ขณะที่ตลาดสมาร์ทโฟนอยู่ในช่วงพัก ฐานมีเพียงกลุ่มที่ใช้ ”แอนดรอยด์” ยังใส่กันเต็มที่ ทั้งซัมซุง เอเซอร์ เอชทีซี สำหรับโนเกียหลังจากหยุดการนับถอยหลังของธุรกิจด้วยการผูกเป็นพันธมิตรกับไมโครซอฟท์ ใช้ระบบปฏิบัติการ ”วินโดวส์ โฟน 7” บนสมาร์ทโฟนแล้ว ก็ใช้ช่วงเวลานี้ขยับอีกรอบด้วยการเร่งค้นหานักพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรออนาคตใหม่ของโนเกีย
กลยุทธ์ของโนเกียคือการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อดึงนักศึกษามาร่วมพัฒนาแอพฯ ให้ Ovi Store ภายใต้โครงการ Tap That App เป็นการพยายามเข้าถึงคนรุ่นใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา จากเดิมที่โนเกียในอเมริกาและยุโรปมีโครงการสนับสนุนสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์มาโดยตลอด แต่หลังจากยอดขายในประเทศเหล่านั้นชะลอ ความหวังที่เหลืออยู่ของโนเกียคือประเทศกำลังเติบโต
เป็นครั้งแรกที่โนเกียประเทศไทยร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยจับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่รอสมาร์ทโฟนและแพลตฟอร์มให้เข้าไปสนับสนุนมานาน โดยเฉพาะไอโฟน iOS ที่เด็กมหาวิทยาลัยอยากพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นแอพสโตร์ แต่อุปกรณ์แพง และไอโฟนไม่มีแผนสนับสนุนมหาวิทยาลัย เมื่อโนเกียเสนอจึงถูกใจผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะโนเกียมาพร้อมอุปกรณ์ และบุคลากร และอนาคตของนักศึกษาที่มีโอกาสหารายได้มากขึ้น
ผลที่ได้สำหรับโนเกียคือ มั่นใจว่า Ovi Store จะมีแอพฯ ใหม่ๆ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 แอพฯ ต่อมหาวิทยาลัย 1 แห่ง และถูกใจกลุ่มเป้าหมายลูกค้าคนไทย ซึ่งมาจากเหตุผลที่ “แกรี่ ชาน” หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์นักพัฒนา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกเฉียงใต้ โนเกีย บอกว่ามาจากกลยุทธ์ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจากความร่วมมือของคนในท้องถิ่นที่เข้าใจวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ของคนในประเทศเดียวกัน เพราะการเข้าถึงผู้บริโภคยุคนี้ ต้องเข้าใจว่าสินค้าชนิดหนึ่ง หรือแอพฯ หนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะกับทุกคน นอกจากนี้ยังทำให้แบรนด์โนเกียเข้าถึงคนรุ่นใหม่อีกด้วย
อีกส่วนคือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญที่โนเกียเน้นทิศทางให้ Ovi Store มีผลิตภัณฑ์คือแอพฯ ที่หลากหลาย สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน และใช้แล้วอยากใช้อีก
แม้ส่วนใหญ่คนจะชอบแอพฯ ฟรี แต่ ”แกรี่” บอกว่าช่องทางรายได้มีมากกว่าการดาวน์โหลดซื้อแอพฯ คือนักพัฒนาสามารถหารายได้จากโฆษณา รวมไปถึงการพัฒนาแอพฯ ให้กับแบรนด์เป็น Brand App ได้อีกด้วย
ถามว่าโนเกียชัดหรือไม่ที่อยากได้ใจนักพัฒนารุ่นใหม่ คำตอบคือชัด เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่เคยทำมาก่อน และหากจะถามว่าจะสำเร็จตามเป้าหรือไม่นั้น คำตอบคือโนเกียยังมีโจทย์อีกมากที่ต้องทำ เพราะคู่แข่งในตลาดนี้เท่าที่เห็นยังไม่มีใครทำท่าอ่อนแรงลงแม้แต่น้อย
สถิติแอพฯ Ovi Store
3,000-4,000 บาท คือระดับสมาร์ทโฟนกลุ่มใหญ่ที่ดาวน์โหลดแอพฯ
8.5 แอพฯ คือจำนวนเฉลี่ยการดาวน์โหลดแอพฯ ของผู้ใช้โนเกียต่อคนต่อเดือน
20 ล้านครั้ง คือจำนวนดาวน์โหลดแอพฯ จาก Ovi Store ของโนเกียในไทย
60% คือรายได้ที่นักพัฒนาแอพฯ ได้รับจากแอพฯ ที่ต้องซื้อ
40% คือรายได้ที่โนเกียแบ่งกับผู้ให้บริการมือถือในระบบการจ่ายค่าดาวน์โหลดแอพฯ ผ่านค่าบริการรายเดือน
70-30% คือระบบแบ่งรายได้ระหว่างผู้พัฒนาแอพฯ (70) กับร้านค้าจำหน่ายแอพฯ (30) หากผู้ซื้อจ่ายผ่านบัตรเครดิต
สัดส่วนประเภทแอพฯ ที่มีการดาวน์โหลด | |
Utilities | 30% |
เกม | 30% |
Personalization | 30% |
Audio&Video | 10% |