมั่นใจในการพูดคุยกับสปอนเซอร์

และสิ่งที่สำคัญก็คือ ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาให้สปอนเซอร์จ่ายเพียงอย่างเดียว เขาต้องลงทุนให้เห็นด้วยว่า โครงการขนาดใหญ่แบบนี้ เขาลงทุนขนาดไหน แม้จะไม่มากเท่ากับสปอนเซอร์ แต่ก็ต้องอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และต้องมีความจริงใจ

“โครงการนี้เกิดเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว กลางเดือนพฤศจิกายนแถลงข่าวเซ็น MOU กับวอร์เนอร์และคาราบาว วันที่แถลงข่าวยังไม่มีสปอนเซอร์สักรายเดียว แต่เป็นการจัดแถลงข่าวที่ใช้เงินมากที่สุดในวงการดนตรี เพราะมีโชว์โฮโลแกรมไปโชว์บนเวที”

วินิจกำลังอธิบายถึง Hologram ขนาด 1:1 ที่ใช้ในต่างประเทศ เช่นการรายงานข่าว และงานคอนเสิร์ต สั่งตรงมาจากอังกฤษเพื่อคอนเสิร์ตครั้งนี้ แต่เขาลงทุนนำโชว์แสนแพงมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท มาเปิดตัวในงานแถลงข่าวที่ยังไม่มีสปอนเซอร์แม้แต่รายเดียว เพื่อให้เห็นภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นในคอนเสิร์ตครั้งนี้

นั่นอาจตีความหมายได้ว่า วินิจพร้อมที่จะลงทุนแบบหมดตัว หากไม่มีสปอนเซอร์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาคิด จะต้องเกิดขึ้น หรืออีกมุมหนึ่งก็คือเมื่อสปอนเซอร์เห็นรายละเอียดของงาน และสิ่งที่ใส่ไปในงานนี้ เกิดความสนใจ การถามหาซื้อแพ็กเกจก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

วินิจอาจต้องการให้เกิดความรู้สึกประการหลังมากกว่า เมื่อได้เจอหน้ากันที่โต๊ะประชุมว่าตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่

ไมใช่ว่าทำแค่นี้สปอนเซอร์จะสนใจหรือตอบตกลงใจ การแสดงถึงความกล้าลงทุนที่สมน้ำสมเนื้อก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

เขาเล่าให้ฟังว่า บริษัทต้องการคอมพิวเตอร์ Apple มาเป็นผู้สนับสนุนรายหนึ่งของงานนี้ เขาลงทุนซื้อ Macbook Air คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กรุ่นบาง สเป็กแรงของแมคมา 15 เครื่อง พร้อมกับทำแอร์บรัชเป็นโลโก้คาราบาว 30 ปี บนแมคแอร์ แล้วไปเสนอกับคอมพิวเตอร์แอปเปิล แต่ก็ต้องผิดหวังกลับมา เพราะแมคไม่มีนโยบายด้านนี้

วินิจตัดสินใจนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมดทุกประเภทใส่เข้าไปในแมคแอร์จำนวนเท่ากับสปอนเซอร์ที่เขาจะเดินเข้าไปคุยไปบริษัทหนึ่งก็หยิบไปหนึ่งเครื่องอธิบายรายละเอียดด้วยแมคแอร์ โดยไม่มีเอกสารที่เป็นกระดาษมาเกี่ยวข้องเมื่อขั้นตอนการอธิบายจบ ลูกค้าที่ฟังอยู่ต้องการสำเนาเอกสาร วินิจก็ปิดการขายทันที

“ผมมีฮาร์ดดิสก์อยู่ตัวหนึ่ง เพลงของคาราบาว เอกสาร สิทธิประโยชน์ทั้งหมดอยู่ในนี้ และผมจะทำตามนี้ทุกอย่าง ไปเปิดได้ดูเลย”

แล้วเขาก็ไม่นำแมคแอร์กลับมา วางไว้ให้ลูกค้าที่มาฟังเขาอธิบายไว้ใช้อธิบายกับผู้เกี่ยวข้องในภายหลัง นั่นหมายความว่า เอกสารเสนอขายโครงการของวินิจก็คือแมคแอร์ที่เขาวางไว้ให้นั่นเอง

แมคแอร์ทั้ง 9 เครื่องที่วินิจซื้อมาได้แปลงสภาพจากคอมพิวเตอร์ธรรมดา มาเป็นเครื่องมือในการขายให้กับเขาอย่างไม่น่าเชื่อ

ถ้าต้องการเงินสนับสนุนจากลูกค้ารายละกว่า 20 ล้านบาท จะมีแค่แฟ้ม 1 แฟ้มแผ่น DVD แค่นี้หรือ แต่ที่ลูกค้าตัดสินใจเป็นสปอนเซอร์ปัจจัยหลักก็คงไม่ใช่จากแมคแอร์ แต่เป็นการนำเสนอสิ่งใหม่ในการจัดงานมากกว่า

สิ่งที่เกิดขึ้นเขาคงไม่ต้องการให้ใครซื้อแมคแอร์ไปแจกลูกค้า แต่กำลังสื่อความหมายว่า ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ทุ่มเททุกอย่างที่มี หากต้องเป็นหนี้ก็จงเป็นหนี้แบบทระนง

ต่อไป Macbook Air อาจจะขาดตลาดก็ได้ เพราะคงมีหลายคนนำโมเดลนี้ไปใช้