ILO สรุปผลกระทบจาก COVID-19 ต่อ “แรงงานภาคท่องเที่ยว” ในภูมิภาคเอเชีย นับได้ว่าเป็น “หายนะ” เฉพาะ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมองโกเลีย มีแรงงานภาคท่องเที่ยวลดลงรวมกันถึง 1.6 ล้านตำแหน่ง UN ระบุภาคท่องเที่ยวมีคนตกงานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นถึง 4 เท่า
องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า 5 ประเทศดังกล่าวคือ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมองโกเลีย มีแรงงานภาคท่องเที่ยวตกงานรวมกันถึง 1.6 ล้านตำแหน่ง
ขณะที่องค์การสหประชาติ (UN) ระบุว่า ใน 5 ประเทศนี้ แรงงานภาคท่องเที่ยวที่ตกงานจะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของแรงงานตกงานทุกภาคธุรกิจรวมกัน สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของประเทศเหล่านี้ และได้รับผลกระทบมากเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไม่ได้
รายงานของ UN ยังระบุด้วยว่า แรงงานที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวเผชิญการตกงานมากกว่าแรงงานธุรกิจอื่นถึง 4 เท่า และผู้หญิงมักจะมีโอกาสตกงานมากกว่าผู้ชาย
ชิโฮะโกะ อาซาดะ-มิยาวากะ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ILO กล่าวว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อภาคท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ “ไม่สามารถใช้คำใดที่น้อยกว่าคำว่าหายนะได้”
“แม้ประเทศในภูมิภาคนี้จะเร่งฉีดวัคซีนและออกแบบกลยุทธ์เพื่อทยอยเปิดพรมแดน แต่ชั่วโมงทำงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็น่าจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดต่อไปในปีหน้า” อาซาดา-มิยาวากะกล่าว
แรงงานท่องเที่ยวของไทยค่าจ้างลดลงเฉลี่ย 9.5%
ใน 5 ประเทศดังกล่าว บรูไนได้รับผลกระทบมากที่สุดในแง่จำนวนคนทำงานภาคท่องเที่ยวซึ่งลดลงถึง 40% แต่ถ้าวัดที่ชั่วโมงทำงาน ฟิลิปปินส์จะกระทบหนักที่สุด ชั่วโมงทำงานของแรงงานลดลงไป 38% ขณะที่เวียดนามกระทบด้านค่าจ้างแรงงานสูงสุด โดยลดลงเฉลี่ย 18%
ส่วนประเทศไทยนั้น ภาคท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพีประเทศก่อนเกิดโรคระบาด ช่วงที่ผ่านมาเมื่อธุรกิจซบเซา ทำให้ค่าจ้างลดลงเฉลี่ย 9.5%
เอเชียฟื้นตัวช้ากว่าฝั่งตะวันตก
เอเชียยังฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคฝั่งตะวันตกด้วย โดยข้อมูลจาก Capital Economics ระบุ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวขาเข้าของประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ยังลดลง 99% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่เม็กซิโกลดลงไปแค่ 20% และยุโรปใต้ลดลง 65%
World Economic Forum ระบุข้อมูลปี 2019 ว่า ปีนั้นมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเอเชียแปซิฟิก 291 ล้านคน ซึ่งสร้างเศรษฐกิจให้ภูมิภาคนี้ประมาณ 8.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ซาร่า เอลเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก ILO กล่าวว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในอนาคตอันใกล้ จะบังคับให้ประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวต้องกระจายความหลากหลายในเชิงเศรษฐกิจ
“การฟื้นตัวต้องใช้เวลาและจะมีผลกระทบกับแรงงาน รวมถึงบริษัทต่างๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวจะยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป” เอลเดอร์กล่าว “รัฐบาลแต่ละประเทศควรจะยังมีนโยบายช่วยเหลือต่อไป ระหว่างที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชากรรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย”