หนึ่งในบิ๊กเนมวงการเทคอย่าง “Jack Dorsey” หลังลาออกจาก Twitter … เขาไปทำอะไรต่อ?

Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Twitter เพิ่งประกาศลาออกไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2021 บิ๊กเนมวงการเทคอย่างเขาย่อมมีโปรเจกต์ให้คุมต่อ โดย Dorsey จะมุ่งความสนใจไปที่ ‘Block’ อีกธุรกิจหนึ่งของเขาที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และคาดกันว่าบริษัทนี้จะเริ่มกรุยทางไปสู่ธุรกิจ “บล็อกเชน” และ “คริปโต”

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2021 “Jack Dorsey” ซีอีโอและผู้ก่อตั้งของ Twitter แจ้งการลาออกของเขาต่อสาธารณะ และเป็นการลาออกทั้งในตำแหน่งบริหารและลาออกจากบอร์ดคณะกรรมการบริษัทด้วย ส่วนผู้ที่จะขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งซีอีโอของเขาไม่ใช่ใครอื่นไกล “Parag Agrawal” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ) วัย 37 ปี จะได้เลื่อนขั้นขึ้นมากุมบังเหียน

Dorsey ก่อตั้ง Twitter ขึ้นเมื่อปี 2006 จากนั้นต้องออกจากบริษัทไประยะหนึ่งก่อนจะกลับมาในฐานะประธานกรรมการเมื่อปี 2011 และเป็นซีอีโอในปี 2015

ช่วงปี 2009 ที่ Dorsey ยังอยู่นอกบริษัท เขาก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาในชื่อ “Square” และนั่งตำแหน่งเป็นซีอีโอ เมื่อกลับมา Twitter ทำให้เขาควบตำแหน่งซีอีโอสองบริษัท และดูเหมือนเขาจะบริหารแบบ ‘ปล่อยๆ’ และ ‘อินดี้’ กับ Twitter ทำให้นักลงทุนของบริษัทบางส่วนไม่พอใจเท่าไหร่นัก

ไม่มีการแจ้งเหตุที่ชัดเจนของการลาออก แต่คาดกันว่าความไม่พอใจของนักลงทุนคือแรงขับสำคัญ เพราะ Twitter เป็นโซเชียลมีเดียที่สร้างผลประกอบการด้อยกว่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อื่นๆ รวมถึงตัว Dorsey เองก็น่าจะอยากไปลุยเรื่องแพสชันใหม่ของตนเองคือเรื่อง “บล็อกเชน” และ “คริปโต” มากกว่าแล้ว

 

จาก Square สู่ Block

ดังที่เกริ่นไปว่าแพสชันของ Dorsey ไปอยู่กับสิ่งอื่นแล้ว สิ่งนั้นคือบริษัทที่เขาก่อตั้งอีกแห่งหนึ่งนั่นคือ “Square” เพียงไม่กี่วันหลังเขาลาออกจาก Twitter บริษัท Square ก็แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Block” เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์การขยายน่านน้ำการทำธุรกิจออกไป เหมือนๆ กับที่ Facebook เปลี่ยนเป็น Meta หรือก่อนหน้านี้หลายปีที่ Google เปลี่ยนเป็น Alphabet

โลโก้บริษัท Block

Square มีธุรกิจหลักคือพัฒนาโซลูชันการเงินและการจัดการให้กับผู้ขาย ข้อมูลตามหน้าเว็บไซต์ของ Square ระบุว่าบริษัทบริการให้ได้ตั้งแต่ระบบการขาย ระบบชำระเงิน ช่วยการหาแหล่งเงินกู้ธุรกิจ ระบบการตลาด ระบบ CRM ทั้งหมดทำได้ทั้งหน้าร้านออฟไลน์และออนไลน์ และทำระบบให้เข้ากับหลายธุรกิจโดยเฉพาะ เช่น ร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ คลาวด์คิทเช่น ธุรกิจความงาม ฟิตเนส ซ่อมบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ Square มีโปรดักส์สำหรับคนทั่วไปคือ Cash App เป็นแอปฯ โมบายล์เพย์เมนต์และการลงทุน ให้บริการในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

บริษัท Square ยังเข้าไปลงทุนใน ‘Tidal’ แอปฯ สตรีมมิ่งเพลงชื่อดังด้วย โดยแอปฯ นี้มีจุดขายในตลาดคือให้คุณภาพเสียงสูงสุด ซึ่งมาในราคาพรีเมียม

ปัจจุบัน Square มีมาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2021 อยู่ที่กว่า 8.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ชื่อบริษัทจะเปลี่ยนเป็น Block ราววันที่ 10 ธันวาคมนี้ แต่สัญลักษณ์ในตลาดหุ้นจะยังเป็น SQ เหมือนเดิมไปก่อน)

 

Block = บล็อกเชน?

ในระยะหลังจะเห็นได้ว่า Dorsey เริ่มนำ Square เข้าไปศึกษาธุรกิจใหม่ โดยการตั้งแผนก Square Crypto ขึ้นมาเพื่อ “อุทิศให้กับการต่อยอดบิทคอยน์” ปัจจุบันแผนกนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Spiral และตัว Dorsey เองแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาเป็นหนึ่งในนักลงทุนตัวเอ้และผู้สนับสนุนคริปโต

Jack Dorsey Block
ลูกเล่นสนุกๆ ของทีมบริหาร Block จับภาพโปรไฟล์ใส่ ‘ลูกบาศก์’ ล้อไปกับโลโก้ของบริษัท

เมื่อชื่อบริษัทเปลี่ยนเป็น Block บริษัทออกแถลงการณ์ให้คำนิยามชื่อ Block ว่ามาจากอะไร ดังนี้

“Block เป็นการอ้างถึงบล็อกในแต่ละย่านที่เราสามารถพบเจอผู้ขายของเราได้ บล็อกเชน บล็อกจัดปาร์ตี้ที่มีเสียงดนตรีอยู่เต็ม อุปสรรคที่เราต้องเอาชนะ โค้ดดิ้งหนึ่งกลุ่ม อิฐบล็อกก่อสร้าง และแน่นอน หมายถึงลูกบาศก์ทังสเตนด้วย”

(–หมายเหตุจากผู้เขียน: ลูกบาศก์ทังสเตนเป็นเรื่องตลกวงในของกลุ่มนักเทรดคริปโต ในระยะหลังกลุ่มนักเทรดคริปโตนิยมซื้อลูกบาศก์ที่ผลิตจากทังสเตนมาสะสมจนของขาดตลาด ทังสเตนนั้นเป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่มีมวลหนักที่สุด ลูกบาศก์ทังสเตนขนาด 4×4 นิ้วซึ่งสามารถวางไว้บนมือได้พอดีจะหนักถึง 18.6 กิโลกรัม เมื่อคนเราหยิบวัตถุแบบนี้ขึ้นมาจึงรู้สึกว่ามันขัดหลักฟิสิกส์เพราะมันหนักกว่าที่คาดคิด ซึ่งทำให้ลูกบาศก์ทังสเตนกลายเป็นของ ‘เก๋ๆ’ ของเล่นใหม่ของเศรษฐีคริปโต)

ส่วนคำแถลงโดยตรงจาก Jack Dorsey กล่าวว่า “Block เป็นชื่อใหม่ก็จริง แต่วัตถุประสงค์ของเราที่ต้องการจะเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจยังคงเหมือนเดิม ไม่ว่าเราจะเติบโตหรือเปลี่ยนไปอย่างไร เราจะยังคงสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยให้คนเข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้ต่อไป”

ตอนนี้ Block ยังบอกเราแค่กว้างๆ ว่าจะทำอะไร แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าธุรกิจใหม่จะต้องเกี่ยวกับบล็อกเชนและคริปโตอย่างแน่นอน!

ที่มา: BBC, Wired, Forbes, Yahoo Finance